การอ้างอิง: มลฤดี จันทรัตน์ และ ดวงกมล พิหูสูตร. (2562). การทำนาข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงแบบอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนของชุมชน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 4). 


มลฤดี จันทรัตน์ 1 และ ดวงกมล พิหูสูตร 2
1 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
2 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เกษตรกรถือเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพอันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยสามารถจำแนกออกได้เป็น 6 ด้าน คือ 1) ด้านเคมี จากการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช 2) ด้านชีวภาพ จากความเสี่ยงของการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน หรือเกิดจากการโดนสัตว์มีพิษกัดต่อยระหว่างการทำงาน 3) ด้านกายภาพ จากการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อากาศร้อนจัด 4) ด้านเออร์โกมิคส์ เนื่องจากการทำงานด้วยท่าทางและสภาพร่างกายที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ๆ 5) ด้านจิตวิทยาสังคม จากความเครียด เช่น ความสูญเสียอันเกิดจากภัยธรรมชาติ ผลผลิตเสียหายก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือราคาผลผลิตตกต่ำ และ 6) อุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น อุบัติเหตุจากการใช้เครื่องมือ/จักรกล [1] ซึ่งจากการศึกษากลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเคมีนับเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกร จากการศึกษากลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกพบว่า สารเคมีส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อกำจัดวัชพืช (ร้อยละ 90.2) รองลงมาเป็นการใช้เพื่อกำจัดโรคพืช (ร้อยละ 82.9) และการใช้เพื่อกำจัดศัตรูพืชมีอยู่เป็นส่วนน้อย (ร้อยละ 30.2) [2] ซึ่งปัญหาการเกิดโรคและภัยสุขภาพจากการใช้สารเคมีนั้นมีสาเหตุหลักมาจากความแพร่หลายในการใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และพฤติกรรมการใช้สารเคมีที่ไม่ถูกต้อง จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง [3] นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพ การทำการเกษตรยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นั่นคือการพบสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมทั้งในดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ชุมชน ในระยะยาว

ภาคการเกษตรที่ไม่ได้ใส่ใจต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่งผลเสียทั้งต่อตัวมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้สารฆ่าแมลง ปุ๋ย และสารกำจัดวัชพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการใช้สารฆ่าแมลงที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการตกค้างของสารเคมีหลายชนิดในสิ่งแวดล้อม โดยสารเคมีหลายชนิดใช้เวลายาวนานมากในการย่อยสลาย งานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาและแสดงให้เห็นว่าการตกค้างของสารฆ่าแมลงส่งผลต่อความบกพร่องทางพัฒนาการและความผิดปกติทางระบบประสาท ภูมิคุ้มกัน และเป็นสาเหตุของมะเร็งบางชนิด จึงได้มีมาตรการระดับชาติและระดับโลกเพื่อควบคุมการใช้สารฆ่าแมลง คือ 1) งดใช้สารฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ในการเกษตร (เน้นความสำคัญไปที่การห้ามใช้สารฆ่าแมลงที่มีคุณสมบัติก่อมะเร็ง ซึ่งมีสมบัติทำให้กลายพันธุ์หรือเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (CMRs category I and II) และรบกวนระบบต่อมไร้ท่อ (EDCs) รวมถึงสารเคมีที่มีสมบัติเป็นพิษต่อระบบประสาทด้วย 2) จัดให้มีการบังคับใช้คำสั่ง การใช้งานอย่างยั่งยืนที่เหมาะสม (โดยให้ประเทศสมาชิกบรรจุมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมและมีเป้าหมายที่มุ่งไปสู่การลดการใช้สารฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีในการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม) 3) ปรับปรุงกระบวนการประเมินความเสี่ยงเรื่องสารฆ่าแมลงของสหภาพยุโรป (เพื่อให้แน่ใจว่ามีการควบคุมความปลอดภัยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในด้านผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งระยะกลางและระยะยาวที่มีสาเหตุมาจากการสัมผัสกับส่วนผสมของสารเคมี) และ 4) เปลี่ยนถ่ายงานวิจัยสาธารณะที่มีการใช้การเกษตรเชิงนิเวศมาเป็นการนำไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเกษตรกร (เปลี่ยนจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในปัจจุบันเป็นการใช้เครื่องมือทางชีวภาพในการควบคุมแมลงศัตรูพืชและส่งเสริมความสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรและระบบนิเวศ) [4] 

เกษตรกรกรรมยั่งยืนได้ถูกนิยามโดยองค์การสหประชาชาติว่า เป็นระบบเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผสมผสานและเชื่อมโยงระหว่างดิน การเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ เน้นการทำการเกษตรที่เลิกหรือลดการใช้ทรัพยากรจากนอกระบบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยมีหลักการพื้นฐาน 3 ประการ ดังภาพที่ 1 และประกอบด้วยหลักสำคัญ 5 ประการดังภาพที่ 2 [5]

 


ที่มา: ปรับปรุงจาก SVGROUP 2561 [5]


ที่มา: ปรับปรุงจาก SVGROUP 2561 [5]

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานหลักแนวคิดสู่การปฏิบัติในเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย (1) ปรัชญา (2) ทฤษฎีใหม่ (3) วิธีปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน (4) เทคนิค:นวัตกรรม และ (5) วิธีบริหารบนความขาดแคลน (แบบคนจน) ทรงเน้นย้ำว่า ความยั่งยืน คือความเหมาะสม โดยเริ่มจากการพัฒนาคน เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรที่เริ่มจากการพัฒนาตนเองปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากเดิมไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบอื่น ๆ สำหรับการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในระยะต่อไป มี 3 เรื่องสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องรีบดำเนินการ คือ (1) การออก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (2) การจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในภาพรวมเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันของทุกภาคี และ (3) การจัดทำฐานข้อมูลกลางเกษตรกรรมยั่งยืนที่สามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาบนข้อเท็จจริงได้ทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องจะเป็นประเด็นสำคัญในการระดมความคิดเห็นในการสัมมนาครั้งนี้ โดยจะนำข้อสรุปจากการสัมมนามาปรับปรุงและจัดทำแนวทางการทำงานร่วมกันให้สามารถขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศได้ต่อไป” [6]

ในส่วนของการทำการเกษตร ประเทศไทยใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในการทำนามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.74 [3] โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกข้าวทั้งหมด 69.96 ล้านไร่ [7] โดยข้าวที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ ปัจจุบันข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพได้มากขึ้น โดย 9 อันดับข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวลืมผัว ข้าวเสาไห้ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวเล็บนก ข้าวพญาลืมแกง ข้าวเหลืองปะทิว และข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ [8]

สำหรับข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เป็นข้าวสายพันธุ์แรกที่ได้คำประกาศรับรองให้เป็น “สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือข้าวจีไอ (GI) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 โดยได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 ทำให้ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงมีความต้องการในท้องตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่มีการรับซื้อในราคาตันละ 20,000 บาท และรับซื้อไม่จำกัดปริมาณ นอกจากนี้ยังมีผู้ค้าบางรายที่สามารถส่งข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงไปขายยังประเทศจีนได้อีกด้วย ทั้งนี้ การที่ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงได้รับความนิยมนั้นเนื่องจากเป็นข้าวที่มีสีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง อุดมไปด้วยสารอาหาร มีรสชาติมัน กลิ่นหอม และนุ่ม [9]

การทำนาข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงแบบอินทรีย์เป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรผู้ที่มีความสนใจ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุง ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุงจะเป็นผู้ให้ความรู้ด้านการปลูก การดูแลรักษา และที่สำคัญที่สุดคือการเป็นผู้พัฒนาและผลิตพันธุ์ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรบางส่วน แม้ส่วนใหญ่เกษตรกรจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เอง แต่เกษตรกรบางรายยังไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความบริสุทธิ์ได้ในปริมาณที่เพียงพอ ส่วนด้านการเพาะปลูกเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีการปลูกแบบนาหว่านโดยมีแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำนาคือน้ำฝน ซึ่งจะเริ่มการปลูกในช่วงเดือนกันยายนและจะทำการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม

ด้านการเก็บเกี่ยวเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้บริการรถเกี่ยวข้าวและจะทำการขายข้าวเปลือกสดให้กับผู้รวบรวมต่อไป โดยมากเกษตรกรจะเก็บข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงไว้ส่วนหนึ่งเพื่อไว้รับประทานและสำหรับเป็นเมล็ดพันธุ์ในการปลูกครั้งถัดไป (ภาพที่ 3)  ข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวผู้รวบรวมจะนำข้าวเปลือกสดไปตากเพื่อลดความชื้นให้มีความชื้นประมาณร้อยละ 14 ซึ่งเป็นความชื้นที่เหมาะสมต่อการสีข้าว จากนั้นจะทำการสีข้าว โดยทำการสีข้าวเป็นข้าวสารชนิดต่าง ๆ  ซึ่งข้าวแต่ละชนิดจะมีการขัดที่แตกต่างกันเพื่อขัดเอาเปลือกและเยื่อหุ้มออก ดังนี้ 1) ข้าวกล้อง คือ ข้าวที่ผ่านการสีเพียงครั้งเดียวเพื่อเอาแค่เปลือกออก และเหลือเยื่อหุ้มเมล็ด จมูกข้าว และเนื้อข้าวไว้ (ภาพที่ 3) 2) ข้าวซ้อมมือ คือ ข้าวกล้องที่ทำการขัดเพิ่มเพื่อเอาเยื่อหุ้มเมล็ดออกไปบางส่วน และเหลือจมูกข้าวไว้ ข้าวจะมีความนุ่มมากกว่าข้าวกล้องเมื่อหุงเสร็จ (ภาพที่ 4) และ 3) ข้าวขัดชมพู คือข้าวที่มีการขัดเอาเยื่อหุ้มเมล็ดออกไปมากกว่าข้าวซ้อมมือ เพื่อเพิ่มความนุ่มให้กับข้าว (ภาพที่ 5) โดยราคาขายปลีกเฉลี่ยจะขายข้าวกล้องที่กิโลกรัมละ 70 บาท ข้าวซ้อมมือกิโลกรัมละ 50 บาท และข้าวชมพูกิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งมีทั้งการขายที่ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหารสุขภาพ ส่งห้างสรรพสินค้า ขายผ่านสื่อออนไลน์ และส่งออกไปยังต่างประเทศ




การทำนาข้าวสังข์หยดแบบอินทรีย์นี้ เกษตรพบว่าเป็นวิธีการที่ทำให้เกษตรกรมีความสุขเพิ่มมากขึ้นจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น มีสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ต้องกังวลกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีต่าง ๆ และยังพบว่าสามารถลดต้นทุนในการปลูกข้าวได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถลดรายจ่ายจากการซื้อผลิตภัณฑ์อารักขาพืชต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเปลี่ยนมาใช้สารชีวภาพที่สามารถผลิตได้จากวัสดุเหลือใช้จากชุมชน นอกจากนั้นสิ่งสำคัญจากการทำนาข้าวสังข์หยดแบบอินทรีย์ก็คือการทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น มีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรเกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มย่อย ๆ ในชุมชนเพื่อร่วมกันแบ่งปันและแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่มี เช่น การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนของเหลือใช้จากภาคการเกษตร (มูลวัว มูลสุกร มูลไก่ เปลือกสัปปะรด และอื่น ๆ) เพื่อนำมาผลิตปุ๋ยหมักใช้ในกลุ่ม การจัดกิจกรรมลงแขกเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในการกำจัดวัชพืชในแปลงนา และการแลกเปลี่ยนความรู้ในการดูแลข้าว ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของความยั่งยืน คือ จะต้องคำนึงถึง ด้านเศรษฐกิจนั่นคือจะต้องใช้ทรัพยากร ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องเน้นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ทั้งทางกายภาพและทางชีวภาพ และด้านสังคม ต้องรักษาความมั่นคงของสังคมและวัฒนธรรม โดยลดความขัดแย้งในสังคม