บทความ: เที่ยวถนนคนเดิน (กาดข่วงเมืองน่าน) อย่างไรให้คาร์บอนต่ำ
การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) คือ กิจกรรมท่องเที่ยวทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับการท่องเที่ยวแบบปกติ (อพท., 2558) ซึ่งกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การคัดแยกและการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ การลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ รวมถึงการนำพลังงานสะอาดมาใช้ทั้งในการเดินทางและในที่พัก (กรุงเทพประกันชีวิต, 2563) ในขณะที่นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์มีส่วนร่วมในการลดโลกร้อนแต่ยังคงไว้ซึ่งความสะดวกสบายและความสุขที่ได้รับจากการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อปกป้อง รักษา และพัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้อนุชนคนรุ่นหลังต่อไป ผ่านการปลูกจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งนักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในปัจจุบันการท่องเที่ยวที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีหลายรูปแบบ เช่น การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community Based Tourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (Ecotourism) หรือแม้แต่นโยบายรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมหรือกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น (สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ, มปป.) บทความนี้ผู้วิจัยได้นำเสนอแนวทางการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำบริเวณถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน จังหวัดน่าน ในชื่อกิจกรรม “ติ้วซ้า มาข่วง เที่ยวอย่างไร ให้ไร้ขยะ” ซึ่งผลจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน พร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริเวณข่วงเมืองน่านเปรียบเสมือนหัวแหวนของเมืองเนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดน่าน โดยทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 16.00 - 21.00 น. จะมีการจัดกิจกรรมถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านบนถนนผากองและบริเวณลานข่วงเมืองหน้าวัดภูมินทร์ ซึ่งมีการนำเสนอเอกลักษณ์ของเมืองน่านผ่านอาหารพื้นเมือง ผักผลไม้ เสื้อผ้า ของฝากและของที่ระลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกาดข่วงเมืองน่านที่มีลานกว้างซึ่งเปรียบเสมือนห้องอาหารขนาดใหญ่ภายในบริเวณดังกล่าว มีการจัดพื้นที่นั่งด้วยการปูเสื่อและตั้งขันโตกเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้เลือกซื้ออาหารมานั่งรับประทาน (ภาพที่ 1) โดยแต่ละคืนมีนักท่องเที่ยวมากกว่าห้าร้อยคนและมีจำนวนเพิ่มเป็นเท่าตัวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดยังบ่อฝังกลบของเทศบาลเมืองน่านกว่า 550 กิโลกรัมต่อวัน (ข้อมูลจากเทศบาลเมืองน่าน ปี พ.ศ. 2563) จากข้อมูลดังกล่าวทางเทศบาลเมืองน่านได้ตระหนักถึงปัญหาขยะบริเวณถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านเป็นอย่างดี จึงได้จัดให้มีการคัดแยกขยะโดยแบ่งการคัดแยกขยะออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ ขวดพลาสติก แก้วพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก ถุงพลาสติก ขยะอินทรีย์ จานชามชานอ้อย หลอดพลาสติก ไม้เสียบ และขยะทั่วไปเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีและลดปริมาณการนำขยะไปสู่หลุมฝังกลบ (ตารางที่ 1)
ที่มา: คณะผู้วิจัย
ภาพที่ 2 กิจกรรม“ติ้วซ้า มาข่วง เที่ยวอย่างไร ให้ไร้ขยะ” ในวันที่ 8-10 เมษายน 2565
ที่มา: คณะผู้วิจัย
ที่มา: คณะผู้วิจัย
ที่มา: คณะผู้วิจัย
ที่มา: คณะผู้วิจัย
ที่มา: คณะผู้วิจัย
ที่มา: คณะผู้วิจัย
ที่มา: คณะผู้วิจัย
การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำจะมีการคัดแยกขยะออกเป็น 9 ประเภทและมีปลายทางกำจัดขยะอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้จัดงานอาจต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะและเตรียมตะกร้าหรือพกถุงผ้าเพื่อช่วยลดการรับถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงควรมีนโยบายและแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวหรืองานอีเว้นท์ต่าง ๆ ควบคู่กับการสร้างความรู้และการเสริมสร้างจิตสำนึกในการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำให้กับเด็ก ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว อีกทั้งสามารถเพิ่มจุดคัดแยกขยะให้ครอบคลุม เพิ่มป้ายแผนที่จุดทิ้งถังขยะและสามารถสแกน QR CODE เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถทราบถึงที่ตั้งของถังขยะและมีการขยายพื้นที่ในการคัดแยกขยะไปสู่โรงเรียน ตลาด ร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อเพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่และนำไปสู่ความยั่งยืน
การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ กรณีศึกษาถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน ภายใต้กิจกรรม “ติ้วซ้า มาข่วง เที่ยวอย่างไร ให้ไร้ขยะ” ด้วยการส่งเสริมให้มีการยืมตะกร้าไม้ไผ่ การใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติทดแทนการใช้ภาชนะพลาสติก การให้ความรู้เกี่ยวกับถนนคนเดินคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมการคัดแยกขยะ การจัดตั้งถังแยกขยะเศษอาหารและป้ายประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการใช้สินค้าท้องถิ่นสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวได้อย่างมีนัยสำคัญและเป็นต้นแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง เที่ยวน่าน ใส่ใจ ไร้คาร์บอน: การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ สำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน เพื่อนำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดมาจากโครงการเที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน: การสรรสร้างเมืองน่านเพื่อยกระดับสู่การท่องเที่ยวสีเขียวอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับงบประมาณจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปีงบประมาณ 2563 และโครงการ “Enhancing Local Capability toward Sustainable Municipal Solid Waste Management: Case Study of Nan Municipality, Thailand” ซึ่งได้รับทุนวิจัยจาก The Asahi Glass Foundation, Japan ปีงบประมาณ 2563 นอกจากนี้คณะผู้วิจัยขอขอบคุณความร่วมมือและข้อเสนอแนะต่อรูปแบบการจัดกิจกรรมจากหน่วยงาน ผู้ประกอบการในพื้นที่และเครือข่ายการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดน่าน ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานน่าน สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 (อพท.6) เทศบาลเมืองน่าน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรจังหวัดน่าน โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ เทศบาลบ้านภูมินทร์ และผู้ประกอบการในจังหวัดน่าน