ภูมิฐวัศ สัมพันธ์พานิช และ กาญจน์นภา พงศ์พนรัตน์
วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ภาคการเกษตรเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีพของประชากรเป็นส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดวิถีชีวิต ประเพณี รวมถึงค่านิยมและความเชื่อต่าง ๆ ที่สืบต่อกันมาหลายรุ่นอายุคนจนเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อการทำเกษตรกรรม โดยมีการประกอบอาชีพทางการเกษตรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรมที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่ว เช่น วัฒนธรรมข้าวที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่อง “แม่โพสพ” เป็นวัฒนธรรมความเชื่อด้านการเห็นคุณค่า และประโยชน์ของข้าวที่นำมารับประทาน และใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ

“พระแม่คงคา” การใช้ดินในการเพาะปลูกกับความเชื่อเรื่องของ “พระแม่ธรณี” เป็นต้น ซึ่งล้วนสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องของการดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงธรรมชาติรอบตัว หรือที่เรียกว่า “นิเวศวัฒนธรรม” ประกอบไปด้วย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรอบในการตั้งถิ่นฐาน วิถีชีวิตในการดำรงชีพเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างชีวิตกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นในเขตที่สูง อย่างเช่น พื้นที่ภูเขาหรือดอย ในเขตที่ราบหรือที่ราบสูง อย่างเช่น พื้นที่แทบภาคกลางหรือภาคตะวันออกเฉียง เหนือ หรือแม้แต่เขตชายฝั่งทะเลทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ โดยในแต่ละพื้นที่ล้วนมีวัฒนธรรมเกษตรกรรมที่แตกต่างกัน มีการเพาะปลูกพืชการเกษตรแตกต่างกันตามความเหมาะสมของพื้นที่ และสภาพอากาศ รวมถึงความแตกต่างทางวิถีชีวิต และความเชื่อ ซึ่งรวมแล้วเรียกว่า “รากเหง้าทางวัฒนธรรม”

“กัญชง” หรือ “เฮมพ์” ดังกล่าวนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับต้น “กัญชา” โดยเฮมพ์หรือกัญชงนั้นมีบทบาทต่อวิถีการดำรงชีพของชาวม้งเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการเร่งพัฒนาสังคมในด้านต่าง ๆ ไปอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ยังคงมีชาวม้งที่อาศัยตามชุมชนบนพื้นที่ราบสูงตามดอยยังคงมีการทอผ้าจากเส้นใยเฮมพ์ตามวิถีชีวิต และความเชื่อดั้งเดิม เพื่อการดำรงชีพทั้งทอเพื่อสวมใส่เองในครัวเรือน และเพื่อจำหน่ายสู่ตลาด นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากเส้นใยเฮมพ์ที่ได้จากลำต้นเรียกว่า Long bast fiber ซึ่งเป็นเส้นใยที่เหนียวที่สุดในโลก โดยมีกระบวนการทำเพื่อให้ได้เส้นใย และนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ, 2544)  

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อรัฐบาลไทยได้รับกระแสพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งได้มีพระราชดำรัสรับสั่งให้รัฐบาลไทยช่วยสนับสนุน และส่งเสริมให้เกษตรกรไทยได้ปลูกเฮมพ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลพบพระ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษที่ทางรัฐบาลมีการประกาศให้มีการส่งเสริม และสนับสนุนการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และในเชิงอุตสาหกรรม เฮมพ์จึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวม้งที่บ้านใหม่ยอดคีรี ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก สืบต่อมาในปัจจุบัน

“พิธีอัวเน้ง” หรือ “พิธีเข้าทรง” ซึ่งเป็นงานประเพณีที่สำคัญของชาวม้งมาตั้งแต่สมัยโบราณ

จากที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการทอผ้าจากใยกัญชงหรือเฮมพ์ที่พบได้ในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก สะท้อนถึงความเชื่อ ความศรัทธา จารีต และประเพณี ตลอดจนกระบวนการ และวิธีการทอ วิธีลอกเส้นใยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชุมชนหรือหมู่บ้าน ซึ่งกลายเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่ประกอบไปด้วย ความรู้ ความสามารถ รวมกับค่านิยม และความเชื่อเรื่องระหว่างคนกับธรรมชาติ ตลอดจนคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการทางจารีตประเพณี วิถีชีวิต การทำมาหากิน และพิธีกรรมต่าง ๆ ดังเช่น กลุ่มชาวม้งที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่มีการปลูกเฮมพ์ และมีการลอกเส้นใยจากลำต้น และนำมาทอผ้า ที่ได้มีการสืบทอดต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

“ภูมิปัญญาท้องถิ่น” เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีความสำคัญในท้องถิ่น หรือชุมชนที่แตกต่างกันไปตามลักษณะทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ ทำให้ชุมชนนั้นสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน และมีสภาวะแวดล้อมที่สมดุลจนกลายเป็นรากฐานของการพัฒนา นอกจากนี้ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เช่น วัฒนธรรมการทอผ้าของชาวม้ง ซึ่งถือได้ว่า เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่มีความสอดคล้องกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว

จากงานวิจัยเพื่อศึกษารากเหง้าวัฒนธรรมของชาวม้งกับการใช้ประโยชน์จากเฮมพ์ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ผลจากการสำรวจพื้นที่ของทีมวิจัย พบว่า ชาวม้งที่อำเภอพบพระ มีวิธีการเก็บเกี่ยวเฮมพ์เมื่อมีอายุครบการเก็บเกี่ยว โดยชาวม้งจะตัดเฮมพ์มาทั้งต้น จากนั้นลอกเปลือกของลำต้นออก และนำเส้นที่ได้จากการลอกเปลือกมาถักต่อกัน เพื่อให้ได้เส้นใยที่ยาวขึ้น จากนั้นจึงนำไปปั่น และม้วนเป็นเส้นแล้วนำมาแช่น้ำ เพื่อให้ได้เส้นใยที่ยุ่ย และนิ่มขึ้น จากนั้นจึงนำมาเข้าสู่กระบวนการย้อมสี และกระบวนการทอในลำดับถัดไป (ดังรูปที่ 1 และ 2) 


ที่มา: ภูมิฐวัศ สัมพันธ์พานิช (2562)


ที่มา: ภูมิฐวัศ สัมพันธ์พานิช (2562)

การพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้น สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เพิ่มมากขึ้นกว่าภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว โดยเป็นการพัฒนาจากทุนทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1) จับต้องได้ (Tangible) และ 2) จับต้องไม่ได้ (Intangible) โดยการใส่เรื่องราว (Story) และเนื้อหา (Content) ของวัฒนธรรมนั้นลงไปในผลิตภัณฑ์ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2561) เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นส่งผลให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้นได้


ที่มา: ภูมิฐวัศ สัมพันธ์พานิช (2562)

หลังจากนั้น ชาวม้งที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จึงร่วมกันจัดตั้งกลุ่มทอผ้าใยกัญชง โดยทอผ้ามาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน และมีการทอผ้าส่งในวัง และศูนย์ศิลปาชีพฯ เรื่อยมา ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP และจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนทอผ้า มีการพัฒนาผ้าทอใยกัญชงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น  หรือมีการพัฒนานำผ้าทอมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น ทำเป็นผ้าพันคอ เสื้อสูท และกระเป๋า เป็นต้น ดังรูปที่ 4

“เรารักสิ่งนี้ เราอยากอนุรักษ์ไว้ เราอยากสอนให้ลูกหลาน เหมือนที่แม่หลวงของเรารับสั่งไว้ ถ้าตอนนั้นท่านไม่รับสั่งก็ไม่รู้ว่าตอนนี้ป้ายังจะทำอยู่ไหม คนอื่นนี่เขาอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ แต่ป้าทำตลอดทำเป็นอาชีพ” นอกจากนี้ ผู้นำชุมชนยังย้ำกับทีมวิจัยเพิ่มเติมว่า 


ที่มา: ภูมิฐวัศ สัมพันธ์พานิช (2562)

เรื่องการผลิตที่ติดขัดกับข้อบังคับทางกฎหมาย ปัญหาในเรื่องของการขออนุญาตปลูก ตลอดจนช่องทางการจัดจำหน่ายที่ยังไม่มีการกระจายหรือส่งขายมากนัก รวมทั้งไม่มีความต่อเนื่องทางการตลาด นอกจากนี้ ทางกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าใยกัญชงหรือเฮมพ์นี้ ยังขาดความรู้ในเรื่องของการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมและให้การสนับสนุนในเรื่องดังที่กล่าวมานี้ ชุมชนยังคงต้องการความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือภาคเอกชนที่สนใจให้ความร่วมมือสนับสนุน เพื่อการพัฒนาให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และชาวม้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผลิตภัณฑ์ชุมชน นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสร้างสรรค์ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ หากมีการผลักดันไปสู่การส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้สำเร็จ ด้วยประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ที่สามารถสร้างออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อยู่มากมายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่งดงาม อาทิ การทอผ้าไหม การทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องเงิน การทำเครื่องทอง หรือแม้แต่งานจักรสานจากย่านลิเภา เส้นกก ใยตาล และผักตบชวา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มาจากวัสดุทางธรรมชาติที่ถูกนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สามารถทำให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งนับว่าเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่จากรากเหง้าวิถีชีวิตดั้งเดิมมาสานต่อ และพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม 

ดังนั้นสิ่งที่พึงพิจารณาร่วมกัน คือ แม้ว่า กัญชงหรือเฮมพ์จะถูกจัดว่าเป็นพืชชนิดสารเสพติด หากแต่ถ้ามีการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์แล้ว จึงคาดว่า “กัญชงหรือเฮมพ์” นั้น จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย หรือผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นส่งผลให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้นในชุมชนนั้น ๆ ได้


บทความฉบับนี้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการวิจัย เรื่อง “การปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ที่ปลูกในดินปนเปื้อนแคดเมียม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (RDG62T0053)” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2562 อันเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของการดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้