การอ้างอิง: จักรภพ พันธศรี. (2563). เรื่องจากปก: “เขื่อนอุบลรัตน์” ภัยแล้งที่เริ่มคืบคลาน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 2).


เรื่องจากปก: “เขื่อนอุบลรัตน์” ภัยแล้งที่เริ่มคืบคลาน

โดย ภุมรินทร์ คำเดชศักดิ์

เขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และ ตำบลโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ปิดกั้นแม่น้ำพองสาขาย่อยของแม่น้ำชี ตัวเขื่อนเป็นหินทิ้งแกนดินเหนียว ยาว 885 เมตร สูง 32 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนอุบลรัตน์เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทยถัดจากเขื่อนภูมิพล สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2508 โดยเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [1] อีกทั้งยังเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อประชาชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านชลประทานและการเกษตร ด้านการประมง ด้านการบรรเทาอุทกภัย ด้านคมนาคม และด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อาทิ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ได้รับผลกระทบจากการที่น้ำไหลเข้าสู่ระบบประปาได้น้อย ทำให้ต้องลดความดันการส่งน้ำเข้าสู่ระบบประปา จึงได้ร้องขอทางเขื่อนจุฬาภรณ์ปล่อยน้ำ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่ลำน้ำเชิญ เพื่อให้เพียงพอกับระบบประปาของอำเภอชุมแพ [2] จากสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้กรมชลประทานได้เปิดปฏิบัติการ ร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัดให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ในช่วงฤดูแล้ง โดยได้ออกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำได้รับรู้ในเรื่องสถานการณ์น้ำ รวมถึงขอความร่วมมือจากประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค ตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงฤดูฝนใหม่