ศิริพันธ์ นันสุนานนท์, ปิยะพงษ์ จันทร์ใหม่มูล, ริเรืองรอง รัตนวิไลสกุล, วิภาวี เอี่ยมวรเมธ, ภาสนันทน์ อัศวรักษ์
สายวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ฯ หมายถึง พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่พรุ พื้นที่ฉ่ำน้ำ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่อย่างถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว อาทิ ป่าพรุ ป่าชายเลน เป็นต้น โดยคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำคือการเป็นระบบนิเวศที่มีบทบาทหน้าที่ตลอดจนคุณค่าและความสำคัญต่อวิถีชีวิตทั้งของมนุษย์ พืช และสัตว์ รวมทั้งระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนพื้นที่ชุ่มน้ำมีความแตกต่างจากวิถีชีวิตของคนในชุมชนเมือง [ศันสนีย์, 2560]
ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้ชุมชนหมู่ที่ 8 บ้านชายทะเล มีวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และความเชื่อที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชน ซึ่งวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และความเชื่อเหล่านี้สัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะของคนในชุมชน ก่อให้เกิดวิถีชีวิตชาวประมงชายฝั่งทะเล ในทางตรงกันข้ามวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และความเชื่อที่กำเนิดขึ้นก็ส่งผลต่อการใช้พื้นที่สาธารณะเช่นกัน เช่น คนในชุมชนมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก เป็นต้น ซึ่งการใช้ประโยชน์พื้นสาธารณะเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างสมดุลและยั่งยืน
2. วัตถุประสงค์
3. แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
คำว่า “ภูมิสังคม” (Social Geography) หรือ Geosocial หมายถึง ความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ชีวภาพ วิถีชีวิต ประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรม (English-Thai : Longdo Dictionary) [ภูมิสังคม.2555] เป็นคำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงใช้เป็นหลักการทรงงานที่ว่า “การพัฒนาใด ๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน” [คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,2550] ดังนั้นการศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชนหนึ่งๆ ต้องให้ความเคารพและสอดคล้องกับ “ภูมิสังคม”
พื้นที่สาธารณะ (Public Space) มีความหมายโดยทั่วไป หมายถึง พื้นที่ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคน เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้หรือแบ่งปันร่วมกันกับสมาชิกทุก ๆ คนในชุมชน เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ รวมทั้งเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากใคร เช่น ทางเท้า ถนน สวนสาธารณะ ลานชุมชน ลานเมือง ซึ่ง Efroymson, ThanhHa, and ThuHa (2009) กำหนดนิยามความหมายของพื้นที่สาธารณะ หมายถึง พื้นที่ที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันและก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนทางสังคม (Social Relation and Exchange) รวมทั้งช่วยรักษาความเป็นสังคมของสังคมหนึ่งเอาไว้ หากไม่มีพื้นที่สาธารณะจะทำให้ชุมชนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น (Isolation) พื้นที่สาธารณะยังช่วยส่งเสริมความรู้สึกผูกพันกับพื้นที่และชุมชนของตนเอง (Sense of Place and Sense of Community) และทำให้เกิดการสื่อสารภายในชุมชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
องค์การยูเนสโก (UNESCO, 1978) ได้ให้ความหมายคุณภาพชีวิต หมายถึง ความรู้สึกของบุคคลต่อการดำรงชีวิต สะท้อนให้เห็นถึง การดำรงชีวิตอยู่อย่างพอใจ มีความสุข โดยที่มีความพอใจต่อชีวิตของตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น อาหาร สุขภาพอนามัย การศึกษา สิ่งแวดล้อม และทรัพยากร สอดคล้องกับ David Phillips (2006) ที่ให้นิยามความหมายของคุณภาพชีวิต หมายถึง การอยู่ดีมีสุข มีความสุขในการดำรงชีวิต โดยที่มีความพึงพอใจในชีวิตของตนเอง ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) (The WHOQOL Group, 1995) กล่าวว่า คุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนค่านิยมในแต่ละช่วงเวลาที่ศึกษา ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับความคาดหวังของแต่ละบุคคล โดยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในแต่ละสังคม ทั้งนี้ระดับคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคลจะขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่ต่างคนต่างกำหนดขึ้น
4. วิธีการศึกษา
5. ผลการศึกษาและการอภิปรายผล
จากการสำรวจพื้นที่และการสัมภาษณ์เชิงลึก พ.ศ. 2560 พบว่า ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และเป็นพื้นที่แอ่งกระทะที่ได้รับตะกอนจากแม่น้ำท่าจีนและแม่เจ้าพระยา ตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนถือว่าเป็นพื้นที่เส้นทางปลายน้ำที่อุดมไปด้วยทรัพยากรป่าชายเลน มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืชและสัตว์น้ำนานาชนิด แม้ว่าประชาชนจะเผชิญกับสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเน่าเสียได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพประมงซึ่งเป็นอาชีพที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต โดยแบ่งเป็นอาชีพประมงพื้นบ้านหรือประมงที่เกิดจากการออกจับสัตว์น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และ ประกอบอาชีพทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ กุ้งแชร์บ๊วย หอยแมลงภู่ หอยแครง ปูม้า และปลานานาชนิด ที่เหลือประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น รับจ้างทั่วไป รับราชการ เป็นต้น
ในด้านการตั้งถิ่นฐาน อาชีพ และภูมิปัญญา พบว่า ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามบริเวณเส้นทางคมนาคม ทั้งเส้นทางถนน และริมคลอง ทั้งคลองโล่ง (ทางขวาง) และคลองตรง (ทางตรง) โดยการไหลของน้ำจะเป็นตามเส้นทางของคลอง และไม่มีประตูกั้นน้ำเค็มหลัก โดยบริเวณที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น คือ หมู่บ้านปากคลองประมง และศาลมัจฉานุ (ดูรูปที่ 2) บริเวณดังกล่าวจะพบวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านที่มีการออกเดินเรือในทะเลเพื่อจับสัตว์น้ำ บางส่วนทำอาชีพบริการอื่น ๆ ที่พึ่งพาทรัพยากรทางทะเล เช่น ร้านอาหารทะเล รีสอร์ท บริการเดินเรือเพื่อท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนวิถีชีวิตของชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พบได้ทางด้านตะวันตกของชุมชน ประชาชนส่วนใหญ่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อขาย มักเรียกว่า “วัง” เช่น วังกุ้ง วังหอย ส่วนการทำเกษตรกรรมเพาะปลูกพืช พบว่า คนในชุมชนไม่ได้ให้ความสนใจ เนื่องจากเห็นว่าให้ผลตอบแทนช้าและคนในชุมชนไม่มีภูมิปัญญาด้านการเพาะปลูก ส่วนภูมิปัญญาที่สำคัญของชาวบ้านหมู่ที่ 8 คือ ความรู้เรื่องการทำประมงในทะเล รวมถึงการคาดเดาสภาพภูมิอากาศ และการประดิษฐ์เครื่องมือจับสัตว์น้ำประเภทต่าง ๆ เช่น อวนจับปลา โพงพางจับปลา ละวะดักเคย เรืออีป๊าบ และปืนยิงปลา ทั้งหมดนำมาใช้ในการทำประมงสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ด้านสังคม พบว่า คนในชุมชนพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านชายทะเลอาศัยอยู่แบบเครือข่ายญาติ เนื่องจากชุมชนชาวประมงจะมีการตั้งบ้านเรือนใกล้ชิดกัน และไม่ค่อยมีการย้ายเข้าหรือย้ายออกมากนัก คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงเป็นเครือญาติกันหรือเป็นเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกันมาเป็นระยะเวลานาน จึงก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เข้มเข็ง มีสภาพสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ช่วยกันสอดส่งดูแลความปลอดภัยในชุมชน
พื้นที่สาธารณะของชุมชนหมู่ที่ 8 บ้านชายทะเล หมายถึง บริเวณพื้นที่ทางธรรมชาติ เช่น พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน ลำคลอง และบริเวณพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นและเกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น พื้นที่ละแวกบ้านหรือชุมชน ร้านค้าพาณิชย์ ศาลเจ้า และเส้นทางคมนาคม ซึ่งแต่ละพื้นที่ล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านชายทะเล ดังนี้
- เป็นแหล่งประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ผูกติดกับการทำประมง ปัจจุบันประชาชนมีรายได้ลดลงเนื่องจากน้ำเน่าเสีย และการกัดเซาะชายฝั่ง
- เป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลและริมคลอง เช่น วัฒนธรรมการแปรรูปอาหารต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา อาหารทะเลตากแห้ง รวมไปถึงเป็นแหล่งกำเนิดภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่น การผลิตเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ได้แก่ อวนจับปลา โพงพางจับปลา ละวะดักเคย เรืออีป๊าบ และปืนยิงปลา
- เป็นแหล่งเรียนรู้ ระบบนิเวศของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างดี จะเห็นได้ว่าชาวบ้านมีองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดพันธุสัตว์น้ำในทะเล
- พื้นที่ป่าโกงกางชายฝั่งทะเลบริเวณจังหวัดสมุทรสาครมีพันธุ์พืชนานาชนิด เช่น แสมทะเล แสมขาว โกงกางใบใหญ่ ตะบูนขาว ถั่วขาว และต้นจาก พืชเหล่านี้ทำหน้าที่ช่วยป้องกันและชะลอความรุนแรงของคลื่นลมทะเล ทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติมากขึ้น
ที่มา จากการสำรวจ เดือน พย. 2560
ที่มา จากการสำรวจ เดือน พย. 2560
2. พื้นที่ละแวกบ้าน
- ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ให้กับชุมชน ชาวบ้านจะใช้พื้นที่ละแวกบ้านเพื่อปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวัน มีการเดินทางไปมาหาสู่ พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นประจำ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน
- ส่งเสริมการประกอบอาชีพ ชาวบ้านจะใช้พื้นที่ละแวกบ้านหรือละแวกชุมชนเพื่อประกอบอาชีพ เช่น การตากกุ้ง ตากปลา เป็นต้น เป็นลักษณะการใช้พื้นที่อย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีต อย่างไรก็ตามปัจจุบันชาวบ้านในบางพื้นที่ได้เปลี่ยนไปทำอาชีพนอกเหนือจากการประมงมากขึ้น
- ในทุก ๆ ชุมชนจะมีร้านค้าพาณิชย์ที่คนในชุมชนจะมาใช้บริการเป็นประจำ และมักสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัยในชุมชน ชุมชนบ้านชายทะเลมีร้านค้าพาณิชย์ที่ขายสินค้าอุปโภคและบริโภคทั่วไป และมีบางร้านที่รับซื้อสัตว์น้ำที่จับได้โดยชาวประมงทั้งในและนอกพื้นที่มาขายต่อให้คนทั่วไป จึงเป็นพื้นที่ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวประมงกับคนอาชีพอื่น ๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่
ที่มา จากการสำรวจ เดือน พย. 2560
ที่มา จากการสำรวจ เดือน พย. 2560
4. ศาลเจ้า
- ศาลเจ้าในพื้นที่ชุมชนหมู่ที่ 8 บ้านชายทะเล สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน และเป็นพื้นที่ที่ผูกติดกับความเชื่อของชาวชุมชนบ้านชายทะเล เกิดการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแสดงความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่ชุมชนศรัทธา ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งของชุมชน รวมทั้งยังเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อจัดงานตามประเพณีของชาวบ้านอีกด้วย สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชุมชน
ที่มา จากการสำรวจ เดือน พย. 2560
- เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ในการประกอบกิจกรรมนันทนาการ เช่น การออกกำลังกาย หรือใช้เป็นพื้นที่เพื่อจัดงานต่าง ๆ ของชาวบ้าน เช่น งานแต่งงาน ฯลฯ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ข่าวสารต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดีขึ้น และมีความเข้าใจการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและถูกหลักอนามัย
ที่มา จากการสำรวจ เดือน พย. 2560
ภูมิสังคม วิถีชีวิตและการใช้พื้นที่สาธารณะของพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางทะเลได้ส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในมิติต่าง ๆ ทั้งทางการเป็นแหล่งอาหารและทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเป็นรากฐานของวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ในชุมชน ภูมิปัญญาของชุมชนเกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำ การผลิตเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับจับสัตว์ วัฒนธรรมการถนอมอาหารชนิดต่าง ๆ ล้วนมีฐานมาจากการใช้ทรัพยากรทางทะเล รวมไปถึงระบบความเชื่อและความศรัทธาในชุมชนด้วย จึงกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตและพื้นที่สาธารณะมีความเชื่อมโยงกับทะเล อาทิ บริเวณชายทางทะเล ป่าโกงกาง และคลอง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรากฐานทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความเชื่อของชุมชน แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้เสื่อมโทรมลงอันเนื่องมากจากกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรอย่างขาดความระมัดระวัง ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมาก หน่วยงานที่เกี่ยวจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับทะเล เนื่องจากชาวบ้านไม่มีศักยภาพที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้เพียงลำพัง
บรรณานุกรม
1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: สานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550), หน้า 10-11.
2. ภูมิสังคม. ค้นวันที่ 22 ตุลาคม 2555 จาก http://dict.longdo.com/search/ภูมิสังคม.
3. สุภาวดี เชื้อพราหมณ์ และอรศิริ ปาณินท์ (2556). ความเป็นอื่นของพื้นที่สาธารณะในวิถีชาวบ้านชุมชนทะเลน้อย. ดำรงวิชาการ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2. หน้า 129-152.
4. ศันสนีย์ ชูแวว. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพย์ยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. จาก http://www.wild lifefund.or.th/wetlands_2.html. (สืบค้น 20 มีนาคม 2561).
5. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองสมุทรสาคร. ข้อมูลชุมชนจาก http://www.nfesakhon.net/muangsakhon/?q=node/8 (สืบค้น 29 มีนาคม 2561).
6. Efroymson, D., ThanhHa, T.T.K., ThuHa, Pham, (2009). Public Spaces: How They Humanize Cities, HealthBridge - WBB Trust, Dhaka.
7. David, P. (2006). Quality of life: Concept, policy and practice. London and New York: Taylor & Francis Group.
8. The WHOQOL GROUP. 1995. The World Health Organization Quality of Life Assessment (WHOQOL): position paper from the World Health Organization. Social Sciences Medicine, 41 (10): 1403-1409.
9. UNESCO. 1978. Indicators of Environmental Quality and Quality of Life. Paris: UNESCO.