บทความ: ประเด็นความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล

การผลิตและการบริโภคในทุกอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หากไม่คำนึงถึงวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน จะส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น และส่งผลเสียต่อการพัฒนาและความยั่งยืนของประเทศ (Bom, Jorge, Ribeiro, & Marto, 2019) ภัยคุกคามทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นปัญหาและความท้าทายระดับโลก ความยั่งยืนจึงมีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องตระหนักไม่เพียงแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมิติทางสังคมและเปลี่ยนแปลงการผลิตและการบริโภคไปสู่รูปแบบที่ยั่งยืนมากขึ้น (Halder, Hansen, Kangas, & Laukkanen, 2020) ในขณะเดียวกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการบริโภคทำให้ผู้บริโภคตระหนักและมีแรงจูงใจในการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Halder et al., 2020; Kilbourne et al., 2009; Laroche, Bergeron, & Barbaro‐Forleo, 2001; Liobikienė & Bernatonienė, 2017; Paul, Modi, & Patel, 2016) การบริโภคนิยมอย่างมีจริยธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดจากความรู้สึกรับผิดชอบและความเต็มใจที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Chen, 2001; Halder et al., 2020; Ogiemwonyi et al., 2020; Paul et al., 2016) ดังจะเห็นได้จากเทรนด์ของตลาดโลกสำหรับผลิตภัณฑ์ออแกนิคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดและต่อเนื่อง (Liobikienė & Bernatonienė, 2017; Mazar & Zhong, 2010) 

แม้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและภาพรวมของธุรกิจทั่วโลก แต่การผลิตและการบริโภคในจำนวนมากย่อมมาพร้อมกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากตาม กระบวนการผลิตที่ไม่ยั่งยืนล้วนก่อให้เกิดภัยคุกคามและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางน้ำและอากาศ การจัดหาวัตถุดิบและการค้าที่ไม่เป็นธรรม การทดสอบผลิตภัณฑ์กับสัตว์ ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ (Sahota, 2014) ขยะจากบรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในปัญหาที่ชัดเจนที่สุด และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุด บรรจุภัณฑ์จำนวนไม่น้อยกว่า 120 พันล้านชิ้นต่อปีมาจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลก (Erdmane, 2019; Quantis, 2020; Sherriff, 2019) โดยร้อยละ 95 ของบรรจุภัณฑ์เพื่อความงามถูกโยนทิ้งหลังจากใช้เพียงครั้งเดียว และมีพลาสติกเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล (Prabhakar, 2020) รูปที่ 1 แสดงการประท้วงของกรีนพีซต่อบริษัทเครื่องสำอางรายใหญ่ของโลกเนื่องจากมลพิษพลาสติกที่บริษัทสร้างขึ้น 


ที่มา: https://www.reutersevents.com/sustainability/virginie-helias-pgs-ocean-plastic-bottles-only-beginning-war-plastic

ด้วยความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบด้านความยั่งยืน ผู้บริโภคจึงเรียกร้องและผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากข้อมูลของ Quantis (2020) พบว่า ผู้บริโภคทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 75 มองหาบรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากพลาสติกหรือสามารถนำมาใช้ซ้ำและเติมได้ ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจากการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น ผลลัพธ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตและความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในปัจจุบันได้ชี้ให้เห็นถึงความกังวลด้านระบบนิเวศและสังคมที่นอกเหนือจากผลประโยชน์ส่วนตัวโดยตรง ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 

เนื่องจากวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคทั้งหมดสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การจัดหา วัตถุดิบ การผลิต การบริโภค และการทิ้ง เป้าหมายของการประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) คือการระบุและประเมินผลกระทบเหล่านี้อย่างเป็นระบบเพื่อสนับสนุนนโยบายและการตัดสินใจของผู้ผลิตและผู้บริโภค  (Cosmetics Europe - The Personal Care Association, 2022; Hellweg & Milà i Canals, 2014; Tolnay, Koris, & Magda, 2018; Vital, 2013) อุตสาหกรรมเครื่องสำอางส่วนใหญ่ใช้แนวคิด LCA เพื่อประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในด้านองค์รวมของผลิตภัณฑ์ รูปที่ 2 แสดงขั้นตอนการประเมินผลกระทบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามแนวคิด LCA ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตุดิบ การผลิต บรรจุภัณฑ์ การกระจายสินค้า การบริโภค และหลังการบริโภค


ที่มา: Reprinted from “A step forward on sustainability in the cosmetics industry: A review” by Bom et al., 2019, Journal of Cleaner Production, 255, p. 276

ในขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบสำหรับส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยังต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและการจัดหาจากเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ การตัดไม้ทำลายป่า การใช้ที่ดิน การใช้น้ำ การปล่อยคาร์บอนและมลพิษ นอกจากนี้ ขั้นตอนนี้ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นการค้าที่เป็นธรรม ความรับผิดชอบและจริยธรรม ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ โดยคำนึงถึงมาตรฐานในการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย (Pulverail, 2013) แบรนด์ Neal’s Yard Remedies จากสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่มีการซื้อขายวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และเป็นแห่งแรกของโลกที่ได้รับรางวัลด้านจริยธรรม ดังที่แสดงในรูปที่ 3 การเก็บเกี่ยวผลกุหลาบป่า (โรสฮิป) ของบริษัทจะทำในช่วงฤดูท่องเที่ยวระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนในหมู่บ้านท้องถิ่นทางตอนเหนือของเซอร์เบีย ซึ่งมีผลกุหลาบป่าจำนวนมากให้เลือก โดยจะต้องปลูกให้สูงกว่า 1 เมตรและปล่อยพุ่มไม้ไว้อย่างน้อยร้อยละ 10 เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดหาและซื้อขายอย่างรับผิดชอบ กระบวนการหยิบด้วยมือจะช่วยประหยัดพลังงานในการสกัดวัสดุและรักษาสิ่งแวดล้อม จากนั้นคนเก็บเมล็ดในหมู่บ้านจะแยกเมล็ดของผลกุหลาบป่าออกจากเปลือกและนำไปสกัดเย็นในโรงกลั่นเพื่อรักษาคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานในกระบวนการผลิตวัตถุดิบ (Neal's Yard Remedies, 2022)


ที่มา: https://www.nealsyardremedies.com/about-us/our-commitment.list

อย่างไรก็ดี บรรจุภัณฑ์เป็นส่วนที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูงและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกจึงหันมาสนใจประเด็นนี้โดยเฉพาะ สำหรับสหภาพยุโรป บรรจุภัณฑ์ถูกควบคุมภายใต้ “ระเบียบว่าด้วยบรรจุภัณฑ์และของเสียจากบรรจุภัณฑ์” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ผลิตมีการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ให้มีความปลอดภัย ถูกหลักสุขอนามัยตลอดจนเพื่อให้แน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือแปรรูปใช้ใหม่ได้ (Cosmetics Europe - The Personal Care Association, 2017) ตามแนวทาง 3R เช่น บรรจุภัณฑ์แบบรีฟิล ตลอดจนความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคในการนำกลับมาใช้ใหม่และจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว (Culliney, 2020)

การศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ขั้นตอนของการบริโภคส่งผลกระทบด้านความยั่งยืนอย่างมาก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ล้างและชำระล้าง เช่น สบู่และแชมพู ที่ต้องใช้น้ำมากขึ้น (Bom et al., 2019; Sahota, 2014; Secchi, Castellani, Collina, Mirabella, & Sala, 2016) บริษัท Unilever ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทดูแลส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งระบุว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกและการปล่อยน้ำเกิดขึ้นที่ระดับการบริโภค ดังนั้นบริษัทจึงตั้งเป้ากระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนมาใช้น้ำน้อยลงระหว่างการสระและอาบน้ำ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เช่น แชมพูแห้งและครีมนวดผมที่มีเทคโนโลยีการล้างออกได้ง่าย (Fast-Rinse) (รูปที่ 4) เพื่อประหยัดเวลาและน้ำในการล้าง (Sahota, 2014; Unilever, 2020) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีการบริโภคอย่างรับผิดชอบมากขึ้น แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นคุณสมบัติเชิงการตลาด แต่ก็มีส่วนช่วยในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเช่นกัน 

ที่มา: https://www.facebook.com/environman.th/photos/4-fast-rinse-technology and https://www.lovebeautyandplanet.com

ที่มา: https://www.terracycle.com/en-AU/about-terracycle

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการติดฉลากสิ่งแวดล้อมและการรับรองประกอบด้วยข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์จะเป็นประโยชน์ในการปกป้องผู้บริโภคจากความเข้าใจที่ผิดได้ มาตรฐาน Ecocert และ USDA Organic ถือเป็นมาตรฐานสำหรับเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและแพร่หลายทั่วโลก มาตรฐานอื่น ๆ จากภูมิภาคอื่น ๆ สามารถใช้รับรองเครื่องสำอางจากธรรมชาติและออร์แกนิก แต่การยอมรับและการรับรู้ยังไม่มาก และค่อนข้างจำกัดในระดับประเทศ เช่น Instituto Biodinamico (IBD) ในละตินอเมริกา, Canada Organic Regime (COR) ในประเทศแคนาดา, BioSuisse ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์, Australian Certified Organic (ACO) ในประเทศออสเตรเลีย, Japanese Agricultural Standard (JAS) ในญี่ปุ่น, Korean Organic Certification (KOC) ในประเทศเกาหลี รวมถึง Organic Agriculture Certification Thailand (ACT) ในประเทศไทย รายงานจาก Future Market Insights (2020) แสดงให้เห็นว่ามีบริษัทเครื่องสำอางในเอเชียโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ที่หันมาใช้มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของ Ecocert และ USDA Organic มากขึ้นเพราะเป็นตลาดส่งออก 

สำหรับฉลากสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 (ฉลากที่แสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้การรับรองโดยองค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือบุคคลที่สาม) มีอยู่เพียงรายการเดียวคือ “ฉลากเขียวไทย” ซึ่งริเริ่มโดยสภาธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ฉลากเขียวไทยเป็นมาตรฐานการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมที่มอบให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งมีผลบังคับกับผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลบางประเภท เช่น แชมพู ครีมนวดผม และสบู่ กระบวนการประเมินขึ้นอยู่กับการพิจารณาวงจรชีวิต ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรเกี่ยวกับการใช้น้ำ การใช้พลังงาน และการใช้วัตถุดิบ สารอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ การปล่อยมลพิษสู่อากาศ น้ำ และดิน การปล่อยของเสีย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ความท้าทายหลักของฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อมของไทยคือยังขาดความตระหนัก ความพยายามในการส่งเสริมการขาย และมุมมองของสหสาขาวิชาชีพที่มีต่อความยั่งยืน นโยบายสนับสนุนแรงจูงใจในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญในการเพิ่มความตระหนักและโอกาสในความร่วมมือจากภาคผลิตนี้ได้ อย่างไรก็ดี การที่ไม่มีนโยบายสนับสนุนเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลโดยเฉพาะอาจจะบั่นทอนศักยภาพของอุตสาหกรรม บทบาทของภาครัฐจึงมีความสำคัญในการนำแผนการติดฉลากสิ่งแวดล้อมไปเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

เพื่อนำหลักการและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปปฏิบัติในการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสนอแนะสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  1. เงินทุนและการสนับสนุนด้านเทคนิค เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะช่วยผลักดันให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมดำเนินการด้านความยั่งยืนได้มากขึ้น เนื่องจากความยั่งยืนถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติม ความอ่อนไหวทางด้านต้นทุนจึงทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้ความสำคัญกับผลประกอบการทางการเงินมากกว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการลงทุนหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ความพร้อมของเงินลงทุนจึงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของบริษัททั้งหมด บริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนมากจึงสามารถมีส่วนร่วมในแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนได้มากกว่า (Menon & Ravi, 2021)
  2. นโยบายการจัดซื้อและจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่พัฒนาโดยรัฐบาลอาจนำไปใช้ในภาคธุรกิจและองค์กรบางแห่ง แต่ประสิทธิภาพของนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและสนับสนุนโดยใช้แนวคิดของการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตควบคู่กับมาตรฐานฉลากสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความยั่งยืน 
  3. การกำหนดเป้าหมายในระดับชาติผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (สสท.) เพื่อรวมนโยบายที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกัน ความร่วมมือของภาคเอกชนในการปรับปรุงโรงงานรีไซเคิลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลอาจได้รับการดำเนินการต่อไป และยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 
  4. ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลในประเทศไทยยังต้องการการดำเนินการอีกมาก ปัจจุบันนี้อาจจะยังไม่ได้รับความสนใจโดยตรงจากหน่วยงานใด ช่องว่างทางนโยบายจึงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขจากหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ชุมชน ครัวเรือน และภาคผู้บริโภคตามลำดับ ในการบรรลุเป้าหมายการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนนั้น ความพยายามทั้งหมดจะต้องดำเนินการแบบองค์รวมและต่อเนื่อง และมีการประเมินในเชิงปริมาณด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน บทบาทของการสนับสนุนจากรัฐบาลในด้านนโยบายและการวางแผนเป็นสิ่งที่มีค่าในการผลักดันอุตสาหกรรมไปข้างหน้าให้มีความยั่งยืนมากขึ้น รัฐบาลบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สวีเดน บราซิล และแอฟริกาใต้ ได้กำหนดให้การรายงานความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นข้อบังคับแล้ว อย่างไรก็ดี กฎระเบียบและมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลในประเทศไทยยังไม่ได้มีส่วนในการสนับสนุนแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองสัตว์ และการรายงานความยั่งยืน ดังเช่น มาตรฐานสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ยังไม่มีการควบคุมการใช้คำศัพท์เช่นคำว่าธรรมชาติและออร์แกนิกในการกล่าวอ้างหรือบนฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงส่งผลให้เกิดการฟอกเขียว (Greenwashing) อย่างแพร่หลายในสังคมทุกวันนี้ การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เพื่อเป็นการให้ความรู้และจูงใจให้กับผู้บริโภค และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและการดูแลส่วนบุคคลไปสู่เส้นทางสู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม