บทความ: จับตาค่าความเค็มของแม่น้ำบางปะกง...แม่น้ำสายหลักของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแหล่งน้ำจืด โดยเฉพาะแม่น้ำที่มีทางลงสู่ทะเลหรือมีทางเชื่อมออกสู่มหาสมุทร เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นเฉพาะบางช่วงเวลาของปี โดยมักพบมากในช่วงฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำนั้นมีไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็ม เมื่อประกอบกับการผันแปรของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำต่าง ๆ ลดลงในปริมาณมาก จึงส่งผลให้เกิดการรุกล้ำของน้ำทะเลที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ค่าความเข้มข้นของอิออนในแหล่งน้ำ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม คลอไรด์ ซัลเฟต ไบคาร์บอเนต และโบรไมด์ เพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ทั้งเพื่อการอุปโภค-บริโภค การผลิตน้ำประปา การเกษตรกรรม ตลอดไปจนถึงการใช้น้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรมและการผลิตต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตที่จำเป็นต้องใช้น้ำบริสุทธิ์ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ ตามมา

สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำทะเลรุกล้ำแม่น้ำบางปะกงในส่วนที่ไหลผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรามาอย่างต่อเนื่อง (2563) โดยเฉพาะในจุดเก็บตัวอย่างตั้งแต่พื้นที่ปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำ (รูปที่ 1) อันได้แก่ 1) จุดตรวจวัด BK01 บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นจุดที่น้ำจืดในแม่น้ำบางปะกงไหลลงสู่ทะเล และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากการรุกล้ำของน้ำทะเลมากที่สุด 2) จุดตรวจวัด BK07 บริเวณสะพานฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจุดกลางลำน้ำที่มีจุดแยกของคลองสาขา คือ คลองท่าไข่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับใช้ผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคฉะเชิงเทรา และ 3) จุดตรวจวัด BK15 บริเวณสะพานบางขนาก ซึ่งถือเป็นจุดต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกงที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา


ผลการเฝ้าระวังและติดตามค่าความเค็มของแม่น้ำบางปะกงในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2553–2562) พบว่า ค่าความเค็มของน้ำของทั้ง 3 จุดตรวจวัดในฤดูแล้งนั้น มีค่าสูงกว่าค่าความเค็มของน้ำในฤดูฝน (รูปที่ 2) เมื่อพิจารณาค่าความเค็มในแต่ละจุดเก็บตัวอย่าง พบว่า จุดเก็บตัวอย่าง BK01 ซึ่งเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกงนั้นมีค่าความเค็มของน้ำสูงตลอดทั้งปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบลุ่ม จึงได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเลตลอดเวลา ทำให้น้ำทะเลและค่าความเค็มสามารถรุกตัวเข้าไปในแม่น้ำได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งซึ่งมักเริ่มในช่วงเดือนธันวาคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปีนั้น พบว่าค่าความเค็มของน้ำนั้นอาจมีค่าสูงได้ถึง 34.8 ส่วนในพันส่วน (part per thousand; ppt หรือ กรัมต่อลิตร) เนื่องจากปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำบางปะกงที่ไหลลงมาผลักดันน้ำเค็มจากทะเลนั้นมีปริมาณน้อยลง นอกจากนั้นยังพบว่าค่าเฉลี่ยความเค็มของแม่น้ำบางปะกงในช่วงฤดูแล้งในรอบ 10 ปี บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำ ซึ่งมีค่าประมาณ 28.4 ppt นั้น มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยความเค็มในช่วงฤดูฝนถึง 3 เท่า (ค่าเฉลี่ยความเค็มของแม่น้ำบางปะกงในฤดูฝน คือ 10.3 ppt) 

ในขณะที่ผลการเฝ้าระวังและติดตามค่าความเค็มของแม่น้ำบางปะกงบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกงที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (จุดเก็บตัวอย่าง BK15 บริเวณสะพานบางขนาก) นั้น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากการรุกล้ำของน้ำเค็มในช่วงฤดูฝนมากนัก โดยพบค่าเฉลี่ยความเค็มของแม่น้ำในช่วงเวลา 10 ปี อยู่ที่ 0.06 ppt หากแต่เมื่อพิจารณาถึงค่าความเค็มของแม่น้ำในช่วงฤดูแล้งแล้วพบว่าพื้นที่ต้นน้ำนั้นยังได้รับอิทธิพลจากการรุกล้ำของน้ำเค็มอยู่บ้าง โดยพบค่าเฉลี่ยความเค็มอยู่ที่ 6.28 ppt และพบว่าค่าความเค็มในบางปีนั้นมีค่าสูงเกือบถึง 20 ppt ด้วยเช่นกัน


การจำแนกความวิกฤติของปัญหาการรุกล้ำของน้ำทะเลนั้น อาจจำแนกได้โดยใช้ค่าความเค็มในหน่วย ppt โดยระดับความเค็มที่แตกต่างกันนี้ นอกเหนือไปจากสามารถใช้บ่งบอกถึงระดับความวิกฤติของการรุกล้ำของน้ำทะเลแล้ว ยังสามารถบ่งบอกถึงลักษณะการใช้ประโยชน์จากน้ำที่มีค่าความเค็มที่แตกต่างกันได้อีกด้วย (ตารางที่ 1)


การจำแนกประเภทค่าความเค็มในน้ำ (ตารางที่ 1) นี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าน้ำในแม่น้ำบางปะกงในช่วงฤดูแล้งนั้น จัดเป็นน้ำกร่อย และเมื่อเข้าใกล้ปากแม่น้ำมากขึ้น ค่าความเค็มของแม่น้ำบางปะกงนั้นสามารถถูกจัดเป็นน้ำเค็มได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี เมื่อถึงฤดูฝนที่ปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำบางปะกงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและสามารถผลักดันน้ำทะเลไม่ให้รุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำบางปะกงได้นั้น ก็พบว่าค่าความเค็มของแม่น้ำบางปะกงนั้นจะมีค่าลดลงจนสามารถถูกจัดให้เป็นน้ำจืดตามปกติได้

ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำบางประกงนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคของประชาชน การขาดแคลนแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปา และการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำอันเนื่องมาจากความเค็มที่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ภาคเกษตรกรรมยังเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำทะเลรุกล้ำแม่น้ำบางปะกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบในระยะยาวต่อผลผลิตและการประกอบเกษตรกรรมต่าง ๆ เช่น การเพาะปลูกข้าว สวนผลไม้ผสม รวมไปถึงการเพาะเลี้ยงกุ้งและปลาในพื้นที่อีกด้วย (อภิศักดิ์ โพธิ์ปั้น, 2554)

ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำบางปะกงนี้อาจทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งในด้านการรุกล้ำของน้ำทะเลเข้าไปในแม่น้ำเป็นระยะทางที่ไกลจากปากแม่น้ำมากขึ้น และในด้านระยะเวลาของการเกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ยาวนานขึ้น ด้วยเหตุนี้ ระบบการจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์แหล่งน้ำจืดจากแหล่งน้ำต้นทาง รวมไปถึงการรักษาคุณภาพน้ำของแม่น้ำบางปะกง จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการบรรเทาปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำสายสำคัญของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกต่อไปในอนาคต


โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ส่งเสริม ววน.)