บทความ: แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลตำบลเวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย - พลิกวิกฤต เป็นโอกาส
จากการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งประเทศประมาณ 28.71 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2562 (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3) ซึ่งสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยหลายแห่งดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องประมาณ 6.38 ล้านตัน (ร้อยละ 22 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น) จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานที่กำจัดมูลฝอยอยู่ในพื้นที่ทำการตรวจสอบระบบ การบำรุงรักษา การส่งเสริมและสร้างมาตรการในการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องส่งกำจัด เพื่อยืดอายุการใช้งานของระบบกำจัดขยะมูลฝอย ในส่วนของภาคเหนือมีปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยอยู่ที่ 10,229 ตัน/วัน (กรมควบคุมมลพิษ, 2562)
เทศบาลตำบลเวียงเทิง เดิมมีฐานะเป็นสุขาภิบาล จากนั้นได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 และเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบันเทศบาลตำบลเวียงเทิง มีเนื้อที่ 12 ตารางกิโลเมตร และมีเขตการปกครองประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน ในตำบลเวียง อำเภอเทิง ได้แก่ หมู่ 1 บ้านเวียงเทิง หมู่ที่ 2 บ้านตั้งข้าว หมู่ที่ 14 บ้านพระเกิด หมู่ที่ 15 บ้านเวียงใต้ และหมู่ที่ 20 บ้านเวียงจอมจ้อ โดยมีประชากรประมาณ 5,000 คน เดิมทีเทศบาลตำบลเวียงเทิงประสบปัญหาการจัดการขยะชุมชนเฉกเช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลาย ๆ แห่ง แต่ด้วยการพลิกวิกฤตจากสถานการณ์ขยะล้นเมืองมาเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการขยะ ผู้บริหาร อปท. มีความสนใจในการแก้ไขปัญหาขยะที่ต้นทางและมีความพยายามในการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะ จนมาถึงปัจจุบัน เทศบาลฯ ได้รับรางวัล “เทศบาลตำบลเวียงเทิง เป็นต้นแบบด้านการจัดการขยะชุมชนที่ยั่งยืน” ภายใต้โครงการเชียงรายเมืองสะอาด ในปี พ.ศ. 2561 บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะของเทศบาลตำบลเวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม หรือจัดการขยะชุมชน ได้เรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดีและนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนได้
เดิมทีระบบการจัดการขยะของเทศบาลตำบลเวียงเทิง ไม่ได้มีความแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่ให้บริการเก็บขนขยะโดยไม่มีการส่งเสริมการคัดแยกขยะ ซึ่งเทศบาลฯ ได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะโดยใช้เกวียนในการเก็บขนขยะ ขยะที่ดำเนินการเก็บขนไม่มีการคัดแยก และนำไปทิ้งบ่อขยะของหมู่ที่ 12 ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2554 ทำให้ประชาชนพื้นที่ใกล้เคียงบ่อขยะในหมู่ที่ 12 ประสบปัญหาจากกลิ่นเหม็นและมีสัตว์นำโรคต่าง ๆ นำไปสู่การร้องเรียนของประชาชนเรื่องสถานที่กำจัดขยะในพื้นที่ จึงเป็นที่มาให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ได้ลงมติที่ประชุมสภาสมัยสามัญ ให้ปิดบ่อขยะ และเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 เทศบาลตำบลเวียงเทิง ประสบปัญหาขยะล้นเมือง ไม่มีสถานที่สำหรับกำจัดขยะที่เกิดขึ้นวันละ 6.3 ตัน ทางคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ประชาชน จึงร่วมกันวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดขึ้น (เทศบาลตำบลเวียงเทิง, 2563)
ธงเขียว หมายถึง ครัวเรือนที่สามารถบริหารจัดการขยะบางประเภทได้เองในครัวเรือน เช่น ขยะเปียก เศษอาหารต่าง ๆ ธงแดง หมายถึง ครัวเรือนที่ไม่สามารถจัดการขยะเองได้ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ขาดความพร้อมหรือมีพื้นที่ไม่อำนวยในการจัดการขยะ โดยธงเขียว ครัวเรือนจ่ายค่าเก็บขนขยะต่อเดือน ระหว่าง 3-7 บาท ซึ่งแปรผันเล็กน้อยตามปริมาณขยะ สำหรับธงแดงมีอัตราค่าจัดเก็บอยู่ระหว่าง 20-500 บาท ส่วนค่ากำจัดอยู่ในอัตราคงที่ที่ 100 บาท ซึ่งธงแดงส่วนใหญ่เป็นร้านค้า สถานที่ราชการ และมีครัวเรือนบางส่วน
ที่มา: เทศบาลตำบลเวียงเทิง
กระบวนการที่นำพาเทศบาลตำบลเวียงเทิง ไปสู่การยอมรับว่าเป็นท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการขยะชุมชนที่โดดเด่นคือ การยินดีรับแนวคิดการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมาทดลองใช้ โดยผ่านกระบวนการของการประชาคมชุมชน หาแนวร่วมเลือกวิธีและปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทดลองดำเนินการและปรับปรุงให้ตรงกับความพึงพอใจของประชาชนมากที่สุด รวมถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ส่งเสริมให้เทศบาลตำบลเวียงเทิงบริหารจัดการขยะได้ดี ประกอบด้วย
ที่มา: พัทธยาพร อุ่นโรจน์
2. เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ปลัดเทศบาล ทำงานสอดรับสนับสนุน นโยบายผู้บริหาร ปัจจัยแห่งความสำเร็จข้อนี้ สืบเนื่องมาจากความชัดเจนในนโยบายของผู้บริหาร ที่มุ่งพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยชูประเด็นการจัดการขยะชุมชน ให้มีความโดดเด่น ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงาน นับตั้งแต่ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ ได้ตอบรับนโยบาย และดำเนินงานที่สนับสนุนให้การจัดการขยะชุมชนของเทศบาลตำบลเวียงเทิงไปสู่การเป็นแนวปฏิบัติที่ดี
3. จับมือเครือข่ายในพื้นที่ทำงานร่วมกัน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน: การจัดการขยะในพื้นที่อย่างยั่งยืน มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงด้านการจัดการขยะ ระหว่างเทศบาลตำบลเวียงเทิงกับชุมชน โรงเรียนวัดพระเกิดคงคาราม ตลาดสดเทิง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการจัดกิจกรรมให้ความรู้การคัดแยกขยะ การรณรงค์ลดการเกิดขยะตามหลัก 3Rs การจัดการขยะเปียก กิจกรรมเคาะประตูบ้านเพิ่มความรู้ สร้างความเข้าใจในการคัดแยกขยะ กิจกรรมเพิ่มความรู้และสร้างความเข้าใจการคัดแยกขยะจากต้นทาง นอกจากนี้ เทศบาลฯ ได้จัดทำโครงการตลาดสดสีเขียว โดยมีการลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม และเทศบาลฯ ได้จัดทำสื่อวีดีทัศน์มอบให้กับสถานศึกษา เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน ทั้งนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน ผ่านสถานีวิทยุ JS RADIO (FM) ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 09.00-10.00 น.
5. สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ แหล่งเรียนรู้หมู่บ้านจัดการตนเอง : บ้านเวียงจอมจ้อ หมู่ที่ 20 มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างคัดแยกขยะที่ต้นทางร้อยเปอร์เซ็นต์ (เต็มพื้นที่) ของเทศบาลตำบลเวียงเทิง และเป็นหมู่บ้านปลอดขยะ แหล่งเรียนรู้โรงเรียนพอเพียง : โรงเรียนเทศบาลตำบลเวียงเทิง ได้จัดกิจกรรมธนาคารขยะและกิจกรรมออมทรัพย์ในโรงเรียนขึ้นปี พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการจัดการขยะจากโรงเรียนสู่บ้านของตนเอง โดยนักเรียนสามารถนำรายได้ที่ขายขยะได้มาฝากกับออมทรัพย์ในโรงเรียนที่นักเรียนเป็นสมาชิกอยู่ แหล่งเรียนรู้ตลาดสด 3 ข. ชุมชนมีความต้องการที่จะอนุรักษ์ตลาดดั้งเดิมไว้ จึงขอให้เทศบาลฯ พัฒนาตลาดเดิมให้เป็นตลาดสด 3 ข. ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่ง ข. ที่ 1 คือ เขียวสิ่งแวดล้อม ข. ที่ 2 คือ แข็งเศรษฐกิจ และ ข. ที่ 3 คือ เข้มสุขภาพ โดยดำเนินการภายใต้ข้อตกลงร่วมกันเรียกว่า “ธรรมนูญแม่ค้า” ซึ่งตลาดสด 3 ข. มีการรณรงค์ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก 2,500 ถุง และกล่องโฟม 200 กล่อง ต่อเดือน ส่งเสริมให้ประชาชนใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติ และมีการคัดแยกขยะภายในตลาดอย่างจริงจัง แหล่งเรียนรู้การจัดการขยะครบวงจร : เทศบาลฯ ดำเนินการกำจัดขยะเอง โดยใช้หลัก 3Rs ประกอบกับใช้เตาเผาและทำปุ๋ยหมักชีวภาพ จัดทำเทศบัญญัติค่าธรรมเนียมขยะ ตามอัตราการทิ้งขยะของประชาชนในพื้นที่ ทำการรณรงค์ใช้ถุงผ้าเพื่อลดปริมาณถุงพลาสติกและโฟมในตลาดสดบ้านตั้งข้าว จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ตลาดสดสีเขียว (ประเภทที่ 2) และถูกคัดเลือกให้เป็น อปท. ต้นแบบด้านการจัดการขยะที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการเชียงรายเมืองสะอาด จนมาถึงปัจจุบันได้รับการคัดเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้ของจังหวัดเชียงรายในการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
6. หน่วยงานสนับสนุน เครือข่ายสถาบันการศึกษา เอกชน การบริหารจัดการขยะชุมชนของเทศบาลตำบลเวียงเทิง ขับเคลื่อนไปได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ด้วยการมีเครือข่ายสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วน เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เข้าไปทำการวิจัยในพื้นที่ และเป็นพี่เลี้ยงในการนำเทศบาลฯ เข้าร่วมเวทีระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการขยะ ทั้งนี้เทศบาลฯ ได้ร่วมจัดกิจกรรม World Cleanup Day กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและ UNEP ถึง 2 ครั้ง การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาการจัดการขยะโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดการขยะชุมชนที่ดี เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก (Institute for Global Environmental Strategies- IGES) แห่งประเทศญี่ปุ่น และภาคเอกชน บริษัท SCG ให้การสนับสนุนในการรับซื้อขยะอัดก้อน เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง RDF
7. การจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ ครบถ้วน ทำงานโดยอิงอยู่บนฐานของข้อมูลและคืนข้อมูลสู่ชุมชน เทศบาลฯ มีการจัดเก็บข้อมูลการจัดการขยะที่ครบถ้วน โดยใช้ข้อมูลมาสร้างการมีส่วนร่วมการจัดการขยะโดยหมู่บ้าน ซึ่งให้หมู่บ้านสร้างกลไกควบคุมความถูกต้องของการคัดแยกขยะ และการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ เนื่องจากเทศบาลฯ จัดเก็บค่าธรรมเนียมตามประเภทธงสี และเก็บในภาพรวมของหมู่บ้าน หากมีปริมาณขยะน้อย หมู่บ้านจะมีเงินส่วนต่างที่เก็บจากครัวเรือน และที่ต้องจ่ายจริง ไปจัดสรรเป็นสวัสดิการของหมู่บ้าน ซึ่งแนวปฏิบัตินี้เป็นข้อตกลงร่วมกันของแต่ละหมู่บ้าน ที่กำหนดขึ้นไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ เทศบาลฯ ได้จัดทำคู่มือประชาชนกับการจัดการขยะในชุมชนฉบับเทศบาลตำบลเวียงเทิง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจาก IGES แจกจ่ายครัวเรือนเป็นสื่อเรียนรู้การจัดการขยะชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้กับประชาชน นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง
8. นโยบายท้องถิ่นที่ชัดเจน พัฒนาต่อเนื่อง แนวทางการจัดการขยะของเทศบาลฯ มีจุดเด่นที่การใช้มาตรการเชิงกฎระเบียบมาใช้กำกับพฤติกรรมของผู้รับบริการ การพัฒนากฏและแนวทางปฏิบัติในการคัดแยกขยะให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน ตลอดจนการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ในการเก็บสถิติเพื่อปรับอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดปริมาณขยะที่เทศบาลต้องจัดการจากเดิมวันละ 6 ตันเหลือเพียงวันละ 3.3 ตัน (ปเนต มโนมัยวิบูลย์ และพัทธยาพร อุ่นโรจน์, 2558) จนมาปี พ.ศ. 2563 ปริมาณขยะที่ต้องกำจัดลดเหลือ 0.25 ตัน/วัน ประกอบกับเทศบาลฯ ได้เปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ ในการจัดการขยะ พัฒนามาจนถึงปัจจุบันคือการส่งเสริมชาวบ้านเก็บรวบรวมขยะสะอาดเพื่อขายให้กับเทศบาล เพื่อส่งขายให้กับบริษัท SCG เพื่อทำขยะเชื้อเพลิง RDF (การดำเนินการนี้อยู่ในกลุ่มธงน้ำเงิน) การดำเนินการนี้ส่งผลให้เทศบาลฯ เป็นต้นแบบของอำเภอเทิง ในฐานะ อปท. ที่มีการจัดการขยะได้ดี โดยเฉพาะการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาส่งเสริมการจัดการขยะต้นทาง และหาทางออกจัดการขยะกลางทางด้วย RDF
การจัดการขยะชุมชนเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องเข้ามามีบทบาท เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดการขยะชุมชนที่ดี เช่นเดียวกับ เทศบาลตำบลเวียงเทิง ซึ่งนับเป็นความโชคดี ที่เป็นท้องที่ที่มีตัวแปรแห่งความสำเร็จค่อนข้างครบถ้วน นับตั้งแต่มีผู้บริหารเทศบาลที่มีนโยบายสนับสนุนการจัดการขยะในชุมชน ฝ่ายปฏิบัติรับนโยบายไปปฏิบัติอย่างเต็มกำลัง ชุมชนตอบรับแนวทางปฏิบัติ มีการประชุมประชาคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับทราบแนวปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงมีการประเมินผลระหว่างปฏิบัติ เพื่อปรับปรุง และพัฒนาแนวทางจัดการขยะให้ดียิ่งขึ้นต่อไป อีกทั้งยังเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานและการสนับสนุนจากเอกชนอีกด้วย นอกจากนี้ มีการนำมาตรการต่าง ๆ ทั้งในด้านของกฎหมาย และทางด้านเศรษฐศาสตร์มาส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การลดปริมาณขยะต้นทาง รวมถึงการคัดแยกขยะต้นทาง โดยการใช้หลักปริมาณขยะน้อยก็จ่ายค่าขยะน้อย (Pay-as-you-throw) รวมตลอดถึงการแยกขยะที่สามารถแปลงเป็นเชื้อเพลิง RDF ส่งผลให้การบริหารจัดการขยะของเทศบาลฯ ดียิ่งขึ้นไป โดยปริมาณขยะที่นำมากำจัดลดลงจากเดิม 6 ตัน/วัน ปัจจุบัน ลดเหลือ 0.25 ตัน/วัน คิดเป็นสัดส่วนปริมาณขยะที่ลดลงร้อยละ 99.58 ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับการเผาขยะลดลงจาก เดือนละ 1,120 ลิตร ในเดือน ตุลาคม 2562 ปัจจุบัน เดือนกันยายน 2563 ลดลงเหลือ 240 ลิตร ประกอบกับการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับแนวทางการลดและคัดแยกขยะให้กับเด็กนักเรียน เยาวชน ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง นับเป็นแนวทางที่ดีและยั่งยืน เพื่อขยายผลในครัวเรือน ชุมชน และเป็นการสร้างพลเมืองที่ดี มีคุณภาพต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อปฏิรูประบบบริหารจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)