บทความ: “ไผ่” ทางเลือกสำหรับทดแทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 หน่วยปฏิบัติการวิจัยการขับเคลื่อน BCG สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
* Email: Bualuang.F@chula.ac.th


ขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ ข้อมูลจาก UN Environment Programme (2020) ระบุว่า มนุษย์สร้างขยะพลาสติกประมาณ 300 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีปริมาณมากเทียบเท่ากับน้ำหนักของประชากรมนุษย์ทั้งหมดบนโลกรวมกัน ขยะพลาสติกดังกล่าวมีแค่เพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำกลับไปรีไซเคิล (recycle) เพื่อการใช้ประโยชน์ อีกประมาณ 12% ถูกกำจัดโดยกระบวนการเผา ส่วนที่เหลืออีกมากถึง 79% นั้นถูกฝังกลบ (landfills) ทิ้งกองรวมกัน (dumps) หรือถูกทิ้งให้ปนเปื้อนและก่อให้เกิดมลพิษอยู่ในสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกต่อปีประมาณ 2 ล้านตัน โดยมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพียง 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1.5 ล้านตัน ยังรอการจัดการต่อไปซึ่งประมาณ 1.2 ล้านตันเป็นถุงพลาสติก เช่น ถุงบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว และอีก 0.3 ล้านตันเป็นพลาสติกอื่น ๆ เช่น แก้วน้ำ (กรมควบคุมมลพิษ, 2560; ศักดิ์สิทธิ์ อิ่มแมน, 2562) ซึ่งถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติกจัดเป็นพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ที่นำไปสู่ปัญหาขยะพลาสติกและมลพิษขยะมากมาย ดังนั้น บทความนี้จึงได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพืชชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ทดแทนพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เป็นอย่างดีซึ่งพืชชนิดนั้นก็คือ “ไผ่”

พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้นแต่ใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 200 ปี โดยส่วนมากถูกออกแบบให้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งสามารถพบพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้จากห่อบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น หลอด แก้วน้ำ ขวดน้ำ ถุงหูหิ้ว กล่องอาหาร ถุงห่อขนม ภาชนะใส่อาหาร เช่น จาน ชาม ช้อน (นริศรา เพชรพนาภรณ์, 2562; Natural Resources Defense Council, 2020) เรียกได้ว่า พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์และนำไปสู่ปัญหาขยะพลาสติกและมลพิษขยะที่ตามมาในปัจจุบัน ประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้เชิญชวนผู้ประกอบการได้แก่ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และผู้ผลิตพลาสติกเข้าร่วมมาตรการ (campaign) ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยงดการให้ถุงพลาสติกกับผู้ที่มาซื้อสินค้าซึ่งเริ่มกิจกรรมเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ในแผนงานการจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ. 2561 - 2573 ยังระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2565 จะเลิกใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก (กาญจนา งามกาหลง, 2562; นริศรา เพชรพนาภรณ์, 2562) ดังนั้น เพื่อให้การดำรงชีวิตประจำวันยังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีอุปสรรค พร้อมกับการลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผลิตภัณฑ์จากไผ่จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์เช่นนี้ได้เป็นอย่างดี


ไผ่ (bamboo) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (monocotyledons) ที่อยู่ในวงศ์ Gramineae มีลำต้นเหนือดิน ความสูงประมาณ 5 - 20 เมตร และยังมีลำต้นใต้ดิน (rhizome) จึงทำให้ลำต้นสามารถแตกออกเป็นกอที่มีขนาดเล็กจนถึงกอขนาดใหญ่ได้โดยภายในหนึ่งกอของไผ่จะมีประมาณ 20 - 50 ต้น ลักษณะของลำต้นไผ่จะเห็นข้อ-ปล้องอย่างชัดเจน ลำต้นมีผิวเกลี้ยง สีเขียวอ่อน เขียวเข้ม หรือสีเหลืองแถบเขียว โดยที่รูปร่าง ขนาด ความยาวและสีของลำต้นจะขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ของไผ่ ใบของไผ่เป็นใบเดี่ยว (simple leaf) ยาวแคบลักษณะคล้ายรูปหอก ขอบใบเรียบ ผิวใบสีเขียวมีขนอ่อน ๆ ปกคลุม แผ่นใบมีความกว้างประมาณ 1 - 2 นิ้ว ความยาวประมาณ 5 - 12 นิ้ว หรือขึ้นกับชนิดพันธุ์ ดอกไผ่จัดเป็นดอกช่อออกตามปลายยอดและบริเวณข้อ เมื่อดอกแห้งต้นไผ่ก็จะตายไป ผลหรือลูกมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสาร ไผ่สามารถถูกขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด การแยกเหง้า การชำลำ การชำกิ่งแขนง และการตอน จากการสำรวจชนิดพันธุ์ไผ่ในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีไผ่จำนวน 17 สกุล (genera) 80 - 100 ชนิด (species) กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง (สราวุธ สังข์แก้ว และคณะ, 2554) ตัวอย่างของพันธุ์ไผ่ ได้แก่ ไผ่ซางหวาน ไผ่ซางหม่น ไผ่ซางนวล ไผ่หม่าจู ไผ่เลี้ยง ไผ่ตง และไผ่ข้าวหลาม



คนไทยได้มีการนำไผ่มาใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยอ้างอิงหลักฐานในแหล่งโบราณคดีบริเวณช่องประตูผา ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งได้ขุดพบโครงกระดูกที่ถูกห่อด้วยเสื่อซึ่งสานจากไม้ไผ่ บางโครงกระดูกถูกฝังในโลงไม้ที่ปูรองด้วยฟากไม้ไผ่ และยังพบสิ่งของที่อุทิศให้แก่ศพ เช่น เครื่องจักสานประเภทตะกร้าและกระบุงไม้ไผ่อีกด้วย (สุรีย์ ภูมิภมร, 2557; ปริเชต ศุขปราการ, 2559) ซึ่งไผ่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในหลาย ๆ ด้าน (สุรีย์ ภูมิภมร, 2557) ได้แก่

1.ไผ่กับพิธีกรรมและความเชื่อ
ในอดีตเมื่อเด็กคลอดคนไทยจะใช้ผิวไม้ไผ่รวกลนไฟแล้วใช้ตัดสายสะดือของทารก และเรียกการคลอดว่า “ตกฟาก” เนื่องจากบ้านของคนไทยสมัยก่อนจะปูพื้นด้วยฟากซึ่งทำมาจากไม้ไผ่ รวมถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น การนำเส้นตอกไม้ไผ่มาสานให้เป็นเฉลวหรือตะแหลวสำหรับใช้ป้องกันสิ่งชั่วร้าย นอกจากนี้งานประเพณีและงานบุญต่าง ๆ ยังเกี่ยวข้องกับไม้ไผ่ในการทำเป็นโครงสำหรับการทำโคมบูชา และการทำเรือของประเพณีไหลเรือไฟ เป็นต้น


2. ไผ่กับปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต
ทุกส่วนของไผ่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ รากและใบของไผ่บางชนิดมีสรรพคุณทางยาเพื่อขับปัสสาวะ หน่อไผ่หรือหน่อไม้นำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น หน่อไม้ต้ม หน่อไม้ดอง แกงและผัดหน่อไม้ ใบใช้สำหรับห่ออาหาร เช่น บ๊ะจ่าง ลำต้นยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารหวาน เช่น ข้าวหลาม ซึ่งเป็นของฝากที่มีชื่อเสียงและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจของหลายจังหวัด เช่น ข้าวหลามหนองมน ชลบุรี ข้าวหลามนครปฐม และข้าวหลามเมืองน่าน เป็นต้น ไผ่ยังถูกนำมาใช้ประกอบการสร้างที่พักอาศัย เช่น ใช้ทำเสา ทำพื้น และผนังของบ้าน ลำต้นนำมาผูกรวมกันเพื่อสร้างเป็นแพอาศัยในแม่น้ำ นอกจากนี้ไผ่ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเป็นเฟอร์นิเจอร์พวกเก้าอี้ โต๊ะ ตู้ เตียง หรือแคร่ไม้ไผ่ และยังถูกนำมาใช้สร้างเป็นเครื่องมือเครื่องใช้สอยในครัวเรือนโดยการนำลำต้นไม้ไผ่มาจักหรือผ่าให้บางกลายเป็นเส้นตอกแล้วนำมาสานเพื่อเป็นภาชนะหรือผลิตภัณฑ์ เช่น กระด้ง ตะกร้า ชะลอม สุ่มไก่ กระติ๊บข้าว ซึ่งผลิตภัณฑ์จากไผ่เหล่านั้นหลายชนิดสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันเพื่อลดการใช้พลาสติกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง


เนื่องจากพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งกำลังอยู่ในระหว่างการยกเลิกการใช้ ซึ่งได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ไผ่ที่จะนำมาใช้ทดแทนจึงควรตอบโจทย์ในเรื่องการใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก และอาจเพิ่มในเรื่องของการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และความสวยงามลงไปในผลิตภัณฑ์ไผ่ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ไผ่ที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการลดใช้พลาสติก ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์ไผ่เพื่อทดแทนถุงพลาสติกหูหิ้ว
ถุงพลาสติกหูหิ้วถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการบรรจุสิ่งของหรือสินค้าหลังจากการซื้อขาย ส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (high density polyethylene: HDPE) เนื่องจากมีความเหนียว ทนทาน และรับน้ำหนักได้ดี ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ไผ่ที่เหมาะสำหรับใช้แทนถุงหูหิ้วจึงได้แก่ “ตะกร้าไม้ไผ่” ซึ่งข้อดีของการใช้ตะกร้าไม้ไผ่นอกจากจะมีคุณสมบัติครบตามต้องการแล้ว ตะกร้าไม้ไผ่ยังมีรูปร่าง ลักษณะ และขนาดให้เลือกมากมายตามความต้องการของผู้ใช้และขนาดของสินค้าที่ต้องการบรรจุ สามารถทำได้เองหรือหาซื้อได้ในราคาไม่แพง และยังมีอายุการใช้งานยาวนาน


2. ผลิตภัณฑ์ไผ่เพื่อทดแทนกล่องโฟมบรรจุอาหาร 
กล่องโฟมบรรจุอาหารถูกนำมาใช้เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการกินอาหารสำเร็จรูปซึ่งเรานิยมเรียกว่า “อาหารกล่องหรือข้าวกล่อง” โฟมเป็นพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ทำมาจากโพลีสไตรีน (polystyrene: PS) เมื่อนำไปบรรจุอาหารร้อนหรืออาหารทอด น้ำมันจากอาหารจะทำปฏิกิริยากับโฟมทำให้เกิด สารสไตรีน (styrene) และสารเบนซิน (benzene) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีผลต่อระบบประสาท ระบบหมุนเวียนเลือด และยังเป็นสารก่อมะเร็งจึงจำเป็นที่จะต้องลดและเลิกใช้โฟม (พรรณพิสุทธิ์ สันติภราดร, 2559) ผลิตภัณฑ์จากไผ่ที่สามารถนำมาใช้แทนกล่องโฟม ได้แก่ “จานใส่อาหารว่าง (จานเบรค)” และ “กระด้งขนาดเล็ก” ที่สานจากไม้ไผ่ซึ่งสามารถทำขนาดให้เหมาะกับลักษณะและปริมาณของอาหารที่จะใส่ นอกจากนี้ก่อนใส่อาหารยังสามารถรองด้วยใบตองเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมชาติและเพิ่มสีสันให้กับจานอาหารได้อีกด้วย นอกจากผลิตภัณฑ์จักสานแล้วเรายังสามารถเลือกใช้กล่อง จาน หรือชามที่แปรรูปมาจากเยื่อไผ่เพื่อทดแทนกล่องโฟมได้เช่นกัน


ที่มา : รูป ค,ง มาจาก https://www.unipakcentershop.com/category/3883/บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม-gracz

3. ผลิตภัณฑ์ไผ่เพื่อทดแทนแก้วพลาสติก 
ผลิตภัณฑ์ไผ่ที่ทดแทนแก้วพลาสติกได้คือ “แก้วน้ำไม้ไผ่” หรือ “กระบอกน้ำไม้ไผ่” ซึ่งเราสามารถทำได้เองโดยการนำไม้ไผ่ขนาดที่เหมาะสมมาตัดบริเวณปล้องให้มีความยาวตามที่ต้องการ จากนั้นทำการขัดบริเวณรอยตัด และทำความสะอาดก็จะได้แก้วน้ำไม้ไผ่หรือกระบอกน้ำไม้ไผ่ที่พร้อมใช้งาน หรือถ้าหากไม่มีไม้ไผ่ที่เป็นวัตถุดิบหรือไม่มีเวลาในการทำใช้เอง ก็สามารถเลือกซื้อแก้วน้ำไม้ไผ่หรือกระบอกน้ำไม้ไผ่ได้จากร้านค้าของวิสาหกิจชุมชนหรือร้านค้าในระบบออนไลน์ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลายให้เลือก ราคาขึ้นอยู่กับลักษณะ รูปร่าง และความสวยงาม ข้อจำกัดของแก้วน้ำไม้ไผ่และกระบอกน้ำไม้ไผ่ คือ หากใช้ซ้ำหลายครั้งอาจเกิดการสะสมของจุลินทรีย์ จึงต้องมีการดูแลรักษาความสะอาดหลังการใช้งาน เช่น การนำไปตากแดดให้แห้ง หรือการอบฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม แก้วน้ำไม้ไผ่หรือกระบอกน้ำไม้ไผ่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น การประยุกต์ใช้เป็นกระบอกไม้ไผ่ปลูกต้นไม้ประดับตกแต่งบ้านเรือนหรืออาคาร และการนำไปเผาเพื่อผลิตเป็นถ่านชีวภาพ (biochar) เพื่อใช้สำหรับปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช (บัวหลวง ฝ้ายเยื่อ และเสาวนีย์ วิจิตรโกสุม, 2563) เรียกได้ว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร


ที่มา: รูป ค,ง มาจาก https://web.facebook.com/กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำ-ราคาถูก-543531949355040/photos/?ref=page_internal)

4. ผลิตภัณฑ์ไผ่เพื่อทดแทนหลอดพลาสติก
“หลอดไม้ไผ่” คือผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เราสามารถใช้ทดแทนหลอดพลาสติกได้ โดยส่วนมากนิยมทำมาจากไผ่สายพันธุ์ที่เรียกว่า “ไผ่หลอด” ซึ่งเป็นไผ่ขนาดเล็กมีความสูงประมาณ 3-4 เมตร ปล้องยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ไม่มีหนาม ขึ้นเป็นกอ พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทย ที่ผ่านมาไผ่หลอดนิยมปลูกเพื่อตกแต่งสวนและปลูกเป็นรั้วบ้าน จนกระทั่งปัจจุบันเมื่อมีกระแสเรื่องการลดการใช้พลาสติกทำให้ไผ่หลอดได้รับความนิยมมากโดยนำมาใช้เป็นหลอดไม้ไผ่เพื่อทดแทนหลอดพลาสติก สำหรับขั้นตอนการทำหลอดไม้ไผ่นั้นสามารถทำได้เองโดยการตัดไม้ไผ่หลอดซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ไผ่หลอดที่มีอายุการปลูกประมาณ 1 ปี แล้วนำลำไผ่ไปรมด้วยควันเช่นเดียวกับการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ชนิดอื่น ๆ หลังจากนั้นจึงตัดตามความยาวของหลอดที่ต้องการ ขัดรอยตัดให้เรียบ และล้างทำความสะอาดก็จะได้หลอดไม้ไผ่พร้อมใช้งาน ถึงแม้ว่า หลอดไม้ไผ่ยังมีข้อกังวลสำหรับการใช้งานคือ การเกิดเชื้อรา แต่ก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการล้างทำความสะอาดหลังการใช้งาน แล้วตากให้แห้งหรืออบฆ่าเชื้อ (ผู้จัดการออนไลน์, 2562a, b) สำหรับผู้ที่ไม่ได้ปลูกไผ่หลอดไว้ ก็ยังสามารถใช้หลอดไผ่ได้ด้วยการเลือกซื้อหลอดไม้ไผ่จากวิสาหกิจชุมชน บริษัท หรือร้านค้าในระบบออนไลน์ซึ่งมีผลิตภัณฑ์อยู่อย่างหลากหลายให้เลือกตามความต้องการ ดังนั้น การมีหลอดไม้ไผ่ติดกระเป๋าไว้ใช้ส่วนตัวจึงเป็นอีกแนวทางในการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เช่นกัน


ที่มา : https://web.facebook.com/452958201874978/posts/585668501937280/?_rdc=1&_rdr
https://www.smartsme.co.th/content/223128#!

เนื่องจากไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว และสามารถนำทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ได้ ภาครัฐและเอกชนจึงได้มีนโยบายส่งเสริมการปลูกในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (2557) ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยส่งเสริมการผลิตไผ่ที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ไผ่ให้มีมูลค่าสูง แก้ปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากไผ่ ส่งเสริมด้านการตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ และส่งเสริมการปลูกไผ่เพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์ดินและน้ำและการช่วยลดสภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดน่าน ประจำปี พ.ศ. 2561 - 2564 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตการเกษตรโดยมีโครงการส่งเสริมการปลูกไผ่เพื่อการพัฒนา ฟื้นฟู และรักษาหน้าดิน รวมถึงการเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิดรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรจากการปลูกและจำหน่ายไผ่ (สำนักงานจังหวัดน่าน, 2559) ในขณะที่โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้ไผ่เป็นพืชทางเลือกเพื่อปลูกทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำหรับแก้ปัญหาวิกฤตหมอกควันในภาคเหนือซึ่งมีสาเหตุจากการเผาไร่ข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว เนื่องจากไผ่เป็นพืชที่ไม่ต้องเผาเพื่อการเตรียมพื้นที่ปลูก และยังแก้ปัญหาเขาหัวโล้นในจังหวัดเชียงใหม่โดยการปลูกไผ่แซมในไร่ด้วยรูปแบบวนเกษตรแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว (ณัฏฐวุฒิ ลอยสา, 2563; ธนพร ตั้งตระกูล และคณะ, 2563) และที่สำคัญที่สุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ…….” ที่เสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเปิดทางให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้โดยเป็นต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า จำนวน 58 ชนิด ซึ่งหนึ่งในต้นไม้ดังกล่าวคือ “ไผ่ทุกชนิด” (เทคโนโลยีชาวบ้าน, 2561; น้าชาติ ประชาชื่น, 2561) ซึ่งจะทำให้ไผ่ได้รับความสนใจในการปลูกเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทดแทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน แนวทางการส่งเสริมการปลูกไผ่ของประเทศไทยยังสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการปลูกไผ่ในหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไนจีเรีย (Suzuki and Nakagoshi, 2011; Okokpujie et al., 2020) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไผ่ในระดับสากลต่อการเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชที่สามารถช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้

จากปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์และสัตว์ซึ่งนำไปสู่การรณรงค์และแนวนโยบายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการใช้ขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์จากไผ่ เช่น ตะกร้า กระด้งขนาดเล็ก แก้วน้ำไม้ไผ่ และหลอดไม้ไผ่ ซึ่งเราสามารถทำได้เองหรือหาซื้อได้ตามร้านค้า จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ การใช้ผลิตภัณฑ์จากไผ่นอกจากจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม เพราะไผ่เป็นพืชที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยย่อยเรื่อง ยุทธการไม้ไผ่รักษ์โลก: วัสดุท้องถิ่นทดแทนพลาสติก ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเรื่อง เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน: การสรรสร้างเมืองน่านเพื่อยกระดับสู่การท่องเที่ยวสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปีงบประมาณ 2563