เรื่องจากปก: โคพีพอด (Copepods) รากฐานของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศแหล่งน้ำ


โคพีพอดเป็นหนึ่งในแพลงก์ตอนสัตว์ ที่มีความสำคัญมากในระบบนิเวศแหล่งน้ำ กล่าวคือ มีจำนวน ชนิดและปริมาณมาก มีความหลากหลายของสายพันธุ์สูง ลักษณะคล้ายคลึงและอยู่ในตระกูลเดียวกับ กุ้ง ไรน้ำ [1] มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง สามารถพบโคพีพอดในแหล่งน้ำทั่วไปของไทย ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โคพีพอดถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ๆ เช่น การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ปลาทะเล กุ้งสวยงาม โดยมีความสำคัญเป็นอย่างมากในห่วงโซ่อาหาร เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน ทั้งลูกกุ้ง ลูกปลา เป็นตัวบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศตามธรรมชาติของแหล่งน้ำนั้น ๆ [2, 3] จากภาพ โคพีพอดสปีชีส์ Apocyclops royi เป็นแพลงก์ตอนถาวรที่อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำลำตัวค่อนข้างใส มีรูปร่างทรงกระบอก รูปไข่หรือรูปกระบอง ลำตัวแบ่งเป็นปล้อง และมีรยางค์ ลำตัวจะประกอบด้วยปล้อง จำนวน 16-17 ปล้อง โคพีพอดมีรยางค์ทั้งหมด 11 คู่ โคพีพอดจะมีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ (Metamorphosis) เพื่อพัฒนาขนาดและรูปร่าง ภายหลังจากที่ฟักออกจากไข่จะมีการลอกคราบประมาณ 10 ครั้ง ใช้ระยะพัฒนาตั้งแต่ระยะนอเพลียส (ตัวอ่อน) ถึงตัวเต็มวัย 15-16 วัน โดยตัวเต็มวัยมีขนาดประมาณ 600 ไมโครเมตร สามารถสังเกตเห็นระบบสืบพันธุ์ที่แบ่งแยกเพศผู้เพศเมียจากกันได้ชัดเจน [1, 3, 4]