บทความ: ภัยแล้ง - ความเสี่ยงและความท้าทาย การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออก
1 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 หลักสูตรการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ
3 กลุ่มวิจัยความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศและการรู้รับปรับฟื้น
4 หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม
* Email: Puntita.t@chula.ac.th
“น้ำ” เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของโลก รวมถึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน พร้อมทั้งการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง การขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ได้ส่งผลให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำภายในประเทศที่มีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความอยู่รอดของประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก ทำให้องค์การสหประชาชาติกำหนดให้การขาดแคลนน้ำเป็น “วาระเร่งด่วนของโลก”
เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออกในปัจจุบัน สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดการประชุมระดมสมอง เรื่อง “ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเปราะบางและการปรับตัวต่อภัยแล้งของชุมชน” เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 – 16.00 น. ผ่านทาง Zoom meeting โดยมีผู้ร่วมประชุมจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ มูลนิธิอีสต์ฟอรั่ม เครือข่ายรัฐชุมชนคนแปดริ้ว บ้านสวนต้นน้ำ จังหวัดระยอง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง อาจารย์ นักวิจัย ผู้สนใจจากภาคเอกชนและประชาชนร่วมหารือในการประชุม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากสถานการณ์ดังกล่าวมาหารือแลกเปลี่ยนระดมสมองเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป
จังหวัดระยอง เป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งติดทะเลอ่าวไทย มี 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำประแส และลุ่มน้ำคลองมะโหลก มีอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองกลาย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ซึ่งปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง โดยอ่างเก็บน้ำประแสจะมีการสูบน้ำส่งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และภาคอุตสาหกรรมด้วย จึงทำให้มีความต้องการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดความไม่สมดุลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ปริมาณน้ำในภาคเกษตรลดลง ประกอบกับเกษตรกรบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชสวนผลไม้ที่มีราคาดีกว่าพืชไร่ แต่ทว่าพืชสวนต้องการใช้น้ำในปริมาณมากกว่าพืชไร่ ทำให้ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ส่งผลทำให้เกษตรกรในจังหวัดระยองประสบปัญหาภัยแล้งแทบทุกปี โดยเบื้องต้นเกษตรกรได้มีการจัดการปัญหาด้วยตนเองก่อนที่จะพึงพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยมีการประยุกต์แนวคิดระบบนิเวศเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาน้ำแล้ง การปลูกไม้ยืนต้น เช่น ยางนา ตะเคียน เป็นต้น เพื่อให้มีการดูดและการกักเก็บน้ำและความชุ่มชื้นไว้ใต้ดิน ทำให้บรรเทาปัญหาน้ำแล้งในสวนผลไม้ได้บางส่วน
จังหวัดชลบุรี แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ตอนใน ได้แก่ อำเภอหนองใหญ่ อำเภอบ่อทอง และอำเภอเกาะจันทร์ ที่ติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง มีลักษณะพื้นที่ลาดเอียงสูงและเป็นพื้นที่เขา ส่วนพื้นที่ตอนนอกคือพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ลักษณะพื้นที่เป็นแบบลูกระนาด สถานการณ์น้ำในจังหวัดชลบุรีนั้นมีทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งบางส่วนแต่ไม่มีความรุนแรง เนื่องจากลักษณะของน้ำจะเป็นการมาเร็วไปเร็ว และจะเกิดในพื้นที่ต่ำที่เป็นร่องของลูกระนาด นอกจากนี้ จังหวัดชลบุรีเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำบางปะกง คือ คลองหลวง เริ่มตั้งแต่อำเภอบ่อทอง อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอพนัสนิคม และอำเภอพานทอง ไหลลงแม่น้ำบางปะกงที่อำเภอบ้านโป่ง (ทางคลองหลวง) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ คือ คลองส่งน้ำของกรมชลประทานที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากเดิมปล่อยน้ำตามธรรมชาติทำให้เกิดอัตราการสูญเสียน้ำค่อนข้างสูง หากดำเนินการแล้วเสร็จคลองหลวงแห่งนี้จะสามารถส่งน้ำไปยังคลองสียัดที่จะเข้าไปในเขตของชลประทานฉะเชิงเทราส่วนหนึ่งแต่จะอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดชลบุรี
จังหวัดชลบุรีมีพื้นที่เกษตรที่ใช้น้ำมากส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอพานทอง ส่วนพื้นที่เกษตรอื่น เช่น อำเภอศรีราชา อำเภอบ่อทอง เป็นต้น จะเป็นพื้นที่เกษตรน้ำน้อย เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา เป็นต้น ชาวนาในอำเภอพนัสนิคม และอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้ำแล้งไม่มาก เนื่องจากชาวนายังทำนาได้ปกติ และมีการลดจำนวนครั้งในการทำนาลง และในอำเภอหนองใหญ่ ไม่มีพื้นที่ชลประทาน อุตสาหกรรมเริ่มเข้าไปตั้งบริเวณนั้นมีการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เอง และมีพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำที่สำคัญของชลบุรี จะมีอยู่ 13 อ่างหลัก ๆ แต่แบ่งเป็น 6 กลุ่ม มีอ่างเก็บน้ำบางพระมีความจุ 117 ล้าน ลบ.ม. ณ วันนี้มีอยู่ 65 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำหนองคล้อมีความจุ 21 ล้าน ลบ.ม. อ่างขนาดเล็ก 5 อ่าง มีความจุ 39 ล้าน ลบ.ม. และอ่างคลองหลวงเป็นอ่างที่มีความจุรองลงมา 98 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้มีอยู่ 39 ล้าน ลบ.ม. และมี 4 อ่างโครงการพระราชดำริ มีความจุ 7.6 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 4.6 ล้าน ลบ.ม. โดยจะเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถแบ่งพื้นที่ออกได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำอยู่ที่อำเภอท่าตะเกียบ พื้นที่กลางน้ำอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม อำเภอบางน้ำเปรี้ยว และอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และพื้นที่ปลายน้ำอยู่ที่อำเภอบางปะกง โดยพื้นที่ต้นน้ำจะเป็นการทำการเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยวที่ปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา กับเชิงเดี่ยวชั่วคราว ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น นอกจากนี้จังหวัดฉะเชิงเทรายังเป็นจังหวัดที่มีอ่างเก็บน้ำใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกถึง 425 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังพบปัญหาในการบริหารจัดการน้ำในการส่งน้ำให้เพียงพอไปยังพื้นที่ปลายน้ำ ทำให้พื้นที่ปลายน้ำประสบปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากการสูบน้ำไปใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมจากพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง เพื่อไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดชลบุรี จึงทำให้ขาดแคลนน้ำใช้สำหรับภาคการเกษตรในจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งมีพื้นที่นาข้าวมากที่สุดในภาคตะวันออก
จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออกในปัจจุบันยังคงมีความเสี่ยงต่อภาวะภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ในส่วนต่อไปของบทความนี้จะกล่าวถึง (1) ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปราะบางต่อภัยแล้งในหลายมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (2) ผลกระทบภัยแล้งของชุมชนในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออก (3) การปรับตัวของชุมชนต่อภัยแล้งในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออก และ (4) แนวทางการป้องกันและบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออก ซึ่งเป็นการสรุปจากเนื้อหาการประชุมระดมสมอง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปราะบางต่อภัยแล้ง
ด้านสังคมและเศรษฐกิจ
1) ขาดการวางแผนในการใช้น้ำที่ดี ระหว่างพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ และพื้นที่ปลายน้ำ
2) วิถีชีวิตภาคเกษตรกรรมต้องอาศัยน้ำเป็นจำนวนมากในการเพาะปลูก
3) นโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ ส่วนใหญ่เป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องการใช้น้ำมาก เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา เป็นต้น
4) การเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออก อันเนื่องมาจากการย้ายถิ่นของประชากรเข้ามาทำงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้องการใช้น้ำมากขึ้นตามไปด้วย
5) ปัญหาน้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์ และกิจกรรมอื่น ๆ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้
6) การแบ่งสัดส่วนการใช้น้ำให้ภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม
ปัจจัยด้านกายภาพ
1) ปริมาณฝนตกน้อย เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน
2) อัตราการระเหยของน้ำมากกว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา
3) ขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและไม่มีการกักเก็บน้ำในฤดูฝน
4) การใช้ประโยชน์ที่ดินไม่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่
5) ลักษณะของพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ เช่น อยู่ในพื้นที่สูงทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เป็นต้น
ปัจจัยด้านอื่น ๆ
1) ความล่าช้าของกระบวนการ เช่น กระบวนการทางกฎหมาย การของบประมาณ การเวนคืนที่ดิน เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้ทันท่วงที
2) ขาดการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นของชุมชนในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออก ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านภายในชุมชน โดยสามารถอธิบายรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้
1) ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้น้ำประปาเค็มไม่สามารถนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศในพื้นที่
2) ประชาชนต้องซื้อน้ำในการอุปโภคบริโภค ซึ่งถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับชุมชนเป็นอย่างมากเพราะทำให้ชุมชนมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย
3) ทำให้ปริมาณความต้องการในการใช้น้ำของแต่ละภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งของแต่ละภาคส่วนในการแบ่งสัดส่วนการใช้น้ำ
4) ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงและความไม่มั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคตอีกด้วย
จากปัญหาและผลกระทบของภัยแล้งที่เกิดขึ้นของชุมชนในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออก
ทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้ตนเองสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ภายใต้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น โดยชุมชนมีการปรับตัวดังนี้
1) ชุมชนเริ่มมีการศึกษาหาแนวทาง แนวคิด หรือแนวปฏิบัติจากต้นแบบต่าง ๆ เพื่อมาใช้ในการปรับตัวต่อภัยแล้ง เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ โคกหนองนาโมเดล เป็นต้น
2) ชุมชนร่วมกันหาแนวทางในการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้สามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเป็นการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน
3) ภาคการเกษตรมีการจัดการปัญหาโดยการขุดสระ และเจาะบ่อบาดาลเอง และมีการปลูกไม้ป่า เช่น ไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้พยุง เป็นต้น เพื่อช่วยดูดน้ำไว้ในบริเวณสวนตัวเอง
4) ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มในการปรับตัวต่อภัยแล้ง และการจัดการคุณภาพน้ำ เช่น โรงเรียนจัดตั้งกลุ่มนักสืบสายน้ำ เพื่อสังเกตคุณภาพน้ำและรายงานกลับไปที่อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติประจำหมู่บ้าน เป็นต้น
5) มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการทำการเกษตร และการจัดการพื้นที่ของตนเอง เช่น การทำสวนแบบยกร่อง การทำนาหยอด เป็นต้น
จากปัญหาและผลกระทบ และการปรับตัวของชุมชนในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออกต่อภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทางผู้เข้าร่วมประชุมระดมเสมอจึงได้มีการเสนอแนวทางในการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้
1) มีการเสนอให้ใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในชุมชน แต่ยังมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินทำให้การหาพื้นที่เป็นไปได้ยาก ประกอบกับขนาดของพื้นที่ทำอ่างเก็บน้ำต้องมีขนาดใหญ่เพื่อเก็บน้ำและรองรับการระเหยได้
2) โครงการโคกหนองนาโมเดลแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้นแบบในการศึกษาหาแนวทางเพื่อทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำเพิ่มมากขึ้น และทำให้ประชาชนดูแลตนเองได้มากขึ้น
3) การแก้ไขปัญหาภัยแล้งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีทุนและมีพื้นที่เพื่อให้มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง
4) ควรมีการดูแลแหล่งน้ำของแต่ละจังหวัดในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออก เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตนเอง โดยการสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง หรือมีการสร้างโมเดลความสำเร็จเล็ก ๆ ให้ชาวบ้านได้เห็นเป็นตัวอย่าง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในภาวะภัยแล้งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในส่วนของกิจกรรมย่อยที่ 5 “การศึกษาความเปราะบางและการปรับตัวของชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง” ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ส่งเสริม ววน.) ปีงบประมาณ 2564 (CU_FRB640001_01_21_6) rพร้อมกันนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณผู้ร่วมโครงการวิจัย และผู้เข้าร่วมประชุมระดมสมองทุกท่าน ที่ได้ให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง