บทความ: กระจายอำนาจสู่ชุมชน หนทางสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน - กรณีศึกษาเทศบาลนครขอนแก่นและเทศบาลตำบลเวียงเทิง

จากสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย พบว่า ในปี 2564 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 24.98 ล้านตัน หรือ 68,434 ตัน/วัน อัตราการเกิดขยะมูลฝอยเฉลี่ย 1.03 กิโลกรัม/คน/วัน ร้อยละ 32 ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 37 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ในขณะที่ขยะมูลฝอยถึงร้อยละ 31 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นถูกกำจัดในครัวเรือนหรือถูกนำไปกำจัด ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยซึ่งมีการกำจัดแบบไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โดยการเทกอง การเผากลางแจ้ง และเตาเผาที่ไม่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศซึ่งมีจำนวนมากถึง 2,021 แห่งทั่วประเทศ (กรมควบคุมมลพิษ, 2565) ซึ่งการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้องก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างมากทั้งไฟไหม้บ่อขยะ การปล่อยก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซเรือนกระจก การปนเปื้อนน้ำชะขยะในแหล่งน้ำ น้ำใต้ดินและพื้นที่เกษตรกรรมใกล้เคียงซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมบ่อขยะจนกระทบพื้นที่เกษตรและพื้นที่บ้านเรือนประชาชน ดังที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดอ่างทอง ซึ่งหากการจัดการขยะไม่ได้รับการแก้ไขอาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง จนนำมาสู่การฟ้องร้องศาลปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2564 ของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการบ่อขยะอย่างไม่ถูกต้อง

มูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 อย่างไรก็ดี การจัดการขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศไทยยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเท่าที่ควร ความท้าทายที่พบคือมีการกำหนดกรอบในการดำเนินการ เป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการไว้ แต่ไม่มีขั้นตอนจากส่วนกลางให้ท้องถิ่นดำเนินการ โดยท้องถิ่นต้องกำหนดรูปแบบในการแก้ไขปัญหาขยะของตนเอง ซึ่งบางท้องถิ่นอาจจะไม่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง พบว่าขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ประกอบกับการบริหารจัดการขยะเป็นเรื่องยากและใช้งบประมาณ และต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนและแหล่งกำเนิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท้องถิ่นหลายแห่งต้องการกำจัดขยะแต่ไม่มีพื้นที่และงบในการสร้างระบบกำจัดขยะ ในขณะที่การผลักดันนโยบายจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม (Cluster) ของส่วนกลาง ยังไม่มีขั้นตอนดำเนินงานที่ชัดเจน อีกทั้งการแบ่งหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการขยะมูลฝอยระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย (Regulator) และการควบคุม (Operator) ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการกำกับติดตามการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัด ซึ่งหากไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็ยังไม่มีมาตรการจากส่วนกลางรองรับ จึงพบเห็นบ่อขยะที่มีขยะเต็มล้นบ่อ และส่วนใหญ่เลือกใช้เตาเผาขยะแบบไม่มีระบบบำบัดมลพิษ และขยะที่นำเข้าสู่เตาเผาคือขยะรวมที่ขาดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งนำไปสู่งบประมาณการกำจัดขยะที่ต้องใช้สูงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การกระจายอำนาจสู่ชุมชนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดการขยะไปสู่ความยั่งยืน เช่นเดียวกับวิธีการของเวียงเทิง ที่ใช้หลักทางด้านเศรษฐศาสตร์มาส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การลดปริมาณขยะต้นทาง รวมถึงการคัดแยกขยะต้นทาง โดยการใช้หลักปริมาณขยะน้อยก็จ่ายค่าขยะน้อย (Pay-as-you-throw) (พัทธยาพร อุ่นโรจน์, 2564) และให้หมู่บ้านเป็นตัวกลางในการเก็บรวบรวมค่าธรรมเนียมขยะให้กับเทศบาล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือหมู่บ้านทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของการคัดแยกขยะ และปริมาณขยะ ในส่วนของเทศบาลนครขอนแก่นมีโครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ที่ให้ชุมชนเข้ามาแบ่งเบาภาระการจัดการขยะ เช่น การขนถ่ายขยะไปรวบรวมไว้จุดเดียว และการเก็บค่าธรรมเนียมขยะ

ข้อมูลทั่วไปของเทศบาลตำบลขอนแก่น
เทศบาลนครขอนแก่นมีประชากรทั้งหมด 107,371 คน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2564) 67,228 หลังคาเรือน และกลุ่มประชากรแฝงรวมถึงกลุ่มประชากรที่เข้ามาศึกษาตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้ามาประกอบธุรกิจ เข้ามาท่องเที่ยว และเข้ามาติดต่อธุรการงานต่าง ๆ อีกกว่า 200,000 คน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2563) มีพื้นที่ประมาณ 46 ตารางกิโลเมตร หรือ 28,750 ไร่ ในส่วนของพื้นที่เขตเมืองได้มีการขยายตัวในพื้นที่ โดยรอบเทศบาลครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 180 ตารางกิโลเมตร หรือ 112,500 ไร่ แบ่งชุมชนเป็น 4 เขต ตามเขตเลือกตั้ง จำนวน 95 ชุมชน เทศบาลนครขอนแก่นมีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันเฉลี่ย 171.72 ตันต่อวัน อัตราการเกิดขยะมูลฝอย 1.59 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน โดยในปี พ.ศ. 2560 เทศบาลนครขอนแก่นได้รับรางวัล อปท. ที่มีการบริหารจัดการที่ดีโดยได้รับรางวัลที่ 2 ประเภทโดดเด่น อปท. ขนาดใหญ่ (สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 2560)

โครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่
โครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่เป็นการจัดการขยะกลางทาง โดยการกระจายอำนาจการจัดการขยะให้กับชุมชนที่เข้มแข็งช่วยเทศบาลในการเก็บขนขยะ กระจายอำนาจ ให้เงินอุดหนุน ให้สามารถดูแลแก้ไขปัญหาจากขยะในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไม่ให้มีขยะตกค้างในเขตเทศบาลนครขอนแก่น

โครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ ได้ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมตามภารกิจต่าง ๆ ซึ่งมีภารกิจที่ทางเทศบาลได้มีการถ่ายโอนมาให้ชุมชนช่วยจัดการ ดังนี้ 1) ภารกิจการปรับปรุงซ่อมแซมผิวการจราจร 2) ภารกิจดูแลสวนสาธารณะ และเกาะกลางถนน 3) โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มรายได้ เช่น การดูแลถนนสายหลัก การดูแลสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน การจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะ 4) การวางท่อระบายน้ำในชุมชน 5) การขุดลอกท่อระบายน้ำ 6) การปรับปรุงภูมิทัศน์ในชุมชน 7) การเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยในชุมชน และ 8) การเก็บขนขยะในชุมชน หรือสถานีขนถ่ายขยะชุมชน ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบการจัดเก็บมูลฝอยในรูปแบบสถานีขนถ่ายขยะชุมชน หรือสถานีขนถ่ายขยะย่อย ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่เข้ามาให้ความร่วมมือในการเก็บขนขยะในพื้นที่ชุมชนตนเองจำนวน 6 ชุมชน คือ ชุมชนโนนหนองวัด 1, ชุมชนวัดธาตุ, ชุมชนเจ้าพ่อทองสุข, ชุมชนศรีจันทร์, ชุมชนบ้านบะขาม (เก็บขนมารวบรวมไว้จุดเดียวแล้วให้รถเทศบาลไปเก็บขน) และชุมชนดอนหญ้านาง โดยทางเทศบาลได้อุดหนุนงบประมาณในการดำเนินการเก็บขนตามปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และสนับสนุนรถเก็บขนขยะจำนวน 1 คัน นอกจากนี้เทศบาลนครขอนแก่นมีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หมวดเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนองค์กรประชาชน/เงินอุดหนุนเอกชน เป็นเงิน 11,601,300 บาท โดยมีการอุดหนุนชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นจำนวน 90 ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมจัดการขยะกับเทศบาล ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มรายได้ท้องถิ่น โครงการส่งเสริมการพัฒนาการกวาดถนนครอบคลุมพื้นที่ถนนในชุมชน โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการรักษาความสะอาดถนนสายรอง (กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลนครขอนแก่น, 2564)


ที่มา: พัทธยาพร อุ่นโรจน์

ข้อมูลทั่วไปของเทศบาลตำบลเวียงเทิง
เทศบาลตำบลเวียงเทิง ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดกลาง ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ที่ 15 ตำบลเวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตพื้นที่รับผิดชอบดูแลขนาด 12 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเขตหมู่บ้านจำนวน 5 หมู่บ้าน ลักษณะของชุมชนเป็นกึ่งเมืองกึ่งชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและค้าขาย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,092 คน จากจำนวน 2,729 ครัวเรือน ค่าประมาณของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นทั้งหมด (รวมทุกประเภท) มีปริมาณ 84 ตันต่อเดือน 2.80 ตันต่อวัน อัตราการเกิดขยะต่อประชากรของเทศบาลตำบลเวียงเทิงได้ 0.55 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งหากเทียบกับก่อนที่จะมีโครงการจัดการขยะแบบครบวงจรโดยใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ มีขยะเกิดขึ้นวันละ 6.3 ตัน โดยในปี พ.ศ. 2560 เทศบาลตำบลเวียงเทิงได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทโดดเด่น เทศบาลตำบล (สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 2560)

หมู่บ้านเวียงจอมจ้อ หมู่ที่ 20 ตำบลเวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยมีนางสาวไพรัช พันธุ์วิไล เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 20 ได้แลกเปลี่ยนรูปแบบการดูแลบริหารจัดการภายในหมู่บ้าน รวมไปถึงเรื่องของการจัดการขยะภายในหมู่บ้าน ด้วยวิธีการมีส่วนร่วมระบบ 4ก คือ 1) การกระจายอำนาจสู่ชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้านและหัวหน้าแต่ละคุ้ม 2) การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน 3) มีกฎระเบียบร่วมกัน และ 4) กิจกรรมที่คนในหมู่บ้านได้ทำร่วมกันในวันสำคัญต่าง ๆ 


ที่มา: พัทธยาพร อุ่นโรจน์

การจัดการขยะชุมชนนับเป็นภารกิจที่เลี่ยงไม่ได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการขยะมีความหลากหลายตามรูปแบบวิธีที่ท้องถิ่นนั้น ๆ เลือกนำมาจัดการ บ้างจัดการอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ซึ่งมักเป็นท้องถิ่นที่มีความพร้อมด้านงบประมาณ กำลังคน องค์ความรู้และเทคโนโลยี ในขณะที่ท้องถิ่นจำนวนมากยังคงจัดการขยะอย่างไม่ถูกต้องซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชนระยะยาวและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนจึงเป็นอีกทางเลือกที่มีประสิทธิผลในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะและสร้างความตระหนักให้ชุมชนลดและคัดแยกขยะต้นทาง โครงการเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่เป็นการกระจายภาระงานบริหารจัดการขยะให้กับชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ถูกต้องตามประเภทขยะ เช่น ชุมชนโนนหนองวัด 1 มีการรวมกลุ่มทำน้ำหมักชีวภาพ โดยรับขยะอาหารจากร้านอาหารในชุมชนมาทำน้ำหมัก และเทศบาลนครขอนแก่นรับซื้อไปใช้ในงานของเทศบาลต่อไป ในส่วนของเทศบาลตำบลเวียงเทิงได้กระจายอำนาจให้ชุมชนเข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนและกำจัดขยะ และสามารถบริหารส่วนต่างเพื่อนำเงินส่วนต่างไปพัฒนาหรือจัดสรรเป็นสวัสดิการชุมชนได้ วิธีการนี้ ทำให้ชุมชนเข็มแข็ง และยังสร้างระบบการตรวจสอบความถูกต้องของการคัดแยกขยะจากปริมาณน้ำหนักขยะที่แปรเปลี่ยนไป ชุมชนจะทำการตรวจเช็คแล้วทำความเข้าใจกับครัวเรือน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการสร้างความตระหนักในการลดและคัดแยกขยะต้นทางอีกด้วย


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อปฏิรูประบบบริหารจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ระยะที่ 1 และระยะที่ 2  แผนงานขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทุนอุดหนุนวิจัยจาก สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)