บทความ: การพัฒนาชุมชนสุขภาวะต้นแบบการป้องกันปัญหาหมอกควัน อำเภอปง จังหวัดพะเยา
(Development of healthy community model for Smog Pollution Prevention in Pong District, Phayao Province)
ปัญหาหมอกควันมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดพะเยา ซึ่งปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ที่พบบ่อยคือ คันตา แสบตา แสบจมูก หรือคันตามผิวหนัง ข้อมูลจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา แสดงให้เห็นว่าในช่วงเฝ้าระวังหมอกควัน พ.ศ.2560 อำเภอปงมีข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ ใน 4 กลุ่มโรค จำนวนทั้งสิ้น 8,592 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 16,919 ต่อประชากรแสนคน กลุ่มโรคที่มีรายงานสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด จำนวน 4,381 คน กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด จำนวน 3,799 คน กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 470 คน และกลุ่มโรคตาอักเสบ 320 คน ตามลำดับ ความรุนแรงของปัญหาโดยทั่วไปปรากฏชัดเจนในช่วงหน้าแล้ง (ธันวาคม-เมษายน) ของทุกปี ที่มีสภาวะอากาศที่แห้งและนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน จะเห็นได้ชัดเจนจากการบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเมื่อเปรียบเทียบกับฤดูกาลอื่นดังรูปที่ 1
พื้นที่ที่ถูกเผาและมีการปล่อยฝุ่นละอองมากที่สุดในจังหวัดพะเยา คือ อำเภอปงมากถึง ร้อยละ 55 รองลงมาคือ อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอเมือง อำเภอภูซาง อำเภอดอกคำใต้ อำเภอภูกามยาว อำเภอจุน และอำเภอแม่ใจ ตามลำดับ การเผาชีวมวลส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 93 นอกจากนี้ยังพบว่าการเผาส่วนใหญ่มีปริมาณมากในเดือน มีนาคม เมษายน กุมภาพันธ์ (ธนัตถ์นพนันท์ และ สิทธิชัย, 2555) นอกจากนั้นยังพบว่าข้อมูลจุดความร้อนการเผาที่พบด้วยดาวเทียม TERRA และ AQUA ปรากฏสูงสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2559 พบในพื้นที่อำเภอปง ร้อยละ 43 ของจุดความร้อนทุกอำเภอของจังหวัดพะเยา แสดงดังภาพ 2 การติดตามคุณภาพอากาศจังหวัดพะเยาโดยกรมควบคุมมลพิษ ใช้ข้อมูลจากสถานีติดตามคุณภาพอากาศที่อำเภอเมืองพะเยา โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศปี 2552 และ 2553 พบว่า ฝุ่นละออง คือ ปัญหาคุณภาพอากาศที่รุนแรงมากที่สุด โดยพบว่าจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน ค่าเฉลี่ยรายวันมากกว่าร้อยละ 15 ความเข้มข้น PM10 ส่วนใหญ่พบว่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในเดือนมีนาคม และจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงภายในวันพบว่าความเข้มข้น PM10 สูงในตอนกลางวันสอดคล้องกับจำนวนจุดความร้อนที่มีปริมาณมากในช่วงเวลาเดียวกัน (สิทธิชัย และภูมิเมษฐ์, 2554) จากข้อมูลผลการจำลองการแพร่กระจายฝุ่นละอองด้วยแบบจำลอง The Community Multiscale Air Quality Modeling System ของจังหวัดพะเยาในช่วงที่มีการเผารุนแรงโดยพบว่าอำเภอปงเป็นพื้นที่ที่มีการเผาหรือจำนวนจุดความร้อนมากที่สุดโดยจะส่งผลทำให้จำนวนวันที่ระดับ PM10 เกินมาตรฐานมีมากที่สุดในขณะที่การตรวจวัดคุณภาพอากาศของจังหวัดพะเยามีเพียงที่เดียวในพื้นที่อำเภอเมืองซึ่งมีระดับแตกต่างจากพื้นที่อำเภอปงเป็นอย่างมาก
สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงเพื่อสร้างโมเดลชุมชนต้นแบบในการป้องกันสุขภาพจากปัญหาหมอกควันการเผาในที่โล่งในพื้นที่อำเภอปง ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ทันที ด้วยการปรับตัวและป้องกัน ด้านสุขภาพ ตามหลักการป้องกันมลพิษอย่างถูกต้อง โดยลดการสัมผัสกับฝุ่นละออง ด้วยการป้องกันทั้งภายนอกอาคาร และภายในอาคาร นอกจากนั้นโครงการยังอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนให้ตระหนักถึงปัญหาหมอกควันจากการเผาในที่โล่งซึ่งจะนำไปสู่การลดการเผา การเป็นหมู่บ้านต้นแบบสำหรับพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาหมอกควันจากการเผาในที่โล่งในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย
การลงพื้นที่ครั้งที่สองเริ่มต้นด้วยการวางแผนการจัดงานการนัดหมายปรึกษาเพื่อเตรียมสถานที่จัดการนำเสนองานและการรวมมวลชนชาวบ้านทั้งหมด 12 หมู่บ้าน ผู้นำชุมชน สมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.) ผู้ปฏิบัติงานของชุมชน การจัดงานในโครงการบริการวิชาการเพื่อสนับสนุนโครงการ “1 คณะ 1 โมเดล” คณะทำงานได้จัดงาน รูปแบบแนวคิดของการบริการโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ คณะแพทยศาสตร์ ที่ รพ.สต.ขุนควร สำหรับกิจกรรมที่ดำเนินในโครงการ ประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้
1. กิจกรรมตรวจวัดความดันโลหิต และส่งเสริมการเลือกรับประทานอาหารที่ป้องกันการเกิดโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDS) โดยทีมคณาจารย์ และนิสิตสาขาวิชาอนามัยชุมชน และส่งเสริมสุขภาพกิจกรรมการตรวจวัดความดันโลหิตก่อนเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดดำเนิน การหลังจากการลงทะเบียนเป็นการคัดกรองระดับความดันเพื่อเป็นข้อมูลในการให้บริการรักษาในกิจกรรมอื่นต่อไป และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพให้สามารถลดอัตราการเกิดโรค
2. กิจกรรมให้ความรู้เรื่อง โรคเบาหวานความดัน จะใช้การจำแนกกลุ่มโดยใช้วิธีปิงปองจราจร ชีวิต 7 สี โดยนิสิตสาขาวิชาอนามัยชุมชน และส่งเสริมสุขภาพกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้เรื่อง โรคเบาหวานความดัน แบบจำลองปิงปองจราจรชีวิต 7 สี อธิบายถึงระดับของโรคและการดูแลสุขภาพเพื่อลดระดับของโรคเบาหวานความดันให้กับประชาชน นอกจากนั้นยังมีการนำเสนอโดยใช้โมเดลอาหารโดยนิสิตนำเสนอวิธีการรับประทานที่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงโรคเบาหวานความดัน
3. กิจกรรมบริการวิชาการด้านหมอกควัน และฝุ่นละออง โดย คณาจารย์และนิสิตสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมลักษณะของการจัดกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้เรื่อง หมอกควันและฝุ่นละอองในบรรยากาศโดยใช้ข้อมูลของพื้นที่ที่มีการรวบรวมเพื่อนำมาเสนอกับประชาชนในพื้นที่ แนะนำวิธีการป้องกันตนเองและหลีกเลี่ยงการรับสัมผัสของหมอกควัน ทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับสัมผัส
4. กิจกรรมให้ความรู้เรื่องการดูแลโรคในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยคณาจารย์และนิสิตสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยลักษณะของการจัดกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้เรื่องการดูแลตนเองในการประกอบอาชีพทางการเกษตรที่มีโอกาสได้รับมลพิษจากการใช้ยาฆ่าแมลงโดยวิทยากรได้สาธิตวิธีในการสวมเครื่องป้องกันขณะพ่นสารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้อง
5. กิจกรรมให้ความรู้เรื่องการแพทย์แผนไทยโดยใช้ฤาษีดัดตนและความรู้การใช้เรื่องสมุนไพรโดยคณาจารย์และนิสิตสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ลักษณะของกิจกรรมประกอบไปด้วยการบรรยายให้ความรู้ด้าการแพทย์แผนไทยประยุกต์กับชุมชนโดยเป็นการบูรณาการด้านการเรียนการสอนลงสู่ชุมชน การสอนฤาษีดัดตน การให้ความรู้เรื่องยาสมุนไพรในท้องถิ่นและการนำมาใช้ นอกจากนั้นยังมีการให้บริการด้านการนวดแผนไทย ยาสมุนไพรสำหรับผู้ที่ต้องการการรักษา
6. กิจกรรมให้ความรู้และการรักษาโดยใช้การวิธีการรักษาแบบกดจุดและฝังเข็ม โดยคณาจารย์และนิสิตสาขาวิชาการแพทย์แผนจีนลักษณะของกิจกรรมประกอบไปด้วยการบรรยายให้ความรู้ด้านการกดจุดเบื้องต้นที่ประชาชนสามารถปฏิบัติและนำไปใช้เองได้ที่บ้าน นอกจากนั้นยังให้บริการการรักษาโดยการฝังเข็มสำหรับผู้ต้องการรักษาอีกด้วย
7. กิจกรรมการช่วยเหลือชีวิต โดยวิธีการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยคณาจารย์และนิสิตสาขาวิชาเวชกิจฉุกเฉินลักษณะของกิจกรรมเป็นการให้ความรู้และปฏิบัติโดยทีมคณะจารย์และนิสิตสาขาเวชกิจฉุกเฉินทั้งการช่วยฟื้นคืนชีพ และการใช้อุปกรณ์ภายในรถฉุกเฉินของหน่วย อพปร. เพื่อเป็นการฝึกการใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องและถือเป็นการเตรียมความพร้อมสาหรับหน่วยในช่วงสงกรานต์ที่มีโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าช่วงเวลาปกติ
การจัดโครงการ โดยดำเนินกิจกรรมทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทัศนคติทีดีต่อสุขภาพในการป้องกันโรคให้เป็นชุมชนที่มีสุขภาพดี นอกจากจะช่วยเสริมสร้างสังคมยังเป็นการบริการวิชาการการแก่สังคม โดยอาจารย์และนิสิตได้เข้ามาช่วยเหลือสังคม ทั้งการให้ความรู้ การบริการด้านสุขภาพ ผลลัพท์
ที่เกิดขึ้นกับสังคมนั้นเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก คณะทำงานได้ศึกษาชุมชนพัฒนาทักษะในการจัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคม นิสิตได้องค์ความรู้ ปฏิบัติงานกับสังคมร่วมกับอาจารย์ ได้ใช้วิชาที่ศึกษาเล่าเรียนมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ทำให้เกิดทักษะในการทางานอีกด้วย ผลลัพธ์เชิงวิชาการ เกิดการศึกษาในพื้นที่แหล่งกำเนิดการเผาในที่โล่งที่สำคัญ เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และการปฎิบัติตนให้ปลอดภัยจากหมอกควัน สามารถการประเมินสถานการณ์หมอกควันและความเสี่ยงต่อสุขภาพ และโครงการบริการวิชาการแก่สังคมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ประจำปีงบประมาณ 2561 ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา คือปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน Wisdom for Community Empowerment
จากการดำเนินกิจกรรมโครงการพัฒนาชุมชนสุขภาวะต้นแบบการป้องกันปัญหาหมอกควันของอำเภอปง ตั้งแต่คณะทำงานลงพื้นที่ชุมชน โดยการประสานงานจากทางนายอำเภอปง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขอำเภอปง และก็เข้าพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา ได้รับการประสานงานจากคุณสมพร ทาจุมปู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ พร้อมเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่คอยให้ความร่วมมือ ประสานงานจัดกิจกรรมทั้ง 7 กิจกรรม และคณะทำงานร่วมกับ รพ.สต. อสม.จัดกิจกรรมได้ประสบความสำเร็จตลอดจนประชาชนที่เข้าร่วมโครงการทุกคนเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดแล้ว จะพบผลลัพธ์ของชุมชนต้นแบบในแต่ละกิจกรรมดังนี้
กิจกรรมที่ 1 และ 2 การสร้างต้นแบบผู้นำด้านการตรวจสุขภาพ เบาหวาน ความดันโลหิต กลุ่มนี้จะมีต้นแบบที่เป็น อสม. จะเป็นผู้ที่ต่อยอดในการลงชุมชนที่ตนเองรับผิดชอบครัวเรือน เพื่อตรวจวัดความดันโลหิต ตลอดจนเป็นต้นแบบทางสุขภาพในการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยจะมีการติดตามและรายงานผลเป็นรายงานการปฏิบัติงานของ อสม.ทุกรอบ 6 เดือน
กิจกรรมที่ 3 สร้างแกนนำที่เป็นอาสาสมัครในการรณรงค์ป้องกันไฟป่า หรือปัญหาหมอกควันในพื้นที่ มีจุดรายงานและควบคุมสถานการณ์การเกิดไฟป่า หมอกควัน ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่อาสาสมัครจะเป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับมอบหมาย
กิจกรรมที่ 4 แกนนำเกษตรกรผู้ใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารกำจัดศัตรูพืช มีส่วนร่วมในการจัดตั้งกลุ่มในหมู่บ้าน ตลอดจนมีการติดตามปริมาณการใช้สารเคมีของเกษตรกรแต่ละคน และมีการตรวจวัดสารเคมีที่ตกค้างในร่างกายเป็นประจำทุก 6 เดือน พร้อมหาวิธีป้องกันการเกิดสารตกค้างในร่างกาย
กิจกรรมที่ 5 มีแกนนำในการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อใช้ในการรักษา และจัดตั้งศูนย์ฮอมฮักของ รพ.สต. เพื่อเป็นสถานที่ในการรวมกลุ่มกันของแกนนำในการนำสมุนไพรมาแปรรูปและใช้ในการจัดทำสมุนไพรรักษาโรค
กิจกรรมที่ 6 สร้างต้นแบบของตัวแทนในชุมชน โดยการฝึกฝนการกดจุด ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องเรียนรู้กันโดยใช้เวลานาน เนื่องจากศาสตร์การแพทย์แผนจีน เป็นการแพทย์ที่เข้ามาใหม่ และเป็นที่น่าสนใจจึงมีการขยายและบอกต่อ โดยศาสตร์ทางแพทย์แผนจีนเมื่อจะทำการรักษา ต้องเชิญคณาจารย์และนิสิตเข้ามาเป็นวิทยากรทุกครั้ง
กิจกรรมที่ 7 การแพทย์ฉุกเฉิน ส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครกู้ภัย กู้ชีพ ประจำตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งในพื้นที่มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย สามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ ดังนั้นชุมชนต้นแบบนี้ส่วนใหญ่จะให้ความสนใจในการเป็นจิตอาสา และอาสาสมัครเข้ามาเป็นการขยายาผลได้อย่ารวดเร็ว โดยเริ่มจาก ผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครอง และก็กู้ภัยวัยรุ่น
ปฏิพัทธ์ วงค์เรือง และคณะ, (2561),รายงานการพัฒนาชุมชนสุขภาวะต้นแบบการป้องกันปัญหาหมอกควัน อำเภอปง จังหวัดพะเยา,การประชุมวิชาการโครงการ 1คณะ 1 โมเดล,มหาวิทยาลัยพะเยา, วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 แหล่งทีมา:
สิทธิชัย พิมลศรี ภูมิเมษฐ์ เมืองใจ, (2554) สถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงมลพิษอากาศในจังหวัดพะเยา, วารสารนเรศวรพะเยา, ฉบับที่ 3, กันยายน-ธันวาคม 2554