บทความ: การคัดแยกขยะรีไซเคิลพลัส หรือขยะที่เป็นเชื้อ เพลิงมูลฝอย (RDF) เป็นแนวทางการลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง กรณีศึกษา การจัดการขยะในโรงอาหารสำนักงานมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขยะที่เป็นเชื้อเพลิงมูลฝอย (Refused Derived Fuel, RDF) หรือ ขยะกำพร้า เป็นขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ แต่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงได้ โดยการคัดแยกขยะประเภทนี้เป็นแนวทางการนำขยะไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเพื่อลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง อย่างไรก็ตาม การคัดแยกขยะประเภทนี้ต้องมีความเข้าใจว่าขยะที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ควรมีความชื้นต่ำ 

โครงการ Chula Zero Waste ซึ่งนำโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมและสำนักบริหารระบบกายภาพ จึงรวมขยะประเภทขยะรีไซเคิล และขยะที่เป็นเชื้อเพลิงมูลฝอยเป็นขยะประเภทเดียวกัน โดยใช้ชื่อประเภทขยะเป็น “ขยะรีไซเคิลพลัส” เพื่อลดการปนเปื้อนขยะที่มีความชื้นสูงในถังขยะ โครงการฯ จึงมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ทิ้งขยะแยกทิ้งของเหลวในขยะก่อนทิ้งลงในถัง เช่น การแยกเศษอาหาร น้ำ และน้ำแข็ง ในขณะเดียวกันยังมีการสร้างข้อตกลงกับผู้จัดเก็บขยะออกจากถังให้คัดแยกขยะรีไซเคิลที่ต้องการนำไปจำหน่ายก่อน จากนั้นจึงนำขยะที่เป็นเชื้อเพลิงมูลฝอยไปทิ้งที่จุดรวบรวม

ตารางที่ 1 การคัดแยกขยะ และปลายทางการจัดการขยะในโรงอาหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



การปรับปรุงจุดคัดแยกขยะในโรงอาหารส่งผลให้ผู้ใช้บริการคัดแยกขยะได้ถูกต้อง (รูปที่ 3) โดยสามารถแยกน้ำและน้ำแข็งในอ่างล้างมือ และสามารถแยกน้ำแกงออกจากเศษอาหารได้ ขณะที่การคัดแยกขยะประเภทแก้ว Zero Waste Cup และขวดพลาสติกมีความถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ยังพบขยะบางชิ้นที่ควรคัดแยกเป็นขยะรีไซเคิลพลัสในถังขยะทั่วไป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ประจำจุดทิ้งขยะจะคัดแยกให้ถูกต้องก่อนรวบรวมไปทิ้งที่จุดพักขยะแต่ละประเภทอีกครั้ง สำหรับการคัดแยกขยะภายในร้านค้า พบว่า ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถคัดแยกขยะแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ยังพบขยะบางชิ้นที่ควรคัดแยกเป็นขยะรีไซเคิลพลัสในถังขยะทั่วไป (รูปที่ 4)



การติดตามข้อมูลปริมาณขยะก่อนเริ่มดำเนินการจัดการขยะในโรงอาหาร (พ.ศ. 2559) หลังดำเนินการจัดการขยะโรงอาหาร (พ.ศ. 2563) การจัดการขยะภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 (พ.ศ. 2564) เปรียบเทียบกับปริมาณขยะเมื่อมีการปรับปรุงระบบคัดแยกขยะ (พ.ศ. 2565) (รูปที่ 5) พบว่า ปริมาณขยะรวมทุกประเภทที่เกิดจากโรงอาหารในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 (พ.ศ. 2564 และ มกราคม พ.ศ. 2565) ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปริมาณขยะในปี พ.ศ. 2559 (ก่อนเริ่มโครงการ Chula Zero Waste) และปี พ.ศ. 2563 (ขณะดำเนินโครงการ CU Zero Waste) (รูปที่ 5 (ก)) ขณะที่อัตราส่วนขยะทั่วไปในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และช่วงเริ่มต้นปรับปรุงระบบคัดแยกขยะรีไซเคิลพลัส (พ.ศ. 2564 และ มกราคม พ.ศ. 2565) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณขยะในปี พ.ศ. 2559 (ก่อนเริ่มโครงการ CU Zero Waste) และปี พ.ศ. 2563 (ขณะดำเนินโครงการ CU Zero Waste) (รูปที่ 5 (ข)) ทั้งนี้ ปริมาณและอัตราส่วนขยะรีไซเคิลพลัสที่เพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. 2565 ซึ่งมีการปรับปรุงระบบคัดแยกขยะ แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้บริการโรงอาหารและผู้ประกอบการร้านค้ามีการคัดแยกขยะรีไซเคิลพลัส โดยในช่วงเวลาก่อนการปรับปรุงระบบคัดแยก ขยะดังกล่าวจะถูกนำไปทิ้งเป็นขยะทั่วไป ดังนั้นการคัดแยกขยะรีไซเคิลพลัสส่งผลให้ปริมาณ และอัตราส่วนขยะทั่วไปมีแนวโน้มลดลง


การศึกษาองค์ประกอบขยะของโรงอาหารอื่น ๆ ที่ยังไม่มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลพลัส ได้แก่ โรงอาหารจุฬาพัฒน์ 14 โรงอาหารพินิตประชานาถ โรงอาหารที่ติดกับอาคารมหาจักรีสิรินธร และโรงอาหารมหิตลาธิเบศร พบว่า ขยะที่ถูกทิ้งในถังขยะทั่วไปในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยเฉลี่ยร้อยละ 48 เป็นขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร (ร้อยละ 20) ขยะเชื้อเพลิงทดแทน (ร้อยละ 15) แก้ว Zero Waste (ร้อยละ 7) และขยะรีไซเคิล (ร้อยละ 6) (รูปที่ 6) ทั้งนี้ การพบขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในถังขยะทั่วไป อาจมีสาเหตุมาจากการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ขาดความต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รวมถึงระบบคัดแยกและจัดการขยะในโรงอาหารไม่รองรับขยะรีไซเคิลพลัส ทำให้ขยะดังกล่าวปะปนอยู่ในขยะทั่วไปซึ่งจะถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบ ดังนั้นในโรงอาหารอื่น ๆ ควรมีการประชาสัมพันธ์ และพัฒนาระบบคัดแยกขยะรีไซเคิลพลัสเพื่อลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง


ระบบการคัดแยกขยะในโรงอาหารสำนักงานมหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบการคัดแยกขยะรีไซเคิลพลัส โดยมีจุดทิ้งขยะที่มีความเป็นระเบียบ และสามารถจัดการขยะที่มีน้ำอยู่ปริมาณมากได้ดี ซึ่งส่งเสริมให้การคัดแยกขยะรีไซเคิลพลัสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การสื่อสารให้ผู้ทิ้งขยะและผู้จัดเก็บขยะเข้าใจประเภทขยะที่คัดแยก รวมถึงเส้นทางการนำขยะที่คัดแยกไปใช้ประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การคัดแยกขยะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังควรมีการติดตามตรวจสอบกระบวนการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่ความต่อเนื่องในการดำเนินการและการพัฒนาระบบการจัดการ ซึ่งทำให้ไม่มีขยะเหลือทิ้งอย่างแท้จริง