อาจารย์ ดร. อุ่นเรือน เล็กน้อย
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่ภาพรวมแล้วพบว่า มีความเสื่อมโทรมลง ทั้งคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมลง สถานการณ์คุณภาพอากาศที่พบ ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ครอบคลุมในหลายจังหวัด ทั้งยังพบปัญหาในการจัดการขยะที่มีจำนวนขยะเกินค่ามาตรฐาน และขาดการกำจัดขยะที่ถูกต้อง (กรมควบคุมมลพิษ, 2559) ในขณะที่ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐยังคงมีข้อจำกัดอีกหลายประการ กอปรกับ ภาคประชาชนที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากภาคเศรษฐกิจที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ จึงขาดการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว
หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป จึงเป็นที่น่าคิดว่า ในอนาคตฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการสร้างการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมโดยภาคประชาชนสำหรับประเทศไทย เพราะความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นของประชาชนทุกคน การปฏิรูปการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างกลไกการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม จึงมีความจำเป็นต่อความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
สำหรับความหมายของการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมนั้น สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากภาพจำลองพระอาทิตย์และฝน ดังนี้
7 ขั้นตอนสำคัญของการสร้างการเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วมซึ่งเป็นข้อมูลจากเอกสารคู่มือการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน: แนวคิด วิธีการ และเครื่องมือ ของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agricultural Organization; FAO) (FAO, n.d.) ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
ขั้นแรก: อภิปรายถึงเหตุความจำเป็นของการเฝ้าระวังร่วมกัน
ขั้นที่สาม: ตั้งโจทย์ ในการเฝ้าระวัง
ขั้นตอนที่สี่ เป็นการกำหนดตัวชี้วัดที่จะทำการเฝ้าระวัง โดยในการกำหนดตัวบ่งชี้นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงตัวชี้วัดทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะทำให้สามารถตอบคำถามการเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นที่ห้า: ตัดสินใจเลือกเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลที่ต้องการ
ในการเก็บข้อมูลตัวบ่งชี้แต่ละตัว มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ผู้รับผิดชอบจำเป็นต้องเป็นคนที่มีทักษะเฉพาะ มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับข้อมูลและตัวบ่งชี้ในประเด็นนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลนั้นต้องมีเวลา ซึ่งในส่วนนี้อาจต้องมีการชดเชยสำหรับผู้ที่เสียสละ รวมถึงอาจนำเด็กและเยาวชนในชุมชนมาช่วยได้ โดยให้สิ่งจูงใจตอบแทน
ขั้นที่เจ็ด: วิเคราะห์ผลและนำเสนอผลการเฝ้าระวัง
ในการทบทวนข้อมูลกลไกการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยพบว่า นอกเหนือจากกลไกของหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มประชาสังคม (NGOs) ที่ถือว่า เป็นกลไกที่สำคัญแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญในการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกจัดตั้งโดยหน่วยงานรัฐ ในรูปแบบของอาสาสมัครภาคประชาชนซึ่งรู้จักกันดีในนาม “ทสม.” หรือ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (Natural Resources and Environmental Protection Volunteer; NEV) โดยมีระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ. 2550 เป็นกลไกรองรับและสนับสนุนการทำงานของ ทสม. และเครือข่าย ทสม. อย่างเป็นรูปธรรม (ระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ. 2558, 2558) โดยมีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการรับผิดชอบดูแลและสนับสนุนการทำงานของ ทสม.
ทสม. มีบทบาทเป็นผู้นำในการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในชุมชน และเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลและประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่น องค์กรชุมชน กับ หน่วยงานภาครัฐ รวมถึง การมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานของ ทสม. ถูกออกแบบให้เป็นการทำงานแบบเครือข่ายที่มีโครงสร้างชัดเจน โดยมีคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. เป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการบริหารจัดการ โดยเครือข่าย ทสม. แบ่งเป็น เครือข่ายระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ มีคณะกรรมการบริหารเครือข่ายและคณะกรรมการอำนวยการเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานของเครือข่ายในภาพรวม (รูปภาพที่ 1)
อย่างไรก็ดี จากรูปแบบการทำงานของเครือข่าย ทสม. ที่มีโครงสร้างอำนาจของการทำงานในแนวตั้งที่ค่อนข้างชัดเจน อาจเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างสำนึก “ความเป็นเจ้าของเรื่อง” และ “ความรับผิดชอบ” ให้เกิดขึ้นกับ “คนใน” ได้ ทั้งนี้ สอดคล้องกับรายงานการศึกษาการพัฒนาศักยภาพการทำงานด้านอาสาสมัครสิ่งแวดล้อมและการสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในระดับภูมิภาค ที่ระบุถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพของ ทสม. ที่ต้องเร่งดำเนินการในระยะต่อไป คือ
1) การปรับเชิงโครงสร้าง โดยกระจายอำนาจการบริหารในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น
2) การพัฒนาความรู้ ความสามารถเชิงวิชาการ เช่น การจัดฝึกอบรมทางวิชาการ การสร้างชุมชนอาสาสมัครต้นแบบ |
3) การยกระดับกระบวนทัศน์ต่องานอาสาสมัคร (อุ่นเรือน เล็กน้อย และคณะ, 2557)
จากข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอข้างต้น จึงนำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมสำหรับประเทศไทย โดยใช้กลไก ทสม. และเครือข่าย ทสม. ที่มีอยู่เดิม ดังนี้
1. พัฒนาให้ ทสม. เป็นกลไกในระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ในการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมประสานให้ ทสม. และเครือข่าย ทสม. เป็นภาคีการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. ปรับวิธีคิดและรูปแบบการทำงานของ ทสม. ให้มีมิติในแนวระนาบที่เท่าเทียมกันกับหุ้นส่วนความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งจากภายในเครือข่ายด้วยกันเอง และบุคคลภายนอก รวมทั้ง การเปิดเวทีให้เกิดการออกแบบกระบวนการทำงานที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติ ข้อจำกัด และศักยภาพของ ทสม. และบริบทของพื้นที่เอง
3. ขยายผลการนำ 7 ขั้นตอนการสร้างการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ลงสู่การทำงานในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ผ่านกลไก ทสม. ในพื้นที่ พร้อมกับ การขยายผลไปยังกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่น ทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นพลังทางสังคม
4. เสริมศักยภาพให้กับ ทสม. ให้เท่าทันกับสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมและความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเสริมศักยภาพในการสืบค้นข้อมูลผ่านเครือข่ายข้อมูลดิจิทัล (digital platform) ที่สามารถสร้างการเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้