นับตั้งแต่ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชิ้นแรก ๆ ที่เข้าสู่ตลาดในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน ช่วงเวลาผ่านมาไม่ถึงร้อยปี เรามีขยะพลาสติกกองสุมอยู่ทั่วโลก ขยะมากมายผุกร่อนปนเปื้อนอยู่ทั้งบนบก และในน้ำ ในปี 2021 มีการประมาณว่ามีขยะพลาสติกหลุดรอดลงสู่มหาสมุทรอย่างน้อยปีละ 10 ล้านตัน โดยขยะกว่าครึ่งที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลมาจากประเทศในอาเซียน ขยะพลาสติกในทะเลอาจถูกทิ้งลงสู่ทะเลโดยตรง หรือทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง หรือแม้แต่การทิ้งบนบกอย่างไม่เหมาะสมแล้วถูกพัดพาลงสู่แหล่งน้ำในที่สุด ขยะเหล่านี้ย่อยสลายผ่านกลไกร่วมกันทั้งจากแรงทางกายภาพ แสงแดด และความร้อน ทำให้มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ และยากเหลือเกินที่จะสลายอย่างสมบูรณ์จนกลับกลายเป็นก๊าซ
เป็นที่ทราบกันว่าพลาสติกนั้นต้องอาศัยเวลาในการย่อยสลายตามธรรมชาติมากกว่าร้อยปี นั่นหมายความว่า ขยะพลาสติกชิ้นแรก ๆ ของโลก หากถูกกำจัดไม่ถูกวิธีและหลุดรอดเข้าสู่สิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ย่อยสลายหายไปไหน ขยะชิ้นใหญ่ที่ยังคงรูปทรงหลายแบบกลายเป็นที่พันรัดกักขังสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ขยะชิ้นโตอาจกลายเป็นสิ่งอุดตันลำไส้ของสัตว์ชนาดใหญ่ ขยะที่แตกย่อยเล็กลงก็ยังไปอุดตันทางเดินอาหารของสัตว์ขนาดเล็ก แม้แต่ขยะพลาสติกที่แตกเล็กจนมองไม่เห็นก็สามารถไปอุดตันสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็น หรือแม้แต่เล็กจนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศ และสร้างความเสี่ยงในห่วงโซ่อาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันเราพบแล้วว่า ต่อให้เราไม่ได้กินขยะพลาสติกเข้าไปโดยตรง ขยะพลาสติกที่ผุพังจนกลายเป็นพลาสติกขนาดจิ๋วที่เรียกว่าไมโครพลาสติก ก็ย้อนกลับมาส่งผลกับตัวเรา ไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ อากาศ และอาหาร ปะปนเข้าสู่ร่างกาย ติดค้างอยู่ในอวัยวะภายใน และส่งผลเสียต่อสุขภาพในที่สุด การเดินทางของขยะพลาสติกที่ออกจากมือเราจึงมาสิ้นสุดยังจุดเริ่มต้นนั่นเอง เช่นนั้นแล้ว การลดการใช้พลาสติก การใช้พลาสติกให้เหมาะสมและคุ้มค่า การทิ้งพลาสติกใช้แล้วให้ถูกวิธี เป็นหนทางที่จะลดปัญหาเหล่านี้ลงได้ ทั้งนี้ด้วยพฤติกรรมและความรู้ความเข้าใจของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไก นโยบาย และกฏหมาย ที่สามารถควบคุมการใช้พลาสติกและการจัดการขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ กระนั้นแล้ว เส้นทางนี้สำหรับประเทศไทยกลับดูเหมือนจะยังนานและยาวไกลเหลือเกิน