RECYCLE+ ศีลาวุธ ดำรงศิริ, สุจิตรา วาสนาดำรงดี
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เราขอละเรื่องที่ว่า “ปัญหาขยะมูลฝอย” นั้นเป็นปัญหาที่สำคัญเพียงไร ช่วงที่น้ำท่วมใหญ่เกือบทุกคนคงเห็นแล้วว่า ถ้าไม่มีการจัดเก็บขยะแค่ไม่กี่วัน ขยะก็แทบจะล้นบ้านล้นชุมชนของเราแล้ว และตอนนี้มันกำลังจะล้นประเทศ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาทั้งในระดับประเทศและมหาวิทยาลัย มีความพยายามในการคัดแยกขยะ หลากหลายวิธี เช่น ขยะเปียก/ขยะแห้ง หรือ แก้ว/กระดาษ/พลาสติก/ขยะเปียก เป็นต้น ซึ่งส่วนมากก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายส่วน ทั้งการขาดความเข้าใจในการแยกทิ้ง ความซับซ้อนในการแยกทิ้ง และปลายทางที่จะรับขยะที่แยกไว้เหล่านี้ไปจัดการอย่างเหมาะสม เนื่องจากขยะบางประเภท ไม่สามารถขายเป็นขยะรีไซเคิลได้เพราะมีมูลค่ารีไซเคิลต่ำ ไม่คุ้มค่าในการรีไซเคิล เช่น หลอดพลาสติก ฝาครอบแก้ว ถ้วยกระดาษเคลือบไข กล่อง และแก้วพลาสติกบางชนิด ซึ่งเป็นประเภทขยะที่พบมากในมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมมือกับบริษัทอินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ในการนำขยะที่รีไซเคิลไม่ได้เหล่านี้ไปปรับสภาพให้มีค่าความร้อนเหมาะสมเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน และนำไปเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์  (co-processing in cement kilns) ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีอุณหภูมิและระยะเวลาที่มากพอ และมีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศที่ทันสมัย ทำให้สามารถกำจัดมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน

ระบบแยกขยะใหม่นี้ เรียกว่า “Recycle plus Energy Recovery” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “รีไซเคิลพลัส” (RECYCLE+)  ใช้ถังขยะรีไซเคิลสีเหลือง โดยรับขยะหลายประเภทที่ค่อนข้าง “สะอาด” และ “แห้ง” เช่น แก้วกระดาษถุงพลาสติก ช้อน-ส้อม หลอดดูดน้ำ แก้วพลาสติก  กล่องนม-น้ำผลไม้ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมีเนียม กระดาษ กล่อง snack box เป็นต้น จากนั้น ขยะทั้งหมดนี้ จะถูกแยกออกเป็น 1) ขยะทื่รีไซเคิลได้ และ 2) ขยะที่ส่งแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน เพื่อนำไปเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ต่อไป

ขวดแก้ว/ แก้วกระดาษ/แก้วพลาสติก/ช้อน-ส้อม: เทเครื่องดื่มออกให้หมด หากอยู่ใกล้อ่านล้างจาน ให้กลั้วน้ำก่อน เพื่อป้องกันมดและแมลงที่เข้ามาในถังขยะและทิ้งลงในถัง

  • ขวดน้ำ: เทน้ำออกจากขวด บีบหรือเหยียบขวดน้ำให้มีขนาดเล็กลงเพื่อลดพื้นที่ขยะและทิ้งลงในถัง
  • กล่อง snack box: แกะชิ้นส่วนของกล่องให้แบนราบและทิ้งลงในถัง