การอ้างอิง: เพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์ และ ศีลาวุธ ดำรงศิริ. (2564). วิถีการทำนาเกลือสมุทรของประเทศไทย. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 4).


บทความ: วิถีการทำนาเกลือสมุทรของประเทศไทย
เกลือและการดำรงชีวิตของมนุษย์
วิธีการผลิตเกลือ
วิถีการทำนาเกลือสมุทรของประเทศไทย
แหล่งผลิตเกลือที่สำคัญของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม (สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี, 2560) ได้แก่
1) กลุ่มพื้นที่ที่มีการผลิตมาก ประมาณร้อยละ 98 ของผลผลิตทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
2) กลุ่มพื้นที่ที่มีการผลิตเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 2 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี

• ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมพื้นที่นา
โดยการปรับดินในแปลงนาให้เรียบและแน่น ยกขอบแปลงให้สูงเหมือนคันนา และมีร่องระบายน้ำระหว่างแปลง แล้วแบ่งพื้นที่นาออกเป็นแปลง “นาตาก” “นาเชื้อ” และ “นาปลง” ที่มีระดับสูงต่ำตามลำดับ โดยนาตากจะอยู่ใกล้ทะเลที่สุดและมีระดับพื้นที่สูงสุด นาเชื้อมีระดับต่ำลงมา และนาปลงมีระดับพื้นที่ต่ำที่สุด เพื่อให้สามารถระบายน้ำเข้านาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ

• ขั้นตอนที่ 2 การทำนาเกลือสมุทร
การทำนาเกลือสมุทร จะเริ่มจากการนำน้ำทะเลเข้ามาเก็บไว้ในบ่อน้ำที่มีขนาดใหญ่และลึก เรียกว่า “วังน้ำ” หรือ “นาขัง” เพื่อให้สิ่งเจือปนในน้ำทะเล เช่น โคลนตมตกตะกอนลงสู่ก้นบ่อก่อน และมักพบสัตว์ทะเลอาศัยอยู่ในวังน้ำนี้ด้วย อีกทั้งบางพื้นที่อาจใช้วังน้ำนี้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลแบบธรรมชาติ เช่น กุ้งขาว กุ้งแชบ๊วย ปลาหมอเทศ ปลากะพง และปูทะเล จากนั้นน้ำทะเลจากวังน้ำจะถูกระบายเข้าสู่แปลง “นาตาก” ซึ่งเป็นบ่อตื้น มีระดับน้ำในนาสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วอาศัยกระแสสมและแสงแดดทำให้น้ำในนาระเหยออกไป แล้วจึงระบายน้ำเข้าสู่แปลง “นาเชื้อ” ซึ่งจะทำให้น้ำทะเลระเหยไปอีก จนทำให้ผลึกเกลือพร้อมที่จะตกตะกอน และในลำดับท้ายที่สุดจึงระบายน้ำเข้าสู่แปลง “นาปลง” (ระยะเวลาประมาณ 45 วันนับตั้งแต่การระบายน้ำเข้าสู่นาตากจนถึงนาปลง) เพื่อตกตะกอนผลึกเกลือสมุทร ซึ่งโดยปกติแล้วชาวนาเกลือจะปล่อยให้ผลึกเกลือตกตะกอนอยู่ในนาปลงประมาณ 15-45 วัน แล้วจึงขูดเอาผลึกเกลือออก ดังนั้นกระบวนการทำนาเกลือตั้งแต่ต้นจนสามารถผลิตผลึกเกลือได้นี้จึงใช้เวลาประมาณ 40-50 วัน และโดยทั่วไปจะสามารถผลิตผลึกเกลือได้ประมาณ 4-9 ตันต่อพื้นที่นา 1 ไร่ หรือ 2.5-6 กิโลกรัมต่อพื้นที่นา 1 ตารางเมตร

กรณีศึกษาวิถีการทำนาเกลือสมุทร ณ ศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
คณะผู้วิจัยได้ศึกษาและเรียนรู้ภูมิปัญญาและวิถีการทำนาเกลือสมุทร ณ โรงเรียนนาเกลือ หรือ ศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือ ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน และเป็นฝั่งซ้ายของปากแม่น้ำท่าจีน พื้นที่ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร (รูปที่ 1 (ก)) โดยมีคุณเลอพงษ์ จั่นทอง (ประธานศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือและปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำนาเกลือ) เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้และอำนวยความสะดวกในการเก็บตัวอย่างเพื่อการศึกษาวิจัย


ตารางที่ 1 แสดงขนาดของแปลงนา ค่าความเข้มข้นของน้ำทะเลในแปลงนา รวมไปถึงความเข้มข้นของแร่ธาตุที่พบเป็นหลักในเกลือในน้ำทะเลในแปลงนาต่าง ๆ

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อชาวนาเกลือได้เก็บเกี่ยวผลึกเกลือที่ผลิตได้แล้ว ยังจะได้มีการผันน้ำทะเลจากแปลงนาหมายเลข 9 และ 10 ซึ่งจะมีค่าความเค็มต่ำที่สุดในระบบแปลงนาแบบพ่วง ไปละลายผลึกเกลือที่อาจหลงเหลืออยู่ในแปลงนาเชื้อและนาปลง แล้วจึงสูบน้ำทะเลกลับเข้าสู่รางผันน้ำตรงกลางระหว่างแปลงนาฝั่งซ้ายและแปลงนาฝั่งขวา ผลึกเกลือที่ถูกละลายเหล่านี้จะทำให้ค่าความเค็มของน้ำทะเลจากแปลงนาที่ 9 และ10 นี้มีค่าสูงขึ้นได้


นอกจากนั้นยังพบว่าระดับความลึกของแปลงนาที่ไม่ลึกมาก การได้รับแสงแดดมากอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงค่าความเค็มของน้ำทะเลที่ไม่สูงมากจนเกินไปในแปลงนาหมายเลข 3-8 นี้ มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายเป็นอย่างมาก จึงทำให้สาหร่ายชนิดต่าง ๆ เจริญเติบโตอย่างหนาแน่นในแปลงนาเกลือ (รูปที่ 3) อีกทั้งยังพบสิ่งมีชีวิต เช่น ปลา และหอย อาศัยอยู่ในแปลงนาดังกล่าว หากแต่แปลงนาที่มีระดับความเค็มของน้ำทะเลที่สูงขึ้น (แปลงนาที่ 9-16) กลับไม่พบสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อาศัยอยู่แต่อย่างใด


ในส่วนของแปลงนาปลงที่ค่าความเค็มของน้ำทะเลในแปลงนามีความเหมาะสมจนทำให้ผลึกเกลือตกตะกอนนั้น พบว่าจะเกิดผลึกเกลือประเภทต่าง ๆ ประกอบไปด้วย “ดอกเกลือ” (รูปที่ 4 ก)) ซึ่งเป็นผลึกเกลือทรงลูกบาศก์ที่เกิดขึ้นที่ผิวน้ำทะเลในแปลงนาปลง จัดเป็นเกลือที่มีรสชาติดี และมีราคาสูงเนื่องจากเป็นผลผลิตเกลือที่เกิดขึ้นในปริมาณน้อยในระบบการผลิตเกลือสมุทรแต่ละครั้ง นอกจากนั้นยังมีผลึกเกลือที่ตกตะกอนที่พื้นของแปลงนาปลงที่มีน้ำทะเลความเข้มข้นสูง (รูปที่ 4 ข) เมื่อผลึกเกลือตกตะกอนเป็นจำนวนมาก (รูปที่ 4 ค) และ ง)) ชาวนาเกลือจึงจะได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเกลือสมุทรดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ในบางครั้งพบว่าชาวนาเกลืออาจใช้แผ่นพลาสติกชนิด HDPE ขนาดใหญ่ปูพื้นของแปลงนาปลง เพื่อให้การตกตะกอนและการเก็บเกี่ยวผลผลิตเกลือสมุทรนั้นได้เกลือที่สะอาดและมีสีขาวมากกว่าเกลือสมุทรที่เก็บเกี่ยวได้จากแปลงนาปลงที่ปกติแล้วพื้นนาเป็นพื้นดินเหนียวบดอัดแน่นเท่านั้น


ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าระบบการทำนาเกลือสมุทรนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และพึ่งพาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นอย่างมาก หากสภาพลมฟ้าอากาศแปรปรวน ก็อาจจะส่งผลให้การผลิตเกลือสมุทรได้ผลผลิตไม่มากพอ หรืออาจไม่สามารถผลิตเกลือสมุทรได้ นอกจากนั้นหากน้ำทะเลที่เป็นสารตั้งต้นของการผลิตเกลือสมุทรนั้นมีการปนเปื้อนของสารมลพิษต่าง ๆ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนของสารมลพิษต่าง ๆ ในเกลือสมุทรที่ผลิตได้ ทำให้คุณภาพของเกลือสมุทรนั้นไม่เหมาะสมต่อการบริโภคของมนุษย์ได้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอกระบวนการผลิตเกลือสมุทรของประเทศไทย สำหรับใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผลิตเกลือสมุทรต่อไป


โครงการวิจัยศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร (Study on Microplastic Contamination in Sea Salt) นี้ ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ ปีงบประมาณ 2561