การอ้างอิง: วาสินี เกียรติอดิศร, สุรัตน์ มงคลชัยอรัญญา, นันท์มนัส แย้มบุตร. (2564). ทดสอบกากของเสียปรอทจากเปลือกอะมัลกัมที่ใช้งานแล้ว (Experimental Study of Mercury Waste from Disposable Amalgam Capsule). วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 4).
บทความ: ทดสอบกากของเสียปรอทจากเปลือกอะมัลกัมที่ใช้งานแล้ว (Experimental Study of Mercury Waste from Disposable Amalgam Capsule)
อะมัลกัมมีส่วนผสมของโลหะหนักโดยเฉพาะปรอทที่มีผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม อะมัลกัมเป็นวัสดุอุดทางทันตกรรมที่ใช้ในการบูรณะฟันอย่างแพร่หลายในสถานบริการทันตกรรม เพื่อการกำจัดอะมัลกัมอย่างถูกวิธีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ทดสอบปริมาณองค์ประกอบของธาตุโลหะหนักโดยเฉพาะสารปรอท (Hg) ที่ค้างอยู่ในวัสดุอุดทางทันตกรรมสำหรับใช้เป็นแนวทางการจัดการของเสียอะมัลกัมตามมาตรฐานให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตามมาตรการของประกาศกระทรวงสาธารณสุข การจัดการมูลฝอยเป็นพิษและอันตรายในชุมชนพ.ศ. 2563 และมาตรการของกรมควบคุมมลพิษ
อะมัลกัมเป็นวัสดุอุดทางทันตกรรมที่ยังคงใช้ในการบูรณะฟันอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีราคาไม่แพงมีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดี มีความทนทานสูง และใช้งานไม่ยาก [1] อะมัลกัมที่ใช้ทางทันตกรรมเป็นการผสมโลหะอัลลอย (Alloy) เข้ากับปรอท (Mercury : Hg) วัสดุชนิดนี้จึงเป็นส่วนผสมของสารประกอบโลหะหลายชนิด เช่น เงิน ดีบุก ทองแดง เป็นต้น เมื่อผสมกับปรอท ทำให้เกิดปฏิกิริยาก่อตัวของวัสดุ ทนต่อแรงกดและแรงดึงได้ คุณสมบัติการกร่อน (Corrosion) ของอะมัลกัมทำให้เกิดออกไซด์ซึ่งช่วยเสริมความแนบกับผนังโพรงฟันและป้องกันการผุซ้ำได้เป็นอย่างดี โดยอะมัลกัมมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนรูปร่างเมื่อผ่านการใช้งานไปเป็นเวลานานที่เรียกว่าการคืบ (Creep) ส่งผลให้วัสดุไม่มีผลเสียต่อฟันมาก (Forgiving) เพราะเปลี่ยนรูปร่างได้บ้างตามแรงการบดเคี้ยวที่กระทบลงมา อะมัลกัมจึงยังเป็นตัวเลือกในการบูรณะฟันและให้ความทนทานแข็งแรง [2]
เนื่องจากอะมัลกัมมีส่วนผสมของปรอทและปรอทมีผลประทบต่อร่างกายทั้งทางระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพทางดิน น้ำ และอากาศ ปรอทเป็นโลหะหนักที่มีการนำมาใช้ทั้งในอุตสาหกรรม ชีวิตประจำวัน และปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมมานาน โดยเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง ได้แก่ การสูดดม ผิวหนังหรือทางตา และทางปาก เมื่อรับสารปรอทจากการหายใจ อากาศที่ปนเปื้อนจะเข้าสู่ปอดและเข้าสู่กระแสเลือด ไปตามอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะสมองและไต ปรอทในรูปของโลหะจะคงอยู่เป็นสัปดาห์หรือเดือนในอวัยวะทั่วไป แต่เมื่อปรอทเข้าสู่สมองจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของสารประกอบอนินทรีย์และคงอยู่ในสมองเป็นเวลานานเป็นปี ปรอทสามารถเข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ เมื่อมารดาตั้งครรภ์ได้รับไอปรอทในอากาศปรอทจะสามารถแพร่ผ่านรกสู่ทารกในครรภ์ได้ เนื่องจากพบว่าเมื่อทารกคลอดออกมาพบปรอทในกระแสเลือด [5]
ในการจัดการขยะที่เป็นโลหะต้องพิจารณาจากกฎกระทรวงอุตสาหกรรม กฎกระทรวงสาธารณสุข และมาตรการของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอะมัลกัมมีส่วนผสมของปรอทเกือบครึ่งหนึ่งของน้ำหนักทั้งหมด ถ้าพิจารณาตามเกณฑ์การจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ต้องพิจารณาจากค่าองค์ประกอบของสิ่งเจือปนที่ระบุไว้ นั้นคือค่า “Total Threshold Limit Concentration (TTLC) หมายถึง “ส่วนประกอบของสารอนินทรีย์อันตรายและสารอินทรีย์อันตรายในหน่วยมิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมของสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Total concentration) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่าค่าตามมาตรฐานการจัดการกากของเสีย ในการจัดการสิ่งปฏิกูลชนิดนั้น ๆ ของเสียชนิดนั้นจะจัดอยู่ในประเภทของเสียอันตราย (Hazardous waste)” และกฎหมายได้กำหนดค่าปรอท และ/หรือสารประกอบปรอทไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (Mercury and/or Mercury compounds) และการจัดการของเสียอันตรายตามกฏกระทรวง เรื่อง การจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 มีความแตกต่างจากการจัดการของเสียทั่วไปหรือมูลฝอยชนิดอื่น ๆ ได้แก่ การนำไปรีไซเคิลที่บริษัทรับรีไซเคิลปรอทที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย นำไปเผาด้วยเตาเผาอุณหภูมิความร้อนสูงตั้งแต่ 800 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือทำการผังกลบอย่างปลอดภัย (Secured Landfill ) [6,7]
การดำเนินงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบปริมาณปรอทที่ตกค้างในแคปซูลอะมัลกัม หลังจากการใช้งานว่ามีปริมาณคงค้างของปรอทในเปลือกอะมัลกัมเท่าไร จากการวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุในเปลือกอะมัลกัม
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง: เปลือกแคปซูลอะมัลกัมที่ใช้ในคลินิกทันตกรรมในสถานบริการนำร่องที่เข้าร่วมทดสอบแนวทางการจัดการขยะติดเชื้อ และขยะปนเปื้อนปรอท ในปี 2564 ได้แก่
1. คลินิกส่งเสริมช่องปากและทันตกรรมป้องกัน สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย
2. คลินิกทันตกรรม โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
3. คลินิกเอกชน ในจังหวัดนนทบุรี 2 แห่ง
โดยทำการสุ่มตัวอย่าง แบบ Purposive Sampling ประกอบด้วยแคปซูลอะมัลกัมที่ใช้งานแล้ว จำนวน 4 ยี่ห้อ ยี่ห้อละ 3 แคปซูล ต้องไม่เป็นยี่ห้อที่ซ้ำกัน เพื่อทดสอบวิเคราะห์ค่าโลหะปรอทหรือสารปรอทตกค้างในเปลือกหลังใช้งาน
1. ทบทวนเอกสารที่เกี่ยวกับการจัดการของเสียอุตสาหกรรมและการกำจัดของเสียอันตราย และคุณสมบัติของอะมัลกัมที่ใช้ในการอุดฟัน
2. เก็บตัวอย่างแคปซูลอะมัลกัม จาก 4 สถานที่ ได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ คลินิกทันตกรรมที่กรมอนามัย และคลินิกเอกชนในจังหวัดนนทบุรี 2 แห่ง
3. นำแคปซูลอะมัลกัมจาก 4 สถานที่ โดยนำมาที่ละ 3 แคปซูล มารวบรวมและติดฉลากเป็นยี่ห้อ A, B, C, D โดยมีระยะเวลาในการเก็บตัวอย่าง 1 เดือน
4. ส่งแคปซูลไปทดสอบวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุ โดยวิธีทดสอบที่ใช้ คือ Micro–EDXRF (EDAX Model Orbis PC) ซึ่งเป็นการทดสอบด้วยการเรืองแสงของรังสีเอกซ์ (Micro Energy Dispersive X-ray Fluorescence) โดยเป็นเทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุ ตั้งแต่ธาตุโบรอน (Br) ถึงธาตุยูเรเนียม (U) ในวัสดุของแข็งในพื้นที่ระดับต่ำกว่าไมโครเมตร และช่วยวิเคราะห์การกระจายตัวของธาตุและแสดงเป็นแผนที่ (Mapping) ได้ และวัดปริมาณธาตุได้ต่ำสุดร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก (wt.%) การทดลองนี้เป็นการสุ่มเปลือกอะมัลกัมแต่ละชนิดทั้งหมด 3 จุดต่อยี่ห้อ มาทำการทดสอบที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ :สวทช. (NSTDA Characterization and Testing Service Center: NCTC) เพื่อทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุ โดยวิธีนี้เป็นการคัดกรองธาตุเบื้องต้น ดังนั้นผลการทดสอบที่ได้ จะทำให้ทราบได้เพียงปริมาณมากหรือน้อยของธาตุในสารตัวอย่าง เมื่อมีการเทียบเป็นร้อยละ 100 โดยน้ำหนักเท่านั้น
5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้เป็นสถิติทดสอบ โดยกลุ่มตัวอย่างนำมาวิเคราะห์ธาตุปรอทคงค้าง เพื่อเปรียบเทียบร้อยละองค์ประกอบโลหะหนัก โดยแจกแจงธาตุต่าง ๆ ในอะมัลกัมยี่ห้อ A, B, C, D
จากการวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุด้วยการส่องด้วยเทคนิค Micro ED -XRF มีองค์ประกอบของธาตุโลหะหนักที่พบค้างในเปลือกอะมัลกัม ได้แก่ เงิน สังกะสี ไทเทนียม ทองแดง ปรอท แคดเมียม และดีบุก โดยโลหะหนักที่เป็นพิษที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมนอกจากปรอทที่พบในเปลือกอะมัลกัมหลังการใช้งานคือธาตุแคดเมียม (Cd) โดยการทดลองนี้ได้แบ่งประเภทอะมัลกัมออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ อะมัลกัมชนิดแคปซูลสำเร็จรูป และอะมัลกัมชนิดเม็ด โดยอะมัลกัมชนิด A, B และ D ซึ่งเป็นอะมัลกัมชนิดแคปซูลสำเร็จรูป มีค่าปรอท (Hg) คงค้างดังนี้ ในเปลือกอะมัลกัมยี่ห้อ A ร้อยละ 4.65 คิดเป็น 156 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในเปลือกอะมัลกัมยี่ห้อ B ร้อยละ 1.67 คิดเป็น 879 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่อะมัลกัมแคปซูลยี่ห้อ D ถึงแม้จากการสุ่มจะไม่พบปรอทเป็นส่วนผสม แต่พบว่าเปลือกของแคปซูลยี่ห้อ D มีโลหะหนักแคดเมียม (Cd) เป็นส่วนผสมถึงร้อยละ 17.9 ของน้ำหนักอะมัลกัมทั้งหมด (คิดเป็น 366.37 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ส่วนในเปลือกอะมัลกัมชนิดเม็ด (Tablet amalgam) พบปรอทคงค้างในเปลือกมากที่สุดถึงร้อยละ 32.98 (ปริมาตร 2776.54 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) (ตามตารางที่ 1)
การศึกษานี้เป็นการเปรียบเทียบค่าปรอทที่หลงเหลืออยู่ในเปลือกแคปซูลหลังจากใช้งานแล้ว เพื่อประเมินปรอทส่วนเกินที่ค้างสำหรับการจัดการขยะที่ถูกต้องตามกฎกระทรวงและมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ จะเห็นว่า อะมัลกัมชนิดแคปซูลมีค่าปรอทค้างประมาณ 156.14 ถึง 879.10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และอะมัลกัมชนิดเม็ดมีค่าปรอทคงค้างมากกว่าถึง 2,776.54 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากการสุ่มตรวจด้วยวิธี Micro ED XRF ซึ่งอนุมานได้ว่าปรอทคงค้างในเปลือกแคปซูลมีค่าเกินมาตรฐานกระทรวงอุตสาหากรรมในการกำจัดกากของเสียและสิ่งปฏิกูล โดยกำหนดไว้ที่ปรอทต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากปรอทแล้วยังพบแคดเมียมในเปลือกแคปซูลมากถึง 366.37 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มาตรฐานกำหนดไว้ 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) จึงอนุมานได้ว่าเปลือกอะมัลกัมเป็นกากของเสียอันตราย [6] โดยมีข้อถกเถียงในการจัดการเปลือกอะมัลกัมในหลาย ๆ ประเทศขึ้นอยู่กับกฏระเบียบการจัดการขยะอันตรายของประเทศนั้น ๆ ในประเทศไอร์แลนด์เปลือกอะมัลกัมที่ใช้งานแล้วจะถูกเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่มีฝาปิดสนิทและรวมกับของเสียอะมัลกัมชนิดอื่น ๆ โดยสุดท้ายส่งไปกำจัดอย่างน้อย 3 ปีต่อครั้งตามรูปแบบขนส่ง Waste Transfer Form (WTF) [11] แต่ในประเทศแคนาดาได้จัดทำแนวทางปฏิบัติในการจัดการขยะอะมัลกัม โดยเปลือกอะมัลกัมแคปซูลที่ว่างเปล่า (Empty amalgam capsule) จะถูกส่งไปกับขยะทั่วไปหรือขยะรีไซเคิล ส่วนเปลือกอะมัลกัมที่แตกหรือรั่วจะถูกจัดเป็นประเภทขยะอันตราย [12] ส่วนในประเทศไทยควรยึดตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกําจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 คือจัดเป็นประเภทกากของเสียอันตราย
ปรอทที่พบในธรรมชาติมีหลาย ๆ รูปแบบได้แก่ ธาตุปรอท (โลหะ) ปรอทรูปแบบอนินทรีย์ และปรอทรูปแบบอินทรีย์ ได้แก่ Methylmercury และ Ethyl Mercury โดยปรอทในรูป Methymercury เป็นรูปแบบที่เป็นพิษมากที่สุดต่อสิ่งมีชีวิต การได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลเสียทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ในการบริโภคปลา สัตว์น้ำ หรืออาหารทะเลในรูปแบบต่าง ๆ ที่ปนเปื้อน Methylmercury ถือเป็นแหล่งการปนเปื้อนหลักของปรอทในมนุษย์ และมีแนวโน้มที่จะสะสมผ่านห่วงโซ่อาหาร แม้ไม่พบหลักฐานของรูปแบบธาตุของปรอทในลักษณะนี้ในอะมัลกัมทางทันตกรรม เนื่องจากอะมัลกัมทางทันตกรรมเป็นปรอทรูปแบบที่เสถียร และไม่มีผลเสียต่อมนุษย์ที่มีวัสดุอุดฟันชนิดนี้ในช่องปาก แต่ถ้าผู้ช่วยทันตแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดในคลินิกทันตกรรมทิ้งเศษอะมัลกัม หรือเปลือกอะมัลกัมลงไปในท่อระบายน้ำ หรือมูลฝอยชนิดอื่น ๆ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางอ้อม โดยปรอททางทันตกรรม จะถูกเปลี่ยนให้เป็น Methylmercury ด้วยจุลชีพที่อยู่ในแหล่งน้ำ (Aquatic microbes) โดยสะสมไปกับห่วงโซ่อาหาร และทำให้ชุมชนได้รับปรอทจากการทิ้งของเสียอะมัลกัมผิดวิธี เช่น ปรอทจากเปลือกแคปซูล เศษอะมัลกัมที่เกิดจการกรอรื้อ เศษอะมัลกัมที่ยังปั่นไม่สมบูรณ์ทำให้ปรอทไม่อยู่ในรูปแบบเสถียร หรือถ้าเอาไปเผากับมูลฝอยทั่วไป ก็จะทำให้ไอปรอทระเหยสู่สิ่งแวดล้อมในชั้นบรรยากาศเช่นกัน [14]
สำหรับการจัดการของเสียที่มีปรอทปนเปื้อนในประเทศไทย ควรยึดมาตรการของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดการมูลฝอยเป็นพิษและอันตรายในชุมชน พ.ศ. 2563 และมาตรการของกรมควบคุมมลพิษ โดยการกำจัดของเสียปรอทจะอยู่ในหมวดยาและเวชภัณฑ์ตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประโยชน์ในการเก็บมูลฝอย โดยให้ผู้ซึ่งก่อให้เกิดมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายคัดแยกมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนออกจากมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยติดเชื้อตามประเภท โดยแนวทางการจัดการของเสียอะมัลกัม ทันตบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรทำการคัดแยกและเก็บรวบรวมมูลฝอยอันตรายไว้ที่จุดพักของขยะอันตรายของโรงพยาบาล โดยแยกออกจากขยะชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารอันตรายและการทำปฏิกิริยาเคมีกัน นอกจากนี้ไม่ควรทิ้งอะมัลกัมที่ผ่านการใช้งานไม่ว่าจะเป็นเปลือก หรืออะมัลกัมที่ผ่านการสัมผัสในช่องปากสู่ท่อระบายน้ำ แหล่งน้ำสาธารณะ บนพื้นดิน หรือเผาขยะเหล่านี้ด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของปรอทและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของชุมชน [16]
ควรมีการกำจัดเปลือกอะมัลกัมอย่างถูกวิธี และไม่ควรทิ้งปะปนกับมูลฝอยชนิดอื่น ๆ เช่น มูลฝอยติดเชื้อ หรือมูลฝอยทั่วไป เนื่องจากมีองค์ประกอบของปรอทปนเปื้อนค่อนข้างสูงเมือเทียบกับร้อยละน้ำหนัก หลังจากปั่นใช้งาน โดยการจัดการกำจัดเปลือกอะมัลกัมควรสอดคล้องกับประกาศกระทรวง เรื่อง การจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 และ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกําจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 ในหมวด 18 สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากการสาธารณสุขสําหรับมนุษย์และสัตว์ รวมถึงการวิจัยทางด้านสาธารณสุข
ขอขอบคุณ ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิสาขาทันตสาธารณสุข ทันตแพทย์หญิง วรางคนา เวชวิธี ผู้อำนวยสำนักทันตสาธารณสุข ทันตแพทย์หญิง นนทินี ตั้งเจริญดี โรงพยาบาล สมุทรปราการ และ สสจ. สมุทรปราการ ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) ดร.จีรติ อบอาย ทันตแพทย์นาตยา ศรีพะลาน และ ทันตแพทย์ณัฐวุฒิ พุ่มมาลัย