ข่าวสิ่งแวดล้อม: มุมมองต่อประเด็นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

1 หลักสูตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความยั่งยืน (Environment Development and Sustainability) บัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
3 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


“PM 2.5 situation in Bangkok, Thailand and SDGs perspectives” ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดที่มีต่อปัญหามลสารฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงประเด็นการจัดการและงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยนิสิตระดับดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต ซึ่งมีคณาจารย์ของหลักสูตรฯ และนักวิจัยโครงการของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สถาบันวิจัยพลังงาน และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรมและเข้าร่วมอภิปรายในการสัมมนาดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาทั้งสิ้น 52 คน ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมนานาชาติ ได้แก่ ไทย จีน อินโดนีเซีย พม่า ซูดาน ปากีสถาน ตูนีเซีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา โซมาเลีย ไลบีเรีย เป็นต้น ทั้งนี้ ประเด็นสาระสำคัญที่สรุปได้จากงานสัมมนาดังกล่าวมีดังนี้ 

(1) ภาคการศึกษา ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเผยแพร่ข้อมูลแหล่งกำเนิดของมลสารฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่แน่ชัด ทั้งแหล่งกำเนิดจาก Point sources หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็น Non-point sources ทั้งแหล่งกำเนิดที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลแหล่งกำเนิดบริเวณอื่น ๆ ในประเทศที่เสริมให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการควบคุม จัดการหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และลดผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

(2) ประเด็นผลกระทบของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ควรพิจารณาถึงมาตรการและแนวทางจัดการที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 มีค่าสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบทางสุขภาพแก่ประชาชนทุกคน (Unhealthy for all) และ ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง (Unhealthy for sensitive group) ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กและผู้มีโรคประจำตัว ดังนั้น ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐควรร่วมมือกันดำเนินมาตรการควบคุมและบรรเทาผลกระทบทางสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม 

(3) ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน รัฐควรเน้นการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญเพิ่มเติมในประเด็นระดับผลกระทบที่เพิ่มความรุนแรงของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงประเด็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน (Trans-disciplinary air pollution) ทั้งในและต่างประเทศ 

(4) การรับข่าวสารและองค์ความรู้ จากการสื่อสารข้อมูลผลกระทบของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันระดับบุคคล ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 หรือการใส่หน้ากาก N95 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยการหายใจ เป็นต้น ควรนำมาพิจารณาเป็นประเด็นในการจัดการปัญหาองค์รวมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน 

(5) การศึกษาและวิจัยถึงประเด็นการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ควรรวมความรู้เป็นไปในลักษณะสหศาสตร์และข้ามศาสตร์ ในการนำข้อมูลสถานการณ์ความเข้มข้นของ PM 2.5 ในอากาศ ด้านผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสังคม วิเคราะห์ประกอบร่วมกับด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีให้ได้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาที่แม่นยำ ถูกต้อง เพื่อสามารถแนะแนวทางการจัดการแบบองค์รวม

(6) ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนยังไม่ปรากฎสาระในเป้าหมายหรือดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยตรง หากแต่เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับหลายเป้าหมาย SDGs อาทิ SDG 3 Good Health and Well-being, SDG7 Affordable and Clean Energy, SDG11 Sustainable Cities and Communities, SDG13 Climate Action, SDG15 Life on Land เป็นต้น 

สิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เกิดขึ้น