บทคัดย่อ
นอกจากภารกิจหลักด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนวชิราลงกรณยังอำนวยประโยชน์ในด้านการเป็นทรัพยากรแหล่งน้ำและการชลประทานที่หลากหลาย
การอ้างอิง: ดวงกมล พิหูสูตร. (2562). เรื่องจากปก: “เขื่อนวชิราลงกรณ” แหล่งน้ำที่สร้างพลังงานและชีวิต. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 2).
เรื่องจากปก: “เขื่อนวชิราลงกรณ” แหล่งน้ำที่สร้างพลังงานและชีวิต
“เขื่อนวชิราลงกรณ” เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามพระนามาภิไธยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร แทนชื่อเดิม “เขื่อนเขาแหลม” เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 โดยเป็นหนึ่งในโครงการแผนพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองที่มีความยาวกว่า 390 กิโลเมตรเพื่ออำนวยประโยชน์หลักด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 300,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 777 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เขื่อนวชิราลงกรณเริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2527 เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทย ที่ดาดคอนกรีตเสริมเหล็กที่ผิวหน้า ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย พื้นที่ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนของอ่างเก็บน้ำอยู่ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี มีพื้นที่เก็บกักสูงสุดปกติ 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างโดยเฉลี่ย 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
อำนวยประโยชน์ในด้านการเป็นทรัพยากรแหล่งน้ำและการชลประทานที่หลากหลาย อาทิ ด้านการอุปโภคบริโภค ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 7 จังหวัดได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วยผลักดันน้ำเค็มและไล่น้ำเสีย ในช่วงฤดูแล้งที่มีน้ำเค็มไหลย้อนที่ปากแม่น้ำแม่กลอง น้ำจากเขื่อนจะถูกปล่อยเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มออกจากพื้นที่ ด้านการชลประทานและการเกษตร จากการผันน้ำจากเขื่อนเข้าสู่พื้นที่กว่า 6 จังหวัด ทำให้มี “แหล่งน้ำถาวร” เพิ่มขึ้น ช่วยในการเพาะปลูกยามฤดูแล้งได้ ด้านการประมง อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนกว่า 388 ตารางกิโลเมตร กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้กับราษฎร ด้านการบรรเทาภัยพิบัติ อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรองรับน้ำปริมาณมากในฤดูฝน บรรเทาปัญหาการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และด้านการคมนาคมและการท่องเที่ยว อ่างเก็บน้ำกลายเป็นเส้นทางคมนาคมของชุมชน และนำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
แต่คุณภาพน้ำในลำน้ำแควน้อยนั้นกลับพบว่ามีคุณภาพที่แย่ลงจากการเป็นแหล่งรองรับน้ำทิ้งจากกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน อุตสากรรมและเกษตรกรรม ซึ่งแนวโน้มของ “ผู้ก่อมลพิษ” ที่เพิ่มขึ้นสองฟากฝั่งแม่น้ำแควน้อยนั้นกำลังสร้างปัญหาที่สามารถทำลายคุณภาพน้ำผิวดินของพื้นที่ลุ่มน้ำโดยรวมได้
บรรณานุกรม
แผนกประชาสัมพันธ์และกลุ่มงาน ICT เขื่อนวชิรลงกรณ. ประโยชน์ของเขื่อนวชิรลงกรณ. [เวปไซต์]. สืบค้นจาก http://vrk.egat.com/index.php/about-us/2014-07-08-02-24-05
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2560) 31 ปี เขื่อนวชิราลงกรณ. ข่าวสาร กฟผ. เขื่อนวชิราลงกรณ, 1(1), 3.
สิทธิชัย ตันธนะสฤษดิ์. (2546) ผลการดำเนินการของเขื่อนพลังงานน้ำศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ที่มีผลต่อคุณภาพน้ำในลำน้ำแควใหญ่ แควน้อย และแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี. ภาควิชาอนุรักษวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.
ส่วนเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8. รายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่น้ำแควน้อย ครั้งที่ 1/2562 (คุณภาพน้ำช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2561). [เวปไซต์]. สืบค้นจาก http://reo08.mnre.go.th.
ณัฐภากัญญ์ ชูสินภาณุมาศ และ วราลักษณ์ คงอ้วน. (2561). ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองในเทศบาลตำบลทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 22 (ฉบับที่ 2), 21-29. http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6105/31?fbclid=IwAR2XeZky8UI68m7RyvQFbGeoHkJ-mbJuWiXgUP_U-yxzM9r7Y4lNb23vvZQ