กาญจน์นภา พงศ์พนรัตน์
วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


มีการถกเถียงกันในวงกว้างถึงแนวทางในการลดทอน และบรรเทาผลกระทบในแง่ลบที่เกิดขึ้นโดยการนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับใช้เป็นแนวทางหลักในการวางแผนพัฒนาและดำเนินโครงการต่าง ๆ มากขึ้นในปัจจุบัน โดยดำเนินตามแนวทางที่องค์กรสหประชาชาติจัดทำขึ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือที่เรียกว่า Sustainable Development Goals (SDGs)  ซึ่งกำหนดกรอบในการพัฒนาที่มีมิติครอบคลุมหลากหลายด้านเพื่อบูรณาการในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ดังนั้น แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงนับว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการพัฒนาผ่านการทำความเข้าใจด้วยการนำวัฒนธรรมมาเป็นฐานในการคิดและต่อยอดการพัฒนาโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า ผ่านความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบให้เกิดนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบใหม่

เมื่อพิจารณาถึงภาคการเกษตรอันเป็นรากฐานหลักในการพัฒนาของประเทศไทยโดยนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดังที่กล่าวในเบื้องต้นมาปรับใช้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันในหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้มีการส่งเสริมการปลูกกัญชง หรือ เฮมพ์ “Hemp” ซึ่งเป็นพืชในตระกูลเดียวกับกัญชา โดยในปัจจุบันมีกฎหมายให้เปลี่ยนชื่อจากกัญชงเป็น “เฮมพ์”เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของประชาชนระหว่างกัญชงกับกัญชาซึ่งเป็นสารเสพติด และในกระบวนการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองนั้นต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังพบว่า เฮมพ์ มีคุณสมบัติในการดึงดูดและสะสมโลหะหนักได้ โดยเฉพาะพื้นที่ปนเปื้อนโลหะหนักในดิน (พันธวัศ สัมพันธ์พานิช, 2558) เฮมพ์จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจในการทำการศึกษา และพัฒนาในลักษณะและกระบวนการต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่และศักยภาพในการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างกรณีชาวม้งกับวิถีชีวิตการปลูกเฮมพ์เพื่อนำเส้นใยมาทอผ้าใช้สอยภายในครัวเรือนในชีวิตประจำวันและงานประเพณี จนกลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มและของใช้เพื่อจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ เป็นการเพิ่มรายได้นอกเหนือจากภาคการเกษตรอันเป็นอาชีพหลักของชาวม้งอยู่เดิม

หากดำเนินการได้ตามแนวทางนี้ก็นับว่าเป็นการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนได้ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเพราะเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคน  ตามเป้าหมายที่วางไว้ในระดับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติได้อย่างชัดเจน อยู่ที่ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันพิจารณา ส่งเสริมสนับสนุน ศึกษาค้นคว้า ออกแบบสร้างสรรค์ และทำให้เกิดขึ้นได้จริงต่อไป


บทความฉบับนี้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการวิจัย เรื่อง “การปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ที่ปลูกในดินปนเปื้อนแคดเมียม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (RDG62T0053)” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2562 อันเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของการดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้