การอ้างอิง: เพ็ญศิริ เอกจิตต์ และ ฮุสนา โรมินทร์. (2563). การประเมินโครงการลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต (Evaluation of Katu Municipality Campaign To Stop Using Foam And Plastic Bags, Phuket Province). วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 2).


บทความ: การประเมินโครงการลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต (Evaluation of Katu Municipality Campaign To Stop Using Foam And Plastic Bags, Phuket Province)


จังหวัดภูเก็ตถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทยและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้จังหวัดภูเก็ตมีความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและจากข้อมูลสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในภาคใต้ พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตมีอันดับสูงเป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้ โดยในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวน 13,493,273 คน (สำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต, 2561) ในขณะที่ประชากรตามทะเบียนราษฎรในปี พ.ศ. 2561 มีจำนวน 410,211 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2562) คิดเป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่อประชากรตามทะเบียนราษฎร เป็น 32:1 ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ต ด้วยเหตุนี้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญเพื่อการส่งต่อของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากรุ่นสู่รุ่น และสร้างการกระจายรายได้ให้ทุกส่วนในจังหวัดภูเก็ต อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้มีนโนบายการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ จึงก่อให้เกิดขยะมูลฝอยจากกิจกรรมต่างๆ ของนักท่องเที่ยวและประชากรที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูเก็ต เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นขยะมูลฝอยจึงเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเฉพาะขยะพลาสติกโดยประเทศไทยเป็นอันดับ 6 ของโลกที่มีขยะพลาสติกในปริมาณสูง คิดเป็น 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมีเพียงขยะ 0.5 ล้านตัน ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ถูกนำไปเผาทำลายและฝังกลบ ส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อน เช่น ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว เป็นต้น (กรมควบคุมมลพิษ, 2560) ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ถุงพลาสติกมีเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้การลดใช้ถุงพลาสติกและโฟมจึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักอย่างมากในปัจจุบัน ที่ต้องมีการจัดการอย่างจริงจัง เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศของชุมชนโดยนำมาสู่การเดินหน้าทำแผนลดปริมาณขยะและเพิ่มวิธีรีไซเคิลพลาสติก

กรณีศึกษา: โครงการลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

งานวิจัยนี้เป็นการประเมินผลสำเร็จของโครงการลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต โดยอำเภอกะทู้แบ่งเขตการปกครองเป็น 3 ตำบลประกอบด้วยตำบลกะทู้, ตำบลป่าตอง และตำบลกมลา มีพื้นที่ทั้งหมด 34.81 ตารางกิโลเมตร (21,756.25 ไร่) มีชุมชนทั้งหมด 19 ชุมชน (เทศบาลเมืองกะทู้ จังหวัดภูเก็ต, 2563) โดยกลุ่มตัวอย่างประชากรที่ศึกษาคือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จำนวน 300 คน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 58,600 คน 18 หมู่บ้าน และ 8,773 หลังคาเรือน (อ้างอิงจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2562) ซึ่งคำนวณจากสูตรของ Yamane, 1967 (อ้างอิงจากคณิศร เทียนทอง, 2552) งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) และระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณด้วยการสำรวจ (Survey Research) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยทำการวิจัยในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) โดยอ้างอิงที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 และค่าความคลาดเคลื่อนที่ระดับร้อยละ ±5 โดยมีตัวแปรอิสระ (Independent Variables) และตัวแปรตาม (Dependent Variables) ประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสาร ข้อมูลปัจจัยด้านทัศนคติ ข้อมูลปัจจัยด้านความรับผิดชอบทางสังคม และข้อมูลการตัดสินใจลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกในจังหวัดภูเก็ต ตามลำดับ (รูปที่ 1)


จากการสำรวจประชาชนในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จำนวน 300 คน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 60.7) มีอายุ 40 - 49 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 24.4) รองลงมาคือ มีอายุ 30 - 39 ปี (ร้อยละ 23.0) มีสถานภาพโสด (ร้อยละ 50.3) จบการศึกษาสูงสุดในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี (ร้อยละ 68.7) รองลงมาคือ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 28.0) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว (ร้อยละ 34.2) รองลงมาคือ รับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 22.0) และพนักงานบริษัท/ห้างร้าน/โรงแรม (ร้อยละ 14.7) มีรายได้ต่อครัวเรือน 10,001-15,000 บาท (ร้อยละ 28.7) รองลงมาคือ น้อยกว่า 10,000 บาท (ร้อยละ 22.3) มีสมาชิกในครัวเรือนจำนวน 3 - 4 คน (ร้อยละ 48.3) รองลงมาคือในครัวเรือนมีสมาชิก 1 - 2 คน (ร้อยละ 22.7)

อีกทั้งจากการสำรวจประชาชนในอำเภอกะทู้จังหวัดภูเก็ต พบว่า ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชนในพื้นที่ในการตอบแบบสอบถามรวมทั้งประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและปัญหาพลาสติกและโฟม ซึ่งทำให้เข้าใจทัศนคติ ความรับผิดชอบทางสังคม และพฤติกรรมของประชาชนที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการงดใช้โฟมและถุงพลาสติกมากขึ้น จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติสรุปเป็นประเด็นต่างๆได้ดังต่อไปนี้

• การรับรู้ข่าวสาร: ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีการรับรู้ข่าวสารในระดับกลาง (ร้อยละ 72.7) ซึ่งเคยรับรู้ข่าวสารว่า“การใช้โฟมและถุงพลาสติกทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม” (ร้อยละ 97.0) แต่ไม่ทราบว่า “อำเภอกะทู้ได้มี"ข้อกำหนดท้องถิ่น ให้ร้านค้า และประชาชน ร่วมกันงดใช้โฟมบรรจุอาหาร” อย่างจริงจัง (ร้อยละ41.0)

• ทัศนคติ: ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีในระดับสูง (ร้อยละ 89.7) ทัศนคติเห็นด้วยมากที่สุดในหัวข้อ “พลาสติกและโฟมเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยากในธรรมชาติและสร้างมลพิษในสิ่งแวดล้อม” (ร้อยละ 97.0) รองลงมาคือหัวข้อ “เห็นด้วยว่าการลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม” (ร้อยละ 95.7) และ“เห็นด้วยว่าการลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องปฏิบัติ” (ร้อยละ 89.0)

• ความรับผิดชอบทางสังคมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการงดใช้โฟมและถุงพลาสติก: ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความรับผิดชอบทางสังคมในระดับสูง (ร้อยละ 91.0) และเห็นด้วยมากที่สุด ในหัวข้อ “เห็นด้วยว่าลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมกันรับผิดชอบ” (ร้อยละ 94.3) รองลงมาคือ หัวข้อ “อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมโดยการลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติก” (ร้อยละ 89.7) และ หัวข้อ “เห็นว่าการลดและงดการใช้โฟมและถุงพลาสติกทำให้ลดพลังงานการกำจัดขยะ” (ร้อยละ 89.4)

• พฤติกรรมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการงดใช้โฟมและถุงพลาสติก: ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีพฤติกรรมในระดับกลาง (ร้อยละ 54.0) โดยผู้ตอบแบบสอบถาม “เคยเตรียมถุงผ้า ถุงพลาสติกใช้แล้ว หรือกล่องกระดาษ ไปใส่สินค้าที่ซื้อจากร้านค้าเองเป็นบางครั้ง” (ร้อยละ 36.0)

• เหตุผลในการลดหรืองดการใช้โฟมหรือถุงพลาสติก: พบว่า เหตุผลในการลดหรืองดการใช้โฟมหรือถุงพลาสติกลำดับที่ 1 คือ “เพื่อลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น” (ร้อยละ 53.7) เหตุผลลำดับที่ 2 คือ “เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต” (ร้อยละ 60.4) เหตุผลลำดับที่ 3 คือ “เพื่อได้แต้มหรือคะแนนสะสมเพิ่มจากห้างหรือร้านค้าจากการงดการใช้โฟมหรือถุงพลาสติก” (ร้อยละ 56.1) เหตุผลลำดับที่ 4 คือ “เพื่อตามกระแสนิยม” (ร้อยละ 52.3) (ตารางที่ 1)

เหตุผลที่ลดหรืองดการใช้โฟม
หรือถุงพลาสติก
ลำดับ 1
n
%
2
n
%
3
n
%
4
n
%
5
n
%
เพื่อลดปริมาณขยะ 161
(53.7) 89
(29.7) 10
(3.3) 3 
(1.0) 0
(0.0) เพื่อตามกระแสนิยม 7
(5.3) 4 
(3.0) 46
(34.8) 69 
(52.3) 6 
(4.5) เพื่อได้แต้มหรือคะแนนสะสมเพิ่มจากห้างหรือร้านค้าจากการงดการใช้โฟมหรือถุงพลาสติก 7 
(5.3) 7 
(5.3) 74
(56.1) 41 
(31.1) 3 
(2.3) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต 71 
(27.8) 154
(60.4) 25
(9.8) 5 
(2.0) 0
(0.0) อื่นๆ 25 
(73.5) 4
(11.8) 4
(11.8) 1 
(2.9) 0
(0.0)

สรุปผลการวิจัย
ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพซึ่งนําไปสู่การลดปัญหาขยะในชุมชนต่อไปในอนาคต และเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนท้องถิ่นมีจิตสำนึกที่ดีทั้งจากสื่อโฆษณาหรือห้างร้านต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนสังคมให้ทันสมัยควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเช่นกัน จึงจะทำให้ประชาชนหันมาปฏิบัติในการงดและลดใช้โฟมและพลาสติกได้จริง และปฏิบัติโดยเป็นกิจวัตรประจำวัน