บทความ: การพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม สาขาโรงพยาบาลร้อยเอ็ด
The development of waste management model of Suanphayom hospital, Roi – ET hospital.

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาสภาพปัญหาขยะมูลฝอย วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอย  และการพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม  สาขาโรงพยาบาลร้อยเอ็ด โดยใช้วิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ จำนวน  50  คนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม  เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล  คือ แบบสัมภาษณ์ ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป  ความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมเกี่ยวกับการจัดการและการคัดแยกขยะมูลฝอย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การแจกแจงความถี่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน   และการวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้ ไควสแควร์ (Chi-Square)  ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยอยู่ในระดับสูง ร้อยละ  88.0 และระดับปานกลาง  ร้อยละ  8.0 ทัศนคติเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยอยู่ในระดับสูง  ระดับปานกลาง  ร้อยละ  94.0, 6.0 ตามลำดับ พฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในเรื่องการกำจัดการขยะมูลฝอย อยู่ในระดับปานกลาง  ระดับสูง ร้อยละ  76.0,  24.0 ตามลำดับ  จากการรวบรวมข้อมูลในแบบสอบถามพบว่า  อายุ  เพศ  สถานะภาพ  ระดับการศึกษา  อาชีพ  ตำแหน่ง  รายได้    ความรู้  ทัศนคติ  ไม่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการปฏิบัติตนในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย  ส่วนการพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอย มีขั้นตอน ดังนี้ 1) ศึกษาบริบท สภาพปัญหา พบว่า ประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะที่ยังไม่เป็นระบบ 2) ศึกษารูปแบบการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยมูลฝอยตามแนวประชารัฐ เช่น การเสริมสร้างสมรรถนะในการจัดการขยะโดยการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากร  รณรงค์สร้างจิตสำนึกตามแนวคิด 3Rs–ประชารัฐ โดยการลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)  พัฒนาศักยภาพบุคลากรโดยส่งเสริมการเลี้ยงไส้เดือน  ทำน้ำหมักชีวภาพ ส่งผลทำให้ปริมาณขยะหลังการดำเนินการลดลง ร้อยละ 20.35

คำสำคัญ: การพัฒนา  รูปแบบ  การจัดการขยะมูลฝอย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

วามเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
สังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ซึ่งวางอยู่บนแนวคิด3Rs–ประชารัฐคือ การส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทางซึ่งเป็นการจัดการที่ยั่งยืน  คือ  การลดปริมาณ ขยะจากแหล่งต้นทาง (Reduce)  การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) หรือตามหลักการ สามอาร์ (3Rs) 

1. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาขยะมูลฝอยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม  
2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมจัดการและคัดแยกขยะมูลฝอย
3. เพื่อศึกษาการพัฒนารูปแบบการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม

การวิจัยครั้งนี้  เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)  โดยใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory  Action  Research : PAR)  ซึ่งอธิบายด้วยบริบท  สภาพปัญหา  การพัฒนารูปแบบการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย รวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีทดสอบความรู้  ทัศนคติ  พฤติกรรมบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม  ซึ่งเป็นตัวแทนของบุคลากร  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ใช้วิธีคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive  Sampling)   จำนวน  50  คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 แบบ  คือ  1) เครื่องมือเชิงปริมาณ ได้แก่  แบบสำรวจประเภทและปริมาณขยะ  2) แบบสอบถามความรู้  ทัศนคติ  พฤติกรรมในเรื่องการจัดการและการคัดแยกขยะมูลฝอย ระหว่าง พฤศจิกายน  2562 – มกราคม  2563

การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้  ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น  2  ระยะ  คือ  ระยะเตรียมการ (Pre-research phase)  มีกิจกรรมที่สำคัญ  คือ  การติดต่อประสานงานในหน่วยงานต่าง ๆ  การสำรวจข้อมูลพื้นฐาน  ระยะดำเนินการวิจัย (Research phase)  ซึ่งมีขั้นตอนในการศึกษา  5  ขั้นตอน คือ 1)การศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา  2) การหาแนวทางการแก้ไขปัญหา  3) การวางแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหา  4) การปฏิบัติตามแผน  5) การติดตามประเมินผล

การพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอย  มีลำดับขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
1. ข้อมูลทั่วไป ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41- 60 ปี มากที่สุดคิดเป็น 
ร้อยละ  62.0 , และเป็นเพศหญิงมากที่สุด  ร้อยละ  80,  ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.0 มีสถานะภาพสมรส, การศึกษาของผู้ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยู่ในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 44.0 , ส่วนใหญ่มีอาชีพรับราชการ ร้อยละ 38.0 ,   ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพมากที่สุด  ร้อยละ 24.0,  ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยกว่า 10,000  บาท  ต่อเดือน ร้อยละ  38.0      
2. ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย จากผลการศึกษาพบว่า  กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยถูกต้อง  2  ลำดับแรก  ได้แก่  เรื่อง  การนำมูลฝอย เช่น เศษอาหาร เศษพืชผัก มาทำปุ๋ยหมัก จัดเป็นวิธีการหนึ่งในการลดปริมาณมูลฝอยที่จะต้องกำจัด  ร้อยละ  100  รองลงมา คือ  มูลฝอยอันตรายที่เกิดขึ้นในครัวเรือน เช่น  ถ่านไฟฉาย  หลอดไฟเก่า  แบตเตอรี่,   การเผาขยะมูลฝอยสามารถทำให้เกิดมลพิษทางอากาศได้    เศษอาหารสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้  และขยะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและพาหะนำโรค  ร้อยละ  98.0  อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างตอบผิดมากที่สุด  2  อันดับแรก  ได้แก่  การลดขยะโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเติม เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม  ร้อยละ  44.0  รองลงมาคือ  การลดปริมาณขยะทำได้โดยนำไปทิ้งลงถังขยะ และให้เทศบาลนำไปกำจัด  ร้อยละ  30.0  
เมื่อพิจารณาความรู้ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า  ส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอยู่ในระดับสูง  ร้อยละ  88.0    รองลงมาอยู่ในระดับปานกลาง  ร้อยละ  8.0 ดังรายละเอียดใน (ตารางที่ 1)

3. ทัศนคติเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย  ผลการศึกษาพบว่า  กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติด้านบวกเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยสูงสุด  2  อันดับแรก  คือ  การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักสามารถลดขยะได้  ร้อยละ  100.0  รองลงมา  คือ  หลอดไฟนีออนที่เสียแล้วไม่ควรทิ้งรวมกับขยะอื่นๆ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้  ร้อยละ  98.0  ส่วนกลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติด้านลบมากที่สุด  คือ  การรณรงค์ให้เลิกใช้โฟมในการบรรจุอาหารเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมร้อยละ  92.0 รองลงมาคือ   การแยกขยะมูลฝอยโดยวิธีการแยกขยะเป็นถังขยะแห้ง ถังขยะเปียก  ถังอันตราย รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุ่งยาก ร้อยละ  82.0 

ตารางที่ 2 จำนวนและร้อยละของกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามระดับทัศนคติเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย

4. พฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย ผลการศึกษาพบว่า  กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการปฏิบัติตัวในเรื่องการกำจัดขยะมากที่สุด  2  อันดับแรก  คือ  เก็บรวบรวมขยะรีไซเคิลไว้ขาย เช่น ขวดแก้ว กระป๋อง  ร้อยละ  90.0  รองลงมา  คือ  เก็บขยะมูลฝอยใส่ถุงและมัดปากถุงนำไปทิ้งในถังขยะที่ทางเทศบาล/อบต.จัดไว้ให้  ร้อยละ  86.0  กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการปฏิบัติน้อยที่สุด  คือ กำจัดกระป๋อง ขวดแก้ว โดยการเผาเพียงร้อยละ 4.0 

ตารางที่ 3 จำนวนและร้อยละของกลุ่มตัวอย่าง  จำแนกตามระดับการปฏิบัติในการการกำจัดขยะในครัวเรือน

5. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการปฏิบัติตนในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย ผลการศึกษาพบว่า  อายุ  เพศ  สถานภาพ  ระดับการศึกษา  อาชีพ  ตำแหน่ง  รายได้    ความรู้  ทัศนคติ  ไม่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการปฏิบัติตนในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย  ดังแสดงใน (ตารางที่ 4)


6. การพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม    ดังนี้
1) ศึกษาบริบท สภาพปัญหา โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอมเปิดให้บริการบ้านเด็กเล็ก กายภาพบำบัด และการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตั้งแต่วันที่  1 กุมภาพันธ์ 2561 และประสบปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลและการจัดการขยะที่ยังไม่เป็นระบบมากนัก จากการสำรวจข้อมูลประเภทและปริมาณขยะในโรงพยาบาล พบว่า ส่วนใหญ่เป็นขยะทั่วไป ร้อยละ 55.52 รองลงมา คือ ขยะเปียก ร้อยละ 42.01 ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่มีโครงการรณรงค์ลดขยะและคัดแยกขยะ  กำจัดขยะโดยองค์การบริหารส่วนตำบลดงลาน และขยะเปียกไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด

2) รูปแบบการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยตามแนวทางประชารัฐมีลำดับขั้นตอน  ดังนี้ 
2.1) การวิเคราะห์บริบท สภาพปัญหาและศักยภาพการจัดการขยะมูลฝอยของโรงพยาบาล พบว่า มีผู้รับผิดชอบ คือ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมุ่งหมายในการอบรมให้ความรู้  สร้างความตระหนัก  และเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะมูลฝอยแก่พนักงานทำความสะอาดของโรงพยาบาลเพื่อเป็นแกนนำการจัดการขยะในโรงพยาบาล 
2.2) การเสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรในการจัดการขยะมูลฝอยโดยการจัดอบรมให้ความรู้การจัดการและการคัดแยกขยะแก่บุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม  
2.3) รณรงค์สร้างจิตสำนึกบุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม ตามแนวคิด 3Rs–ประชารัฐ คือ การลดปริมาณขยะจากแหล่งต้นทาง (Reduce) เช่น ใช้ปิ่นโต  ลดการใช้โฟม ถุงพลาสติก การประชุมในหน่วยงาน  ให้นำแก้วน้ำส่วนตัวมาใช้ การใช้ซ้ำ (Reuse) เช่น  ใช้กระดาษสองหน้า และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เช่น คัดแยกขวดพลาสติก กระป๋องนำไปขาย เพิ่มรายได้
2.4) พัฒนาศักยภาพบุคลากร การส่งเสริมการเลี้ยงไส้เดือน ทำน้ำหมักชีวภาพ และนำขยะเปียกมาทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร  ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะอินทรีย์ลงได้  ร้อยละ 54.11

ผู้วิจัยขออภิปรายผลการวิจัย  ตามวัตถุประสงค์การวิจัย ดังนี้
1. ความรู้เกี่ยวกับเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยอยู่ในระดับสูง  ร้อยละ  88.0  และระดับปานกลาง  ร้อยละ  8.0 ตามลำดับ  ผลการศึกษาในครั้งนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ  บุษลักษณ์  ทัพขวา  และมาลิณี  นาไชย (2555)  ที่ศึกษาความรู้  ทัศนคติ  และพฤติกรรมในการจัดการขยะมูลฝอยของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยตามรายข้อแตกต่างกัน อธิบายได้ว่า  ความรู้เป็นพื้นฐานในการจัดการขยะมูลฝอย  ถ้ามีความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยมากโอกาสในการเกิดปัญหาขยะมูลฝอยกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะน้อย  จากผลการศึกษา  พบว่า   กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องการนำขยะมูลฝอย เช่น เศษอาหาร เศษพืชผัก มาทำปุ๋ยหมัก จัดเป็นวิธีการหนึ่งในการลดปริมาณมูลฝอยที่จะต้องกำจัดและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  ร้อยละ  100

2. ทัศนคติเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยของกลุ่มตัวอย่าง  ผลการศึกษา พบว่า  มีทัศนคติเรื่องการจัดการขยะ    มูลฝอยอยู่ในระดับสูง  และระดับปานกลาง  ร้อยละ  94.0  และ  6.0 เท่านั้น  เมื่อพิจารณาจากการตอบแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าการนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักสามารถลดขยะได้  ร้อยละ  100.0  นอกจากนั้นยังมีความเห็นว่าการรณรงค์ให้เลิกใช้โฟมในการบรรจุอาหารเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมร้อยละ 92.0  สามารถลดปัญหาปริมาณขยะพลาสติกได้  สอดคล้องกับผลการศึกษาของ บุษลักษณ์  ทัพขวา  และมาลิณี  นาไชย (2555) ที่ศึกษาความรู้  ทัศนคติ และพฤติกรรมในการจัดการขยะมูลฝอยของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผลการศึกษา พบว่าด้านทัศนคตินักศึกษามีความพึงพอใจระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ  3.37 และสอดคล้องกับผลการศึกษาของยศภัทร ยศสูงเนิน และคณะ (2558) ได้ศึกษาพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน เทศบาลตำบลโคกกรวด ที่พบว่า ทัศนคติการจัดการขยะมูลฝอยอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 58.72

3. พฤติกรรมการปฏิบัติตนในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย อยู่ในระดับปานกลางและระดับสูง ร้อยละ  76.0  และ 24.0 ตามลำดับ  พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการปฏิบัติตนในการเก็บรวบรวมขยะรีไซเคิลไว้ขาย เช่น ขวดแก้ว กระป๋อง  เป็นประจำ  ร้อยละ  90.0 สอดคล้องกับ  ผลการศึกษาของ จรรยา ปานพรม  (2554) ที่ศึกษาการมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะมูลฝอยของครัวเรือน : เทศบาลตำบลคลองจิก อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ผลการศึกษาพบว่า  ประชาชนที่มีเพศ อายุ การศึกษาที่แตกต่างกันมีส่วนร่วมและพฤติกรรมในการคัดแยกขยะมูลฝอยที่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05

4. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย ผลการศึกษา พบว่า อายุ เพศ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ ตำแหน่ง รายได้ ความรู้ ทัศนคติ ไม่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการปฏิบัติตนในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย  แตกต่างกับผลการศึกษาของวิรวัลย์ แก้วบุญชู (2562) ที่ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการคัดแยกขยะมูลฝอยในครัวเรือน กรณีศึกษา เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมการคัดแยกขยะมูลฝอยในครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ เพศ อายุ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงลบ กับพฤติกรรมการคัดแยกขยะมูลฝอยในครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05 ได้แก่ ระดับการศึกษา อาชีพ

5. การพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม อ้างถึงผลการศึกษาของ อิสรภาพ มาเรือน (2556) ได้ศึกษารูปแบบการจัดการขยะที่สอดคล้องกับภูมิสังคมของชุมชนชาวเขาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ตำบลป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน  พบว่า รูปแบบการจัดการขยะของชุมชนชาวเขาประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์ปัญหาและศักยภาพของชุมชน 2) การพัฒนาสมรรถนะแกนนำชุมชน 3) การนำโครงการไปสู่การปฏิบัติ 4) การประเมินผล ซึ่งพบว่า ชุมชนมีการปรับทัศนคติและพฤตินิสัยในการจัดการขยะที่ถูกต้อง มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องไปสู่กิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ส่งผลทำให้ปริมาณขยะหลังการดำเนินการลดลง ร้อยละ 39.37

จากผลการวิจัยผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
1. จากการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการปฏิบัติตนในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น  ควรส่งเสริมสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการและคัดแยกขยะ  มูลฝอยอย่างต่อเนื่อง  จัดให้มีการรณรงค์ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงประโยชน์ของการจัดการและคัดแยกขยะมูลฝอยแก่บุคลากร และประชาชนผู้มารับบริการ
2. ควรประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม  สาขาโรงพยาบาลร้อยเอ็ด  เข้าร่วมโครงการลดขยะมูลฝอย  การจัดการและคัดแยกขยะมูลฝอย