บทความ: อนาคตของการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง - การเมืองแบบเดิมนำพาเราก้าวล้ำเส้นอันตรายแห่งพิภพไปแล้ว
คณะนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้นิยาม “พรมแดนแห่งพิภพ” ว่าภายในเขตพื้นที่ดังกล่าวนี้มนุษย์เราสามารถมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยปลอดภัย ไม่ต้องหวาดหวั่นอันตรายหรือความเสี่ยงใด ๆ แต่ถ้าหากมนุษย์เราก้าวล่วงเขตแดนเขตใดเขตหนึ่ง หรือหลายเขตสามารถจะเป็นผลร้ายหรืออาจก่อความเสียหายขนานใหญ่ได้เพราะความเสี่ยงอันตรายจากการก้าวข้ามเขตแดนนั้น ๆ ไปอาจจะกระตุ้นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมอย่างฉับพลันในระดับที่กว้างใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนได้ เช่น
ผลสะเทือนอย่างเป็นระบบในรูปของภัยพิบัติระดับอนุทวีป ทวีป หรือแม้แต่ ผืนพิภพได้
*Prof. Paul J. Krutzen เคยปาฐกถา ณ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เรื่อง “มลพิษทางอากาศในเอเชียและผลกระทบต่อภูมิอากาศในภูมิภาคและทั่วโลก” นอกจากนั้นได้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ชุดโครงการ "Bridges - Dialogues Towards a Culture of Peace" สนับสนุนโดย The International Peace Foundation สามารถรับชมการปาฐกถาได้ที่ [ออนไลน์] สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=BacSUkl18rs ศาสตราจารย์ครุทเซน เพิ่งถึงแก่กรรมเมื่อเร็วนี้เอง (28 มกราคม พ.ศ. 2564 (2021))
เขตแดนต่าง ๆ เหล่านี้มิได้เป็นเอกเทศจากกัน หากแต่ว่าสามารถจะมีผลต่อกันและกันได้ บางกรณีมีผลต่อกันอย่างเป็นการเสริมแรงอย่างทวีคูณ การเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งสามารถส่งผลกระทบข้ามทวีปไปได้ เช่น การลดลงของพื้นที่ป่าในเขตอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้สามารถส่งผลให้ทรัพยากรน้ำในทวีปเอชียลดลงได้ แสดงว่าเขตแดนของน้ำจืดนั้นอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเขตแดนอื่น เช่น การใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ป่าในเขตร้อนเป็นกุญแจแห่งดุลยภาพด้านพลังงานในระดับภูมิภาคและในระดับโลกตลอดจนในวงจรของระบบน้ำ (Hydrological Cycles) ต่าง ๆ
โยฮัน ร๊อคสตรอม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสตอคโฮล์ม นักวิทยาศาสตร์ผู้เขียนหลักของคณะนักวิทยาศาสตร์ 28 คนนี้ได้นำเสนอสาระสำคัญของบทความนี้ ในการประชุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2546 ในหัวข้อเรื่อง การเติบโตอย่างยั่งยืนภายในพรมแดนแห่งพิภพที่มีพื้นที่ดำเนินการอันปลอดภัย (Sustainable Growth within the Safe Operation Space of Planet boundaries)
ข่าวดีได้แก่ข้อที่ว่า บัดนี้เรามีองค์ความรู้พอจะกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์เราจำนวนราว 6,000 ล้านคนกับธรรมชาตินั้นมีพรมแดน และมีพรมแดนอยู่ 9 เขตแดนที่การดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้กลายเป็นภาระที่หนักอึ้งแก่ธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่ต้องวิตก
ที่ร้ายกว่านั้น คือว่าขณะที่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในโลก ชี้ให้เห็นโดยปราศจากข้อกังขาว่านับแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลกเป็นต้นมา ปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นทวีคูณ สิ่งที่ชัดแจ้งต่อหน้าเราได้แก่ข้อที่ว่าในปัจจุบันตัวปัญหาจากน้ำมือมนุษย์เหล่านี้วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วนี้ ตัวโครงสร้างและกลไกอันเป็นเครื่องมือที่จะแก้ปัญหา กลับกระจัดกระจายและยังไม่มีวี่แววว่าจะปฏิรูปตัวได้ทันความจำเป็น และการพัฒนาแนวทางสร้างปัญหาก็ยังถูกผลักดันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การพัฒนาแนวทางลดปัญหายังเป็นจริงอยู่อย่างกระท่อนกระแท่น
**ความคืบหน้าที่สำคัญที่สุด ได้แก่ มติของสหประชาชาติในการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2015 และเราสามารถพิจารณาบทบาทของมโนทัศน์สำคัญในเรื่องนี้ได้ใน Biermann, Frank & Kim, Rakhyun. (2020). The Boundaries of the Planetary Boundary Framework: A Critical Appraisal of Approaches to Define a “Safe Operating Space” for Humanity. Annual Review of Environment and Resources. 45(1).
สำหรับประเทศไทยการมุ่งการพัฒนาโดยการใช้ตัวเงินเป็นตัวนำ ยังครองทิศทางการเมืองและการพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งอยู่ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นยังไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่แสดงสำนึก “จะแก้ไขในสิ่งผิด” หากแต่อบอวลด้วยกลิ่นอายของการส่งเสริมยาเสพติด “ประชานิยม”
ภายหลังการรัฐประหาร 2549 และ 2553 ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายยุคที่ชนชั้นนำเห็นความสำคัญของการมี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อให้เป็นกรอบกำหนดการจัดสรรงบประมาณและการดำเนินกิจการของประเทศสู่อนาคต ในทางวิชาการทางสังคมวิทยา รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แล้ว
เราสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า แนวทางเช่นนี้ให้น้ำหนักแก่ “การบริหาร” ให้อยู่เหนือ “การเมือง” และทำนองเดียวก็เป็นการเพิ่มอำนาจแก่ราชการมีบทบาทหลักแทนที่จะให้ภาคสังคมรวมกันกำกับดูแลความเสี่ยงร่วมกัน เราดำเนินการพัฒนาประเทศตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การลดพื้นที่การคิดอ่านร่วมกันในสังคมและสาธารณะลง ขณะที่ขยายพื้นที่การปฏิบัติตามแนวยุทธศาสตร์และตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้จาก “เบื้องบน”มากขึ้น แต่ปัจจุบันเป็นที่ตระหนักมากขึ้นว่าการพึ่งพาอาศัยแต่บทบาทของชนชั้นนำแต่อย่างเดียวจนกลายเป็นการติดกับดักหรือวังวนการพัฒนาแบบเดิมๆ เปิดพื้นที่ในการคิดอ่านร่วมกันให้ขว้างขวางขึ้นจะเป็นการสร้างพลังมุ่งไปสู่อนาคตที่ที่ยั่งยืน โจทย์ท้าทายการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง ทั้งนักการเมืองและประชาชนต้องช่วยกันตอบ แต่เหนือไปกว่านั้นได้แก่ความเข้มแข็งของสติปัญญาสาธารณะ สังคมจำต้องตื่นตัวไม่ฝากชีวิตอนาคตไว้ตามวงจรและกับดักทางการเมืองแบบเดิม ๆ การเดินทางท่ามกลางความเสี่ยงอันตรายในระดับโลก (Global Risks) เหล่านี้เรียกร้องให้เราสนใจนิเวศวิทยาแห่งนโยบาย (ecology of policy making) อันได้แก่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการระดม “สติ” และปัญญาในระดับบุคคลและในระดับสังคม ดังนั้น ในการนี้มหาวิทยาลัยจำเป็นอย่างยิ่งในการทบทวนตนเองจัดวางบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนอนาคตกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาสังคมและภาคประชาชน ให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องด้วย