การอ้างอิง: เบญจวรรณ ชัยศรี, พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์, อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ (2564). แนวทางการใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 2).
บทความ: แนวทางการใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางธรรมชาติของสภาพพื้นที่มีความสำคัญต่อการเกิดภัยแล้งมาก เช่น ลักษณะทางธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวยให้พื้นที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาภัยแล้งมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาศึกษาและวิเคราะห์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งมากขึ้น ครอบคลุมปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา ธรณีวิทยา ภูมิประเทศ การเกษตรและลักษณะของพืชพรรณ ระยะทาง การใช้ประโยชน์พื้นที่และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรายละเอียดของปัจจัยแสดงดังตารางที่ 1
แหล่งรวบรวมข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ส่งเสริม ววน.)
ปัจจัยหลัก
รายละเอียดของปัจจัย
ด้านอุตุนิยมวิทยา
ดัชนีความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝน จำนวนวันที่ฝนตก อุณหภูมิ ความชื้นสัมพันธ์ ลม โอกาสที่ฝนตก
ด้านอุทกวิทยา
ขนาดของลุ่มน้ำ ความหนาแน่นของลำน้ำในลุ่มน้ำย่อย แหล่งน้ำผิวดิน ปริมาณน้ำใต้ดิน พื้นที่ชลประทาน
ด้านธรณีวิทยา
การระบายน้ำของดิน ความสามรถในการอุ้มน้ำของดิน ความสามารถในการให้น้ำของบ่อบาดาล
ด้านภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศ ลักษณะของดิน ความลาดชันของพื้นที่
ด้านการเกษตรและลักษณะของพืชพรรณ
ประเภทของพืชพรรณ การคายน้ำของพืช
ด้านระยะทาง
ระยะห่างจากทางน้ำ ระยะห่างจากพื้นที่ชลประทาน
ด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
ด้านอื่น ๆ
พื้นที่ภัยแล้งในอดีต สิ่งกีดขวางทางน้ำ ความสูงจากระดับน้ำทะเล
สำหรับข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์อาศัยการรวบรวมข้อมูลลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ที่แสดงในรูปของภาพ (Graphic) แผนที่ (Map) เชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงบรรยาย (Attribute Data) หรือฐานข้อมูล (Database) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละปัจจัยจะมีการเก็บข้อมูลดังกล่าวทั้งในรูปของ Shape File และรูปของตารางข้อมูล (Excel) ยกตัวอย่างเช่น ปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา แหล่งข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ปัจจัยด้านอุทกวิทยา แหล่งข้อมูลกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมควบคุมมลพิษ ปัจจัยด้ายสภาพภูมิประเทศ แหล่งข้อมูลกรมพัฒนาที่ดิน ด้านการเกษตร แหล่งข้อมูลกรมพัฒนาที่ดินและกระทรวงเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ดี เป็นที่สังเกตว่าระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทที่สำคัญในการบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และใช้สำหรับติดตาม วางแผนคาดการณ์ล่วงหน้า ตรวจสอบ และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยแล้งได้อย่างมีความเหมาะสมกับพื้นที่ อย่างไรก็ดี ควรมีการแปรผลโดยการวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจควบคู่กับข้อมูลแผนที่อื่นประกอบกัน เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ภูมิประเทศ ข้อมูลธรณีวิทยา เป็นต้น ดังนั้นการเลือกใช้ข้อมูลและการให้ความสำคัญของข้อมูลในแต่ละปัจจัยจึงต้องเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และการแปรผลที่สอดคล้องกับแนวโน้มและพื้นที่ประสบภัยในอดีตด้วย จึงจะทำให้การแปรผลและการวางแผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น