รุจิรา ชัยศิริถาวรกุล และ วรวรรณ ประชาเกษม
สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ยุทธศาสตร์การผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนมีทางเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “คุณภาพสิ่งแวดล้อม คือ คุณภาพชีวิต” ดังนั้น การส่งเสริมสถานประกอบการในกลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญต่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีมูลค่าการซื้อขายทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยการสร้างงาน และรายได้ด้วยการนำทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และเพื่อให้ผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าควบคู่ไปกับลดค่าต้นทุนของสถานประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green supply chain) และการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ (Value chain) และให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่การผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

โครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green production) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถที่จะพัฒนา และยกระดับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยเน้นการลดมลพิษ ณ แหล่งกำเนิด (Source reduction) หรือเทคโนโลยีสะอาด (Clean techonology) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเกิดการใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจํากัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยที่ผ่านมามีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย (พ.ศ. 2562) และผ่านเกณฑ์ระดับดีเยี่ยม (G ทอง) จำนวน 73 ราย ระดับดีมาก (G เงิน) จำนวน 128 ราย และระดับดี (G ทองแดง) จำนวน 237 ราย

“โครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (Green Production; GP)” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กให้เกิดกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ และมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดของเสียจากกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และรักษาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการสร้าง Green supply chain ให้ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้สินค้าชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เกิดการผลิต และการบริโภคอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับชุมชน จ้างงานในชุมชน และเกิดการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ

วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน ดังนี้ 1) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 2) เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการผลิตที่ได้รับการรับรองจากกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ตั้งแต่สินค้า OTOP ระดับ 3 ดาวขึ้นไป หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสถานประกอบการที่มีเอกสารจดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้ประกอบการกลุ่มงานหัตถกรรม (Craft) ที่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Startup) โดยรับสมัครสถานประกอบการ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผ้าเครื่องแต่งกายจากผ้าและเคหะสิ่งทอ กลุ่มเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา กลุ่มไม้และจักสาน และกลุ่มสบู่ ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ ได้แก่ 1) สถานประกอบการมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2) สินค้าจากสถานประกอบการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณภาพ และ 3) สร้างรายได้ในชุมชนและท้องถิ่น สำหรับขั้นตอนการดำเนินการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GP) ประกอบด้วย 1) ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำสถานประกอบการให้เกิดการปรับปรุงตามเกณฑ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยผู้เชี่ยวชาญ 2) ประเมินสถานประกอบการตามเกณฑ์โดยคณะกรรมการจากหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา และ 3) มอบตราสัญลักษณ์ “G” ให้กับสถานประกอบการที่ผ่านการประเมิน

เกณฑ์ที่ใช้สำหรับการประเมินสถานประกอบการ  ประกอบด้วย 7 หมวดหลัก ดังต่อไปนี้
หมวดที่ 1 นโยบาย แนวคิด การวางเป้าหมายการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ 2 การผลิต วัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์
หมวดที่ 3 การจัดการกระบวนการผลิตและการจัดการความเสี่ยง
หมวดที่ 4 การจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
หมวดที่ 5 การจัดการของเสียและผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ 6 การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ 7 ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ตราสัญลักษณ์ G และระดับคะแนนสำหรับการประเมินสถานประกอบการ สถานประกอบการที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์จากปี พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 426 ราย โดยแบ่งระดับคะแนนการประเมิน ดังรูปที่ 1
G ทอง (ระดับดีเยี่ยม) จำนวน 84 ราย
G เงิน (ระดับดีมาก) จำนวน 122 ราย
G ทองแดง (ระดับดี) จำนวน 220 ราย 


รูปที่ 1 ตราสัญลักษณ์ G และระดับการประเมินการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (Green Production)

สถานประกอบการที่ผ่านการประเมิน นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายจากการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนแล้ว ยังได้รับการเชิดชูเกียรติตราสัญลักษณ์ G จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดงานมอบตราสัญลักษณ์ G–Green ระดับประเทศอีกด้วย ดังรูปที่ 2 ภายในงานยังจัดให้มีการออกร้านให้แก่ผู้ประกอบการ ดังรูปที่ 3 เพื่อส่งเสริมการขายของสถานประกอบการให้กับกลุ่มเป้าหมายอื่น ได้แก่ สำนักงาน (Green office) และโรงแรม (Green hotel) มีการเลือกซื้อสินค้าจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปใช้ ขับเคลื่อนให้เกิดการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป นอกจากนี้ยังจัดให้มีการออกร้านขายสินค้าภายในงาน OTOP ประจำปีในพื้นที่ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย ดังรูปที่ 4


ที่มา: สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม


ที่มา: สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GP) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้มีการส่งเสริมการผลิต และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) โดยให้ความสำคัญใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

“เกณฑ์การประเมินการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวล้อม” โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ลดมลพิษ และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักการเทคโนโลยีที่สะอาด พัฒนาการจัดระบบข้อมูล และแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าชุมชน สนับสนุนการออกแบบ และสร้างนวัตกรรมของสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ สร้าง Green supply chain ระหว่างผู้ประกอบการต้นน้ำ เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบหรือเส้นใย กลางน้ำ เช่น การออกแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และปลายน้ำ เช่น การออกร้านจำหน่ายสินค้า หรือการขยายเครือข่ายกลุ่มผู้บริโภคภายในกลุ่ม G–Green ส่งเสริมให้ใช้สินค้าฉลากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต ตลอดจนสนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การวางแผนการผลิต เพื่อลดของเสียไปจนถึงการนำวัสดุเหลือใช้มาทำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างมูลค่า


รูปที่ 4 การออกร้านขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในงาน OTOP

การส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถผลิตวัตถุดิบหลักใช้เองภายในชุมชน เป็นการส่งเสริมให้เกิดรายได้ เกิดการสร้างอาชีพให้คนในชุมชน อีกทั้งยังสามารถสร้างวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเฮมพ์ที่มีคุณภาพเส้นใยจากธรรมชาติ “เส้นใย…สิ่งทอ” สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยเส้นใยธรรมชาติที่ผู้ประกอบการประเภทสิ่งทอนิยมใช้ ได้แก่ ฝ้าย และไหม และเส้นใยจากพืชประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ใยกัญชง (เฮมพ์) ป่านศรนารายณ์ ใยสับประรด หรือจากพืชเส้นใยประเภทอื่น ซึ่งคุณสมบัติเส้นใยจากธรรมชาติที่นำมาใช้ประโยชน์ และส่งเสริมอาชีพในประเทศ สามารถแสดงรายละเอียดได้ดังตารางที่ 1 

ฝ้าย 1) ฝ้ายสายพันธุ์ที่เพาะปลูกต้องปรับปรุงให้ทนต่อศัตรูพืช และลดการใช้สารเคมี ในกระบวนการปลูก 
2) ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกฝ้ายสลับกับพืชเศรษฐกิจอื่น 
3) ส่งเสริมให้มีแหล่งรับซื้อที่เป็นธรรมสำหรับฝ้ายที่มีคุณภาพ
1) ทนต่อกรด แต่ไม่ทนต่อด่าง
2) ยืดหยุ่นได้ดี ระบายความร้อน และมีความเงางาม 
3) มีความทนต่อการเกิดเชื้อราได้ดี
เส้นใยจากพืชอื่นๆ  ได้แก่ เฮมพ์ (กัญชง) 1) พัฒนาสายพันธุ์ให้มีปริมาณ THC น้อยกว่า 0.3 % เพื่อเกิดอาชีพในท้องถิ่น เนื่องจากเฮมพ์เป็นพืชที่ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง 
2) เป็นพืชโตไว ให้ผลผลิตไว ไม่มีศัตรูพืช 
3) สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการผลิตเฮมพ์มากที่สุด จัดเป็นหนึ่งในห้าพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจีน รองลงมา คือ ประเทศในแถบยุโรป ซึ่งได้มีการจัดตั้ง European Industrial Hemp Association (EIHA) ด้วย โดยมีการใช้ประโยชน์จากเฮมพ์ได้อย่างหลากหลายในทุกส่วนของเฮมพ์ เช่น ใช้ในเชิงเกษตร โดยนำไปเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ เป็นต้น
4) เส้นใยจากเฮมพ์มีราคา และเป็นที่ต้องการของตลาด

การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ถูกกำหนดด้วยปัจจัยต่าง ๆ (การดี เลียวไพโรจน์ และ ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช, 2559) ประกอบด้วย
1) แรงงานที่มีการเปลี่ยนอาชีพ และคนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำงานเป็นผู้ปฏิบัติในโรงงาน และไม่มีความรู้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แรงงานฝีมือที่มีทักษะสูงมักเป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากมีประสบการณ์ และความชำนาญในการทำงานฝีมือ ทั้งนี้ยังขาดการสืบทอดสู่คนรุ่นใหม่ 
2) วัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอ นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ตั้งแต่ผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจากเส้นใยในประเทศมีจำกัด และความหลากหลายของเส้นใยมีน้อย ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนการผลิตจากวัตถุดิบ การส่งเสริมให้เกิดการผลิตเส้นใยในประเทศ จึงยังขาดการสนับสนุนเชิงบูรณาการที่ต้องการแก้ไข โดยเฉพาะข้อจำกัดทั้งทางกฎระเบียบ การวิจัย และพัฒนา 
3) การจัดการธุรกิจ และการตลาดของผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม ขาดความเข้าใจทางการตลาด และไม่สามารถวิเคราะห์การขายได้ จึงเน้นผลิตเฉพาะสิ่งที่ชำนาญเป็นหลัก ทำให้สินค้าไม่มีจุดขายที่โดดเด่น
4) ระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรม และข้อมูลการวิจัยพัฒนาของประเทศไทย ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอหลายหน่วยงาน หากแต่ขาดการบูรณาการด้านข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ข้อมูลที่จัดเก็บก็ไม่ได้นำมาวิเคราะห์ 
5) การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างต่อเนื่อง หากแต่มีความซ้ำซ้อน และล่าช้ามาก จึงไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ

การพัฒนาอุตสาหกรรม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแนวคิดจาก เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) เป็นการสร้างมูลค่าสินค้า หรือบริการที่เกิดจากความคิดของมนุษย์ ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันกับความก้าวหน้าของระบบอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้ (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, 2560) ดังนั้น อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เรียกว่า S-Curve ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญด้านนวัตกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต ได้แก่ 

1) อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่  (Next-generation automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, medical and wellness tourism) อุตสาหกหรรมการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and biotechnology) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the future)

2) อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ประกอบด้วย หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical hub)

3) อุตสาหกรรมที่ต้องปฏิรูป (Second Wave S-Curve) หรือกลุ่มที่ต้องปฏิรูปที่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต กลุ่มของอุตสาหกรรมวัสดุ ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาวัสดุต่าง ๆ เช่น พัฒนาวัสดุผสม (Composite material) หรือการพัฒนาวัสดุให้ทนทาน (Sustainable material)  และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental friendly) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก ที่สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้เป็นเทคโนโลยีสะอาด (Clean technology) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน 
 

แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการจากการวางเป้าหมายอุตสาหกรรม ทั้ง 3 กลุ่ม คือ First S-Curve, New S-Curve และ Second Wave S-Curve ทำให้หน่วยงานต้องบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการในส่วนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดนวัตกรรมจากการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ประกอบการชุมชน OTOP หรือ SMEs เป็นส่วนใหญ่ สามารถปรับตัวให้ดำเนินธุรกิจไปในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น เช่น เครื่องนุ่งห่มเพื่อสุขภาพ เป็นต้น กลุ่มพัฒนาวัสดุผสม (Composite material) หรือการพัฒนาวัสดุให้ทนทาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable material) เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างวัสดุจากธรรมชาติให้เป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปทดแทนวัสดุเดิม เป็นต้น และเพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชนเข้าสู่อุตสาหกรรมในกลุ่มต่าง ๆ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง 2) อุตสาหกรรมอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 3) อุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์

การส่งเสริมการผลิต “เฮมพ์” เพื่อเส้นใยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนากระบวนการผลิต “เส้นใย” ให้สามารถเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมในอนาคตได้ ทั้งการเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าสู่อุตสาหกรรมที่สามารถจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติได้ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในโครงการ Green Production มีโอกาสแสดงสินค้าให้กับผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่ม G-Green ได้แก่ Green hotel และ Green office ซึ่งเป็นลูกค้าที่ให้ความสำคัญในการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขยายโอกาสการขายสินค้าให้กว้างขวาง โดยเริ่มจากสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, culture & high values services) ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่จะสามารถเลือกซื้อสินค้าในระดับชุมชนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความยั่งยืน และเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างจุดขายสินค้าจากชุมชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และพัฒนาวัสดุในการผลิตไปพร้อมกัน (ดังรูปที่ 5)


รูปที่ 5 ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

บทความฉบับนี้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการวิจัย เรื่อง “การปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ที่ปลูกในดินปนเปื้อนแคดเมียม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (RDG62T0053)” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2562 อันเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของการดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้