บทความ: อนาคตของตลาดสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย – ทำอย่างไรถึงจะได้ไปต่อ

ปัญหาขยะเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากขยะสร้างผลกระทบเชิงลบในหลายแง่มุม เช่น ขยะล้นเกินพื้นที่ฝังกลบ ขยะอุดตันทางเดินน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ผลกระทบของขยะต่อสัตว์ทะเล รวมทั้งการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเล

ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาขยะในหลายรูปแบบ เช่น การส่งเสริมกระบวนการ 3Rs ที่ประกอบไปด้วยการลดการใช้ (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) และการแปรรูปใหม่ (recycle) หนึ่งในนวัตกรรมทางธุรกิจที่สอดคล้องกับกระบวนการดังกล่าวคือการเกิดขึ้นของร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ (non-packaging store หรือ bulk store) กล่าวคือ เป็นร้านค้าที่ลูกค้าต้องเตรียมบรรจุภัณฑ์มาเองเพื่อซื้อสินค้าภายในร้าน เป็นการลดการสร้างและการใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาขยะตามแนวคิดขยะเหลือศูนย์ อีกทั้งลูกค้ายังสามารถซื้อสินค้าได้ในปริมาณที่ต้องการได้ ซึ่งเป็นการลดของเสียจากการไม่ใช้งานด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังสร้างความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมและจูงใจให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้


ที่มา: ผู้เขียน

Saladino และ Muller (2018) กล่าวว่าปัจจุบันมีร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ทั่วโลกมากกว่า 500 แห่ง ในส่วนของประเทศไทย ผู้ใช้งาน Facebook ชื่อ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป (2562) ได้รวบรวมร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยไว้กว่า 41 ร้านแล้วในปัจจุบัน


ที่มา: Unpackaged (2021)


ที่มา: Refill station (2021)

การวิจัยนี้ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคทั้งหมด 242 รายผ่านแบบสอบถามทางอินเตอร์เน็ต และสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการ 8 ราย (แบ่งเป็นผู้ผลิตสินค้า 3 รายและเจ้าของร้านค้า 5 ราย) และนักวิชาการ 2 ราย (ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ 1 ราย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม 1 ราย) โดยเป็นการสำรวจในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 โดยเนื้อหาบทความต่อจากนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ผลการศึกษาผู้บริโภค ผลการศึกษาผู้ประกอบการ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์ และสรุปและข้อเสนอแนะ ตามลำดับ

ผู้วิจัยได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบสอบถามออนไลน์แบบสุ่ม ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 9 มีนาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 16 วัน รวบรวมข้อมูลได้จำนวน 242 ตัวอย่าง ข้อมูลเชิงประชากรศาสตร์โดยส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 74.0) อายุต่ำกว่า 30 ปี (ร้อยละ 54.1) มีระดับการศึกษาที่ปริญญาตรีขึ้นไป (ร้อยละ 87.6) โดยเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำ (ร้อยละ 45.9) และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา (ร้อยละ 36.8)

ผู้บริโภคที่ไม่เคยได้ยินร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์มาก่อนมองว่า ร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ช่วยลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ (ร้อยละ 86.1) ซึ่งเป็นคุณค่าหลัก (core value) ที่ร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ต้องการสื่อสารไปยังผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังคิดว่าร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ทำให้สามารถซื้อสินค้าในปริมาณที่ต้องการได้ (ร้อยละ 58.3) น่าจะจำหน่ายสินค้าที่ราคาถูกกว่า (ร้อยละ 54.2) และนำเสนอสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเทียบกับร้านค้าทั่วไป (ร้อยละ 47.2)1


เมื่อสอบถามถึงโอกาสในการใช้บริการในอนาคตพบว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถึงกว่าร้อยละ 90.3 มีแนวโน้มจะใช้บริการ โดยร้อยละ 26.4 ที่ตอบว่าจะลองใช้บริการแน่นอน โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์มีรูปแบบที่น่าสนใจและเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค ที่ต้องการลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าการใช้บริการที่ร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงได้อันเนื่องมาจากความสามารถในการกำหนดปริมาณที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามบางท่านได้กล่าวถึงความกังวลเรื่องความสะอาดและคุณภาพของสินค้าด้วยเช่นกัน ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนยังลังเลที่จะใช้บริการ เนื่องจากปัญหาเรื่องสถานที่ตั้งของร้านค้าและความไม่สะดวกในการเตรียมบรรจุภัณฑ์ก่อนมาใช้บริการ

ในส่วนของกลุ่มผู้ที่เคยใช้บริการ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ลองใช้บริการ โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้ร้อยละ 50.0 เคยใช้บริการเพียง 1 - 2 ครั้ง มีเพียงร้อยละ 18.7 ที่เคยใช้บริการมากกว่า 10 ครั้ง ในการใช้บริการร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์นั้น ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกที่จะนำบรรจุภัณฑ์เก่าจากสินค้าอื่นมาเติมสินค้า (ร้อยละ 36.0) หรือใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำที่ทางร้านบริการให้ฟรีแก่ลูกค้า (ร้อยละ 36.0) ซึ่งเป็นการช่วยลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่แท้จริง ลูกค้ากลุ่มนี้มีความเห็นว่า ร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์สามารถช่วยลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้ (ร้อยละ 84.4) อีกทั้งยังนำเสนอสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 75.0) และทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าในปริมาณที่ต้องการได้ (ร้อยละ 53.1) กลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการให้ความเห็นเช่นเดียวกับกลุ่มที่ยังไม่เคยใช้บริการว่าสถานที่ตั้งของร้านค้าเป็นข้อจำกัดสำคัญ (ร้อยละ 56.3) และปัญหาเรื่องการไม่ได้นำบรรจุภัณฑ์ส่วนตัวมาด้วย (ร้อยละ 53.1) ในขณะที่เหตุผลรองลงมาคือ ประเด็นเรื่องความไม่หลากหลายของสินค้า (ร้อยละ 37.5) และความสะอาดและปลอดภัยของสินค้า (ร้อยละ 31.3)

ตารางที่ 1 ความเต็มใจจ่ายสูงสุดสำหรับสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์

ความเต็มใจจ่ายสูงสุดสำหรับสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย
หน่วย: คน (ร้อยละ)
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน
หน่วย: คน (ร้อยละ)
ยินดีจ่ายต่อหน่วยเท่าเดิม 45 (18.6) 40 (16.5)
ยินดีจ่ายต่อหน่วยถูกลงต่ำกว่า 5% 56 (23.2) 54 (22.3)
ยินดีจ่ายต่อหน่วยถูกลง 5-10% 74 (30.6) 65 (26.9)
ยินดีจ่ายต่อหน่วยถูกลง 10-15% 17 (7.0) 23 (9.5)
ยินดีจ่ายต่อหน่วยถูกลง 15-20% 41 (16.9) 51 (21.1)
ไม่ยินดีจ่ายเลย เพราะไม่ต้องการใช้บริการ 9 (3.7) 9 (3.7)
ค่าเฉลี่ยความยินดีจ่ายต่ำกว่าสินค้าทั่วไป (ร้อยละ) 9.0 9.8


ที่มา: ผู้เขียน

จากการสำรวจตลาดร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านที่มีจำหน่ายในร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์นั้น มักจะเป็นสินค้าจากธรรมชาติและ/หรือสินค้าออร์แกนิคจากผู้ผลิตรายย่อยชาวไทยที่เลือกใช้วัตถุดิบจากในประเทศและเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตที่จำกัด

กลุ่มลูกค้าของร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ในช่วงแรกจะเป็นชาวต่างชาติที่คุ้นเคยกับร้านค้าในลักษณะนี้เป็นหลัก แต่ช่วงหลังในปี พ.ศ. 2562 ก็มีลูกค้าชาวไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ได้ปรากฏอยู่ในสื่อต่าง ๆ ตามกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการประชาสัมพันธ์ร้านค้าไปในตัวและทำให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบัน กลุ่มลูกค้ามีทั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษา คนทำงานใกล้กับร้านค้า กลุ่มแม่บ้านที่พักใกล้กับร้านค้า ลูกค้าประจำยี่ห้อสินค้า และกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียเปรียบของการดำเนินธุรกิจร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์คือการจัดการและการดูแลรักษาสินค้ามากกว่าปกติเมื่อเทียบกับร้านค้าทั่วไป ในด้านของการจัดการ ร้านค้าต้องจัดเตรียมพนักงานเพื่อแนะนำสินค้าและอธิบายวิธีการใช้บริการอย่างใกล้ชิด ส่วนด้านการดูแลรักษา ร้านค้าต้องดูแลสินค้าโดยเฉพาะสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกายและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านที่เป็นหัวเติมอย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า ในขณะที่ในปัจจุบันยังไม่มีการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ขาดอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตรายใหญ่

ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 และ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้ให้นิยามคำว่า ผลิต ไว้ว่า “ทำ เพาะ ปรุง ผสม เปลี่ยนรูป แปรสภาพ ปรุงแต่ง แบ่งบรรจุ รวมบรรจุ หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุ” ดังนั้น ร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านจึงถูกนับว่าเป็นขั้นตอนการผลิต ทำให้ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลและจดแจ้งสินค้ากับอ.ย. ทั้งนี้ การขายสินค้าในลักษณะไร้บรรจุภัณฑ์มีข้อกังวลที่สำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ความสะอาดของบรรจุภัณฑ์ ความเข้ากันได้ของบรรจุภัณฑ์กับเนื้อสาร และ ความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้า 

ตลาดสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์ถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย ผลการศึกษาบ่งชี้ให้เห็นว่าตลาดสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม การตั้งราคาที่เหมาะสม และความสะดวกในการเข้าถึงร้านค้า ในขณะที่ผู้ผลิตเองแม้ว่าจะมีต้นทุนในการดูแลรักษาสินค้าระหว่างการขายที่มากขึ้น แต่ก็ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตในปัจจุบัน อุปสรรคสำคัญที่อาจจะส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจนี้อาจจะเป็นเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมและส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนก็จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องกฎระเบียบได้

ข้อเสนอแนะต่อภาคธุรกิจ
ในด้านการตั้งราคาขาย ผู้ขายสินค้าควรจะพิจารณาตั้งราคาที่ต่ำกว่าราคาสินค้าทั่วไปประมาณร้อยละ 5-10 ซึ่งเป็นช่วงที่จะดึงดูดลูกค้าให้หันมาซื้อเพิ่มขึ้นมาก และแม้ว่าการตั้งราคาต่ำกว่าสินค้าทั่วไปร้อยละ 10-20 จะทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก แต่จะมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นที่น้อยลงกว่าช่วงร้อยละ 10 ค่อนข้างมาก

เนื่องจาก ประเทศไทยยังไม่มีการจัดตั้งเครือข่ายของร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์อย่างเป็นทางการ จึงควรมีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ เครือข่ายนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและสร้างอำนาจการต่อรองระหว่างผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อยกับผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่เห็นโอกาสในการร่วมมือกับร้านค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีสินค้ายี่ห้อดังนำมาจำหน่ายในร้านค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
ควรสนับสนุนการผ่านร่างกฎหมายที่ได้นำแนวคิดความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต ซึ่งจะส่งเสริมการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์อย่างเป็นระบบซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบซากบรรจุภัณฑ์ของตน ไม่ว่าจะนำไปจัดการอย่างถูกวิธีหรือนำกลับไปใช้ใหม่ก็ตาม รวมถึงการพิจารณาใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การกำหนดภาษีบรรจุภัณฑ์ต่อหน่วยทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เพื่อสะท้อนให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเห็นถึงต้นทุนทางสังคม และควรดำเนินการปลดข้อจำกัดในด้านกฎหมายภายใต้ระเบียบการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนก็อาจทำให้เกิดการขยายตัวของร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มนำร่องจากสินค้าที่ไม่ตกค้างบนร่างกาย เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า แล้วจึงต่อยอดไปยังสินค้าอื่น ๆ ตามความเหมาะส


ผู้วิจัยขอขอบคุณผู้ตอบแบบสอบถามทั้ง 242 ท่านที่ให้ข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภค ทุกคำตอบของท่านมีค่าต่องานวิจัยนี้เป็นอย่างมาก ขอขอบพระคุณผู้ประกอบการทั้ง 8 ท่านที่สละเวลาให้ข้อมูลด้านธุรกิจสินค้าและร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์ ขอให้ผู้ประกอบการทุกท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและเป็นต้นแบบที่ดีของธุรกิจเพื่อสังคมให้แก่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ต่อไป และขอขอบพระคุณผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและของเสียที่ให้ข้อมูลในมุมมองของนักวิชาการต่อตลาดสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการทำวิจัย ผู้วิจัยขอขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง