เรื่องจากปก: "พืชน้ำ" ความสำคัญต่อระบบนิเวศ
แหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ของพรรณไม้น้ำต่าง ๆ อย่างมากมาย คนไทยใช้ประโยชน์จากพืชน้ำหลายชนิดเป็นพืชผักที่บริโภคในชีวิตประจำวัน ใช้ประดิษฐ์เป็นเครื่องจักสาน เช่น กก ผักตบชวา นำมาทำเสื่อ หรือกระเป๋า บ้างใช้เป็นอาหารสัตว์ และเลี้ยงเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว เช่น จอก แหนแดง พรรณไม้น้ำบางชนิดมีความสวยงามแปลกตาจึงมีการเพาะขยายพันธุ์เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการจัดประดับตู้ปลาและสวนไม้น้ำ นอกจากนี้ความหลากหลายของชนิดพรรณไม้น้ำที่ขึ้นอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงต่าง ๆ ยังทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้มีความสวยงามเป็นที่น่าประทับใจ จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง เช่น บึงบอระเพ็ด ทะเลน้อย กว๊านพะเยา เป็นต้น
วิธีธรรมชาติดังกล่าว ถูกนำมาปรับใช้ในบำบัดน้ำเสียของโครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ เมื่อวันที่ 15 เมษายน และวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2528 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปรับปรุงบึงมักกะสันโดยให้มีการทดลองกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (filtration) ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วนี้ มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก รวมทั้งสารพิษจากน้ำเน่าเสีย โดยทรงเน้นให้ทำการปรับปรุงอย่างประหยัด และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ซึ่งสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระองค์ครั้งนั้นได้ช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ และเป็นแบบอย่างในการจัดการปัญหาน้ำเน่าเสียในแหล่งน้ำหรือลำคลองอื่น ๆ ต่อไป
ประเทศไทยมีสภาพทางกายภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชน้ำ จึงทำให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชน้ำที่เป็นทรัพยากรให้เราได้ใช้ประโยชน์อย่างมากมาย แต่ปัจจุบันการพัฒนาแหล่งน้ำที่ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยทางนิเวศวิทยา ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณของพืชน้ำลดลง หรือกรณีที่ทำให้พืชน้ำมีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชที่สร้างความเสียหายให้กับแหล่งน้ำ ซึ่งในที่สุดผลที่ตามมาก็จะทำให้ธรรมชาติของแหล่งน้ำเสียสมดุลไปได้