บทความ: “เฮมพ์”…พืชฟื้นฟูดินปนเปื้อนสารพิษสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน…ยุค Thailand 4.0

“เฮมพ์” ไม่ใช่ “กัญชา”
อย่างไรก็ตาม คุณประโยชน์ของเฮมพ์ไม่ได้มีเพียงเส้นใยคุณภาพสูงเท่านั้น แต่เฮมพ์ยังเป็นพืชที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดดินปนเปื้อนโลหะหนักได้ดีอีกด้วย (Linger et al., 2002; Hadi et al., 2014) และเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของเฮมพ์ ในด้านอื่น ๆ รวมถึงเพื่อเป็นการลดความกังวลในการนำเฮมพ์ไปใช้ประโยชน์ด้านสิ่งเสพติดแล้ว มุมมองอีกด้านหนึ่ง คือ แนวทางเลือกในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จาก “เฮมพ์” เพื่อใช้บำบัดและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ และนำเฮมพ์นั้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ หรือผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สามารถสร้างเสริมรายได้ให้กับชุมชน ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ปนเปื้อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืนต่อชุมชน อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของสังคมในอนาคต


ที่มา: http://cargocollective.com/futurehealth/Hempcrete

ดิน ถือเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สร้างประโยชน์มากมายให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกไม่ต่างจากน้ำและอากาศ เนื่องจากดินถูกจัดให้เป็นแหล่งของปัจจัย 4 นั่นหมายความว่า ดิน คือ ต้นกำเนิดของสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ปัจจุบันทรัพยากรดินได้ถูกทำลายและเสื่อมโทรมเป็นจำนวนมาก ทำให้ดินเกิดปัญหาการปนเปื้อนโลหะหนักหรือสารเคมีอันตราย เช่น แคดเมียม สารหนู ตะกั่ว และกลุ่มสารเคมีจำพวกสารอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบอย่าง 
โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (Polychlorinated biphenyls: PCBs) เป็นต้น ซึ่งสารพิษดังกล่าวมักส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ เนื่องจากสารพิษนั้นไม่ได้ปนเปื้อนและมีการสะสมเฉพาะในดินเท่านั้น หากแต่สารพิษนั้นยังไหลลงสู่ระบบของน้ำใต้ดิน และที่สำคัญสารพิษนั้นถูกดูดดึงด้วยพืชที่เจริญเติบโตบนดินโดยเฉพาะพืชอาหาร และเมื่อมนุษย์หรือสัตว์ที่ได้กินพืชอาหารที่มีการสะสมสารพิษเข้าไปในร่างกาย สารพิษเหล่านี้จะเข้าไปสะสมในร่างกายตามอวัยวะต่าง ๆ จนก่อให้เกิดโรคฉับพลันและโรคเรื้อรังขึ้นได้ จนร่างกายไม่สามารถรองรับสารพิษนั้นได้และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด (Gavrilescu, 2004)

พืชที่จะนำมาใช้ในการบำบัดดินปนเปื้อนนั้น จะต้องเป็นพืชที่มีความสามารถในการดูดดึงสารพิษ เจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง ดูแลรักษาง่าย วงจรชีวิตสั้น สามารถปลูกและกระจายได้ทั่วพื้นที่ของประเทศ มีอัตราการขยายพันธุ์ และมีมวลชีวภาพสูง และที่สำคัญ คือ ต้องไม่เป็นพืชอาหาร เพื่อป้องกันสารพิษนั้นไม่ให้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของผู้บริโภค (พันธวัศ สัมพันธ์พานิช, 2558) นอกจากนี้ควรเป็นพืชที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจต่อชุมชน ซึ่งเทคโนโลยีการบำบัดด้วยพืชนั้นมีหลายประเภท โดยสามารถแบ่งได้ตามกลไกของพืชที่ใช้ในการกำจัดสารพิษต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม (ดังรูปที่ 2) ดังนั้น “เฮมพ์” จึงเป็นพืชที่น่าสนใจในการนำมาบำบัดและฟื้นฟูดินปนเปื้อนสารพิษเป็นอย่างมาก เพราะเฮมพ์เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ง่ายในทุกสภาพแวดล้อม ให้ผลผลิตเป็นเส้นใยคุณภาพสูงที่มีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นพืซที่มีความสามารถในการดูดดึงสารพิษและมีความคงทนต่อสารพิษสูง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการส่งเสริมให้มีการปลูกเฮมพ์ในทุก ๆ พื้นที่ แต่จำเป็นต้องทำการยื่นคำร้องขออนุญาตปลูกเฮมพ์ก่อนการอนุญาต (มนทิรา สุขเจริญ และ พันธวัศ สัมพันธ์พานิช, 2562) ประกอบกับปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เตรียมการส่งเสริม และยกระดับให้เฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจ ด้วยการนำเส้นใยมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋า เป็นต้น (ดังรูปที่ 3)


ที่มา: Favas et al. (2014)


ที่มา: ผลิตภัณฑ์ชุมชน อำเภอพบพระ จังหวัดตาก (2562)

จากผลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา พอแสดงให้เห็นได้ว่า “เฮมพ์เป็นพืชที่มีความสามารถในการสะสมโลหะหนักได้ในปริมาณสูง” หากแต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากที่มีผลต่อการสะสมโลหะหนักในเฮมพ์ เช่น รูปฟอร์มของโลหะหนัก ค่าความเป็นกรด-ด่างในดิน รวมถึงการเติมสารเคมีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดดึงโลหะหนักของเฮมพ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น Hadi et al., 2014 ได้ทำการทดลองเติมสารอีดีทีเอ (EDTA) ร่วมกับการปลูกเฮมพ์บนดินที่ปนเปื้อนแคดเมียม พบว่า เฮมพ์ที่ปลูกบนดินที่ปนเปื้อน และมีการเติมสาร อีดีทีเอนั้น มีระดับการสะสมแคดเมียมสูงกว่า เฮมพ์ที่ปลูกบนดินที่ปนเปื้อนเพียงอย่างเดียว แสดงให้เห็นแล้วว่า การปลูกเฮมพ์บนดินที่ปนเปื้อนเพียงอย่างเดียว เฮมพ์ก็สามารถช่วยบำบัดและฟื้นฟูดินปนเปื้อนได้ หากแต่ถ้ามีการเติมสารอีดีทีเอ ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ช่วยและส่งเสริมให้โลหะหนักออกจากดิน และให้อยู่ในรูปที่ง่ายต่อการดูดดึงของพืชหรือเฮมพ์ ก็จะช่วยเพิ่มการดูดดึงและสะสมโลหะหนักเข้าสู่เฮมพ์ให้ดียิ่งขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เฮมพ์จึงเป็นพืชที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกในพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางเศรษฐกิจ และสังคมได้ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูดินได้เช่นกัน

เมื่อมีการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกเฮมพ์ เพื่อใช้ในการบำบัดดินปนเปื้อนสารพิษควบคู่ไปกับการนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ผู้บริโภคย่อมเกิดความกังวลใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปมาจากเฮมพ์ที่เพาะปลูกในดินปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็น “เส้นใยเฮมพ์มีการปนเปื้อนโลหะหนักหรือไม่” “ผู้ผลิตจะได้รับอันตรายจากโลหะหนักระหว่างกระบวนการผลิตหรือไม่” และ/หรือ “โลหะหนักที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นั้นจะก่อให้เกิดโรคต่อผู้บริโภคหรือไม่” หากแต่ความกังวลดังกล่าวนี้ สามารถที่จะลดหรือทำให้หมดความกังวลได้นั้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลและวิทยาการทางวิทยาศาสตร์เทคโลยีเข้าพิสูจน์ เพื่อให้ทราบถึงความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถทำการวิเคราะห์ได้ตั้งแต่ผลผลิตหรือวัตถุดิบต้นทาง การแปรรูปในกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ได้เพื่อการใช้ประโยชน์

ตารางที่ 1 ตัวอย่างค่าจำกัดปริมาณสารตกค้างในวัสดุเส้นใย

ผลิตภัณฑ์สีเขียว หรือ Green Product (GP) ไม่ได้มีความหมายว่า ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นสีเขียว แต่มีความหมายไปในทาง “รักษ์โลก” เช่น พลาสติกเขียว คือ พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติในเวลาอันสั้น และมีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น คำว่า ผลิตภัณฑ์สีเขียว จึงหมายถึง การอนุรักษ์ทรัพยากรและการลดการปล่อยมลพิษของสินค้าออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญต่อการผลิตสินค้าอย่างยั่งยืน คือ สถานประกอบการในกลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs

ด้วยศักยภาพในการบำบัดดินปนเปื้อนของเฮมพ์และคุณสมบัติทางพฤกษศาสตร์เฉพาะตัว จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นได้ว่า “เฮมพ์” เป็นพืชที่มีความเหมาะต่อการเพาะปลูกเพื่อฟื้นฟูดินปนเปื้อนสารพิษ แล้วสามารถนำผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะเส้นใยของเฮมพ์ที่มีความยืดหยุ่น แข็งแรง และทนทาน และยังมีคุณสมบัติในการดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย และอบอุ่นกว่าลิกนิน (พิชิตพล แก้วงาม, 2562) จากเส้นใยธรรมชาติสู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงเปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมร่วมกับการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน (ดังรูปที่ 4)


ที่มา: อำเภอพบพระ จังหวัดตาก (2562)

Thailand 4.0 เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยมีแนวคิดจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ (New S-Curve) มาพัฒนาสินค้าเดิมให้ดียิ่งขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการผลิตของผู้ประกอบการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มาจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เฮมพ์ แม้ว่าจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชเสพติดประเภทที่ 5 หากแต่เป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ทั้งทางสิ่งแวดล้อม และทางเศรษฐกิจ “เฮมพ์” มีประสิทธิภาพในการบำบัดและฟื้นฟูดินปนเปื้อนสารพิษ อีกทั้งยังสามารถนำเส้นใยมาใช้เสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากแกนและใบของเฮมพ์ด้วย ซึ่งการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์มีความสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยส่งเสริมให้เกิดการผลิตในชุมชนที่ได้มาตรฐาน ลดมลพิษ และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม