การอ้างอิง: ภิษฐ์วลัญต์ กรพิพัฒน์. (2562). กรอบวิเคราะห์ความยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 1).


ภิษฐ์วลัญต์ กรพิพัฒน์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศิลปากร


การเดินทางและการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนหนึ่งของภาคเศรษฐกิจที่ทุกประเทศทั่วโลกผลักดันและส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้และการจ้างงาน ในปี ค.ศ. 2017 ประเทศไทยมีรายได้จากการเดินทางและการท่องเที่ยว 36.4 พันล้าน US$ สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และมีสัดส่วนใน GDP ร้อยละ 9.3  สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก [รองจากมอลตา (ร้อยละ 15.1) และโครเอเชีย (ร้อยละ 10.1)] และมีการจ้างงานมากกว่า 2.4 ล้านคน (World Travel & Tourism Council (WTTC), 2018)

ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันการเดินทางและการท่องเที่ยว วัดจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) สภาพแวดล้อมสนับสนุน (2) นโยบายเดินทาง-ท่องเที่ยวและเงื่อนไขสนับสนุน (3) โครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพ  และ (4) ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม  ซึ่งแต่ละปัจจัยมีตัวชี้วัด ดังปรากฏในรูปที่ 1


จาก TTCI ดัชนีกลุ่มนโยบายเดินทางท่องเที่ยวและเงื่อนไขสนับสนุนของประเทศไทย พบว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอยู่อันดับที่ 122 ถือว่าเป็นอันดับท้าย ๆ ของการจัดอันดับของสมาชิกทั่วโลก โดยบริบทความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย ความเข้มงวดเกี่ยวกับกฎระเบียบสิ่งแวดล้อม การบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การให้สัตยาบันสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม การตัดไม้ทำลายป่า ภาวะขาดแคลนน้ำ การคุกคามสายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ (Particulate Matter) และการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาการบริหารจัดการปัจจัยด้านอุปทานของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งว่ามีขีดจำกัดของความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ เศรษฐกิจ-สังคมในระดับที่แตกต่างกัน

ดังนั้น เพื่อปรับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวของไทยให้สูงขึ้น โดยเฉพาะความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่มาของการให้บริการระบบนิเวศ บทความนี้จึงนำเสนอกรอบวิเคราะห์ความยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) โดยนำแนวคิดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) บูรณาการเข้ากับแนวคิด DPSIR: พลังขับเคลื่อน (D: Drivers หรือ Driving Forces) แรงกดดัน (P: Pressures) สภาวะ (S: State) ผลกระทบ (I: Impact) ตอบโจทย์ (R: Responses) เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการปัจจัยด้านอุปสงค์และปัจจัยด้านอุปทานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในแต่ละพื้นที่ให้สอดรับกัน โดยบทความนี้จัดลำดับการนำเสนอเป็น (1) ที่มาของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (2) ประเด็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (3) ห่วงโซ่มูลค่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (4) กรอบแนวคิด DPSIR (5) DPSIR กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ (6) แนวทางบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การท่องเที่ยวแบบทั่วไป (Mass Tourism) ทำให้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่เคยสวยงามเสื่อมโทรมลงในทศวรรษ 1970s  ทศวรรษ 1980s เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเดิมไปสู่ทางเลือกใหม่ ทางเลือกหนึ่งซึ่ง Hector Ceballos-Lascurain บัญญัติศัพท์ไว้เมื่อปี ค.ศ. 1983 คือ "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" (Ecotourism) และ ได้รับการยอมรับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาว่าเป็นปรัชญา แนวคิด และขบวนการทางสังคมในการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีวิวัฒนาการมากกว่า 30 ปี และประเทศต่างๆนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในกลางทศวรรษ 1980s (Weaver, 2007)

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ใช้คำว่า "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" อย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2541 และนิยามว่า "การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษา ชื่นชม และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพธรรมชาติ สภาพสังคม วัฒนธรรม และชีวิตของคนในท้องถิ่น บนพื้นฐานความรู้และความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ" (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, 2546)  โดยสรุปแล้ว การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีองค์ประกอบ 5 ประการที่สัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน ดังนี้ (1) พื้นที่เป็นแหล่งธรรมชาติและแหล่งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น (2) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (3) การให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (4) การมีส่วนร่วมและประโยชน์ที่ได้รับของชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่น (5) การสร้างความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

กรณีประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลนิธิใบไม้เขียว (Green Leaf Foundation) ที่ได้ออกเกียรติบัตรใบไม้เขียว (Green Leaf Certification) จำกัดอยู่ในแวดวงโรงแรมและรีสอร์ทที่ผ่านเกณฑ์ (สมาคมโรงแรมไทย, 2554) ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเท่านั้น ที่เป็นดังนี้เพราะบทบาทภาครัฐและภาคธุรกิจในธุรกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากและยังไม่ได้ตระหนักถึงมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (Phormupatham, 2013) ถึงแม้ว่ากรมการท่องเที่ยว (2557) ได้ออกคู่มือการตรวจประเมินมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวปฏิบัติแล้วก็ตาม การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปสู่สากลจำเป็นต้องคลี่คลายปัญหาที่โยงใยกันในหลาย ๆ ด้าน

ในอีกด้านหนึ่งการตักตวงผลประโยชน์หรือผลกำไรจากทรัพยากรมากเกินกว่าระบบนิเวศรองรับได้ก็จะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและสายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าและเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว บ่อยครั้งมีการนำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปใช้เป็นกลยุทธ์การตลาดโดยติดป้าย "eco" แต่ในทางปฏิบัติผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจำนวนไม่น้อยขาดจริยธรรมและความรับผิดชอบในการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การทำความเข้าใจระบบที่ซับซ้อนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนี้สามารถอธิบายได้โดยห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกรณีของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Christian et al., 2011)

ห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain: VC) สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยระบุองค์ประกอบของชุดกิจกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางและตลอดห่วงโซ่มูลค่านี้ยังสามารถระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจกรรมหรือธุรกรรมต่างๆที่สัมพันธ์กันในห่วงโซ่ (Full Range of Activities) 

โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นและบริเวณใกล้เคียงเขตพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองอันเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยว (ด้านอุปทาน) ควรได้รับผลประโยชน์จากทางเศรษฐกิจที่เพียงพอในการนำรายได้ไปอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล (รูปที่ 2) เนื่องจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นพลังขับเคลื่อน (Driving Forces: D) ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญ กรอบ DPSIR จึงสามารถนำมาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์โจทย์ความยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่อเนื่องจาก VC เพื่อเสนอทางออกหรือทางเลือกให้กับท้องถิ่นได้ในลำดับถัดไป


กรอบ DPSIR เป็นเครื่องมือที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป (European Environment Agency: EEA) ได้ทำการพัฒนาเพื่อวางระบบการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล  วิเคราะห์และจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (Kristensen, 2004, Bradley and Yee, 2015, Baldwin et al., 2016) กรอบ DPSIR อธิบายวิวัฒนาการสังคมมนุษย์ที่มีการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการผลิตและการบริโภคเพื่อการดำรงอยู่ (Survival) โดยมีจุดเริ่มต้นจากปัจจัยที่เป็นพลังขับเคลื่อน (Driving Forces) ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่ลงตัวและไม่ลงตัว ส่งผลให้เกิดแรงกดดัน (Pressures) ต่อดุลยภาพของสิ่งแวดล้อม ผลที่ตามมาก็คือสภาวะ (State) ของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป และเมื่อเกินกว่าที่องค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจะรองรับได้ ผลกระทบ (Impacts) ที่เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ก็จะปรากฏออกมา สังคมมนุษย์จึงต้องคิดค้นเครื่องมือที่รองรับผลกระทบดังกล่าว (Response) เพื่อฟื้นฟูดุลยภาพที่สูญเสียไป


ตารางที่ 1 ความหมายของ DPSIR

ความหมาย
ความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นแต่ก็ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ รวมถึงทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยการใช้ STI (Science Technology และ Innovation) ในการยกระดับความเป็นอยู่และฐานะทางสังคม
กระบวนการที่เกิดต่อเนื่องจากพลังขับเคลื่อนที่กดดันต่อระดับการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตและการบริโภค รวมไปถึงการปล่อยของเสียจากกระบวนการดังกล่าว ได้แก่ สารปนเปื้อน ของเสีย เสียงรบกวน ฯลฯ สู่อากาศ ดิน และน้ำ ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ปริมาณและคุณภาพขององค์ประกอบในส่วนต่างๆของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่หลากหลาย ได้แก่ อากาศ น้ำ ดิน ฯลฯ ที่ประสานสัมพันธ์ในการทำหน้าที่ของสิ่งเหล่านี้และแสดงถึงขีดความสามารถของทรัพยากรเหล่านี้ในการรองรับ (Carrying Capacity) กิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ซึ่งค่าหรือตัวเลขที่แสดงออกมาจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับที่เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ หากค่าหรือตัวเลขนั้นสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล
ความต่อเนื่องที่ส่งต่อมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของประเด็นปัญหาและโจทย์ที่ต้องการพิจารณาและต้องวิเคราะห์ ได้แก่ สถานภาพที่เปลี่ยนไป สุขภาพคน สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งผลกระทบอาจมีทั้งด้านบวกและด้านลบ
เป็นส่วนของการค้นหาหรือคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ข้างต้น โดยกำหนดเป็นนโยบาย มาตรการหรือกฎกติกาทั้งในเชิงบังคับและให้สิ่งจูงใจต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่อปรับสมดุลของระบบนิเวศให้กลับคืนมาสู่ความยั่งยืนในความหมายที่ว่า "สุขภาพคนต้องเคียงคู่ไปกับสุขภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ"

เมื่อนำกรอบ DPSIR (รูปที่ 3) มาประยุกต์ใช้กับประเด็นความยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รูปที่ 3 ก็จะถูกนำมาปรับและเติมเต็มให้สอดคล้องกับบริบทและปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ดังตัวอย่างในรูปที่ 4 

ดังนั้นจึงต้องระบุรายละเอียดและปัจจัยที่สำคัญของแต่ละพื้นที่ลงไปใน DPSIR จากนั้นจึงทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิและปฐมภูมิทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในพื้นที่ทั้งด้านอุปทาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และบริการของระบบนิเวศโดยเฉพาะศักยภาพขีดความสามารถในการรองรับทางด้านกายภาพ เคมีและชีวภาพที่ส่งผลกระทบทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพต่อคนและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ และด้านอุปสงค์ ได้แก่ ความต้องการ วัตถุประสงค์ ความรู้ความเข้าใจ ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศฯลฯ 

การศึกษาตามแนวทางดั้งเดิมมักมุ่งเน้นเฉพาะขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity: CC) ซึ่งไม่ครบองค์ประกอบ DPSIR นอกจากนี้การเปิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศใหม่ในหลายพื้นที่ไม่สอดรับกับประกาศการบังคับใช้ผังเมืองรวมของแต่ละจังหวัดและไม่ได้มีการศึกษาประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นเพื่อเตรียมการรองรับปัญหา  ในทางตรงกันข้ามกลับมีการผลักดัน ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์เพื่อขยายตัวด้านอุปสงค์ผ่านสื่อสมัยใหม่ รูปแบบใหม่ต่างๆ ดังนั้น จึงพบแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลายแห่งเสื่อมโทรมจากการเสียสมดุลทางธรรมชาติ เนื่องจากการดูแลที่ไม่ทั่วถึงในการบริหารจัดการด้านอุปทานให้สอดรับกับทางด้านอุปสงค์

การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) ก็จะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องที่ตามมา (R) กระบวนการทั้งหมดที่นำเสนอนี้ชี้ให้เห็นว่า กรอบ DPSIR เป็นเครื่องที่นำมาใช้ในเชิงตั้งรับ (Reactive) มากกว่าเชิงรุก (Proactive) แต่หากเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงได้ในขั้นตอนการจัดการการเปลี่ยนแปลง (DPS) ก็แสดงนัยยะการทำงานเชิงรุกได้ในลักษณะ "กันดีกว่าแก้"


กรอบ VC และ DPSIR นอกจากเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ตัวชี้วัดความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างเป็นระบบที่เชื่อมโยงครบวงจร (Loop) แล้ว ยังเป็นการกระบวนการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลรองรับการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปสู่สากล เมื่อมีการติดตาม (Monitoring) DPS อย่างต่อเนื่องก็จะสามารถชี้นำการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมตามเวลาและสถานที่ (Time/Space)

และหากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยึดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการให้บริการของระบบนิเวศเป็นที่ตั้ง การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในลักษณะที่เป็นการปรับอุปสงค์ (กิจกรรมที่เกี่ยวกับการรับรองนักท่องเที่ยว) และอุปทาน (ขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยว (Site/Destination) ซึ่งเป็นการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ) ให้สอดรับกันโดยใช้กรอบ VC บูรณาการเข้ากับกรอบ DPSIR ก็จะได้ชุดเครื่องมือที่ช่วยนำทางไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถนำไปตอบโจทย์ (Response) การปรับกลไกทางด้านอุปสงค์และอุปทานเพื่อนำความยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกลับคืนมาหรือเข้าสู่ดุลภาพใหม่ ผ่านกระบวนการทำงานที่มีลักษณะประนีประนอมหรือฉันทามิติ (Compromising/Consensus) จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการมีส่วนร่วม (Participation) ของชุมชนท้องถิ่นและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

เอกสารอ้างอิง
กรมการท่องเที่ยว. (2557). คู่มือการตรวจประเมินมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์.
สมาคมโรงแรมไทย. (2554). Green Leaf Foundation / มูลนิธิใบไม้เขียว. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 จากเว็บไซต์  
http://www.thaihotels.org/16782254/green-leaf-foundation-มูลนิธิใบไม้เขียว.
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2546). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ.สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 จากเว็บไซต์  http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.
php?book=27&chap=3&page=t27-3-infodetail01.html.
Baldwin, C., Rebecca L. Lewison, Scott N. Lieske, Maria Beger, Ellen Hines, Phil Dearden, Murray A. Rudd, Christian Jones, Suvaluck Satumanatpan and Chalatip Junchompoo. (2016). Using the DPSIR framework for transdisciplinary training and knowledge elicitation in the Gulf of Thailand, Ocean & Coastal Management, vol. 134, pp. 163-172.Retrieved October 6, 2018, from http://eprints.whiterose.ac.uk/110706/1/OCMA-D-16-00107R1%20%282%29.pdf.
Bradley, P. and Susan Yee. (2015). Using the DPSIR Framework to Develop a Conceptual Model :
Technical Support Document. US Environmental Protection Agency, EPA/600/R-15/154. Retrieved May 31, 2017, from https://cfpub.epa.gov/si/si_public_file_download.cfm?p_download_id=527151.
Carr E. R., Philip M. Wingard, Sara C. Yorty, Mary C. Thompson, Natalie K. Jensen and Justin Roberson. (2007) Applying DPSIR to sustainable development. International Journal of Sustainable Development & World Ecology, vol. 14, pp. 543–555. Retrieved October 16, 2018, from 
https://www.researchgate.net/publication/228618840_Applying_DPSIR_to_sustainable_development.
Center on Ecotourism and Sustainable Development (CESD). (2006). A SIMPLE USER’S GUIDE TO CERTIFICATION FOR SUSTAINABLE TOURISM AND ECOTOURISM, A HANDBOOK 1, 3rd Edition.  Retrieved January 22, 2019,  from https://www.responsibletravel.org/docs/Ecotourism_Handbook_I.pdf.
Christian, M., Karina Fernandez-Stark, Ghada Ahmed and Gary Gereffi. (2011). The Tourism Global Value Chain: Economic Upgrading and Workforce Development. Center on Globalization, Governance & Competitiveness, Duke University. Retrieved October 24, 2018, from https://gvcc.duke.edu/wp-content/uploads/2011-11-11_CGGC_Ex.Summary_Tourism-Global-Value-Chain.pdf.
Drumm, A. and Alan Moore. (2002). Ecotourism Development- A Manual for Conservation Planners and Managers Volume 1 An Introduction to Ecotourism Planning. The Nature Conservancy, Arlington, Virginia, USA. Retrieved November 2, 2018, from https://www.researchgate.net/publication/277786951_Ecotourism_
Development_-_A_Manual_for_Conservation_Planners_and_Managers_Volume_I_-_An_Introduction_to_Ecotourism_Planning.
Drumm, A., Alan Moore, Andrew Soles, Carol Patterson and John E. Terborgh. (2004). Ecotourism Development–A Manual for Conservation Planners and Managers Volume II : The Business of Ecotourism Management and Development. The Nature Conservancy, Arlington, Virginia, USA. Retrieved November 2, 2018, from https://www.researchgate.net/publication/261634491_Ecotourism_Development_A_Manual_for_Conservation_Planners_and_Managers_Volume_II
The_Business_of_Ecotourism_Development_and_Management.
Hirotsune, K. (2011). Tourism, Sustainable Tourism and Ecotourism in Developing Countries. Graduate School of International Development, Nagoya University, Paper for ANDA International Conference in Nagoya, 5 - 7 March 2011. Retrieved November 7, 2018, from  https://www2.gsid.nagoya-u.ac.jp/blog/anda/files/2011/08/4-kimura_hirotsunee38080.pdf.
Kristensen, P. (2004). The DPSIR Framework. National Environmental Research Institute, Denmark, Paper presented at the 27-29 September 2004 workshop on a comprehensive / detailed assessment of the vulnerability of water resources to environmental change in Africa using river basin approach. UNEP Headquarters, Nairobi, Kenya. Retrieved January 14, 2018, from https://wwz.ifremer.fr/dce/content/download/69291/913220 /file/DPSIR.pdf.
Ly, T. P. and T. Bauer. (2014). Ecotourism in Mainland Southeast Asia: Theory and Practice. Tourism, Leisure and Global Change, volume 1, p. 61-80. Retrieved  November 10, 2018, from https://www2.nau.edu/nabej-p/ojs/index.php/igutourism/article/view/315/173.
Mete, B. and Elif Acuner. (2014). A Value Chain Analysis of Turkish Tourism Sector. International Journal of Business and Management Studies, pp. 499-506. Retrieved January 22, 2019, from http://universitypublications.net/ijbms/0302/pdf/V4NA243.pdf.
Phormupatham, N. (2013). Issues in developing a sustainable ecotourism certification framework : The case of Chiang Mai, Thailand, University of Canberra, Australia, p. 103-117.  Retrieved July 17, 2018, from http://www.interjournal.cmru.ac.th/social/paper/009.pdf.
Sangpikul, A. (2015). An Analysis of Ecotourism Studies in Thailand. SUTHIPARITHAT, Vol.29, p. 272-290. Retrieved November 23, 2018, from http://www.dpu.ac.th/dpurc/assets/uploads/magazine/tc1qifhxwfkssk0okw.pdf.
Weaver, B., David, J. Lawton, Laura David, B. Weaver and Laura J. Lawton. (2007). Twenty years on: The state of contemporary ecotourism research, Tourism Management, School of Hotel, Restaurant and Tourism Management, University of South Carolina, Columbia. Retrieved July 17, 2018, from https://researchrepository.griffith.edu.au/ bitstream/handle/10072/26545/51660_1.pdf?sequence=1.
World Economic Forum (WEF). (2017). The Travel & Tourism Competitiveness Report 2017: Paving the Way for a More Sustainable and Inclusive Future. Retrieved October 23, 2018, from http://ev.am/sites/default/files/WEF_TTCR_2017.pdf.
World Travel & Tourism Council (WTTC). (2018). Travel & Tourism Economic Impact 2018 World. Retrieved October 23, 2018, from https://www.wttc.org/-/media/files/reports/economic-impact-research/regions-2018/world2018.pdf.
World Travel & Tourism Council (WTTC). (2018). Travel & Tourism Economic Impact 2017 THAILAND. Retrieved October 23, 2018, from https://www.wttc.org/-/media/files/reports/economic-impact-research/countries-2017/thailand2017.pdf.