"คาร์บอนเครดิต" เป็นการยอมรับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือถูกกักเก็บผ่านโครงการต่าง ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ คาร์บอนเครดิตนี้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเพื่อใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
ตลาดคาร์บอนประกอบไปด้วย 2 แบบหลัก ๆ คือ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ และ ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ ภายใต้บริบทของประเทศไทยเป็นแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ กล่าวคือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program; T-VER) ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจภายในประเทศไทย ซึ่งในบริบทของประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ในส่วนของภาคการเกษตรและป่าจึงมีส่วนเกี่ยวข้องค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าอย่างยั่งยืน สวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว และการทำการเกษตร ซึ่งสามารถนำคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินกิจกรรมมาขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนภาศสมัครใจภายในประเทศได้
สำหรับคาร์บอนเครดิตภาคเกษตรและป่าไม้ คือ ปริมาณการลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร ซึ่งมีระเบียบวิธี 7 ระเบียบวิธี ได้แก่ 1. การปลูกป่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Forestation) 2. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ (Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation and Enhancing Carbon Sequestration in Forest Area Project Level:P-REDD+) 3. การปลูกป่าอย่างยั่งยืน โครงการขนาดใหญ่ (Large Scale Sustainable Forestation Project) 4. สวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว (Economic Fast Growing Tree Plantation) 5. การใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีในพื้นที่การเกษตร (Good Fertilization Practice in Agricultural Land) 6. การกักเก็บคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น (Carbon Sequestration and Reducing Emission for Perennial Crop Plantation) และ 7. กิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่พรุ (Conservation and Restoration of Peatland) ตามระเบียบวิธีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่จากการทำการเกษตรอย่างเช่นการปลูกไร่ข้าวโพด สามารถเพิ่มมูลค่าได้เพียงแค่ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกสู่การสร้างรายได้เพิ่มผ่านคาร์บอนเครดิต