บทความ: การมีส่วนร่วมของชาวประมงในการแก้ปัญหาขยะทะเล

ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งขยะทะเลส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) เกิดจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน สถานประกอบการ กิจกรรมท่องเที่ยวตามชายหาด เป็นต้น และกิจกรรมในทะเล ร้อยละ 20 เช่น การทำประมงทั้งชายฝั่งและทะเล การลักลอบทิ้งขยะขณะขนส่งทางทะเลและการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น (Sherrington, 2016; กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2562) โดยขยะทะเลที่พบส่วนใหญ่เป็นพลาสติก จากการคาดการณ์ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลโดย Jambeck et al. (2015) พบว่าทั่วโลกนั้นมีขยะพลาสติกในทะเลอยู่ประมาณ 275 ล้านตัน และคาดว่ามีขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลปีละ 4.8 – 12.7 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ Jambeck et al. (2015) ยังคาดการณ์ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลของประเทศต่าง ๆ ในปี 2553 โดยประเทศไทยถูกจัดอันดับ 6 ของประเทศที่มีรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก จากการประมาณการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2562) พบว่าขยะพลาสติกที่ลงทะเลมีประมาณ 21,700 – 32,600 ตันต่อปี ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยและข้อมูลขยะทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่าขยะทะเลที่พบมากที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2562 ได้แก่ ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว ถุงขนม เศษโฟม กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องอาหาร/กล่องโฟม หลอดพลาสติก ฝาพลาสติก และเชือก ตามลำดับ (กรมควบคุมมลพิษ, 2563; กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2563)


ที่มา: https://www.tma.or.th/2016/news_detail.php?id=321

ขยะทะเลก่อให้เกิดผลกระทบในหลายมิติ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งออกเป็นผลกระทบ 3 มิติได้แก่ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านเศรษฐกิจ และมิติด้านสังคม

นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ขยะทะเลยังส่งผลกระทบในมิติทางเศรษฐกิจอีกด้วย เมื่อเกิดความเสียหายต่อสัตว์ทะเลแล้ว กิจกรรมหรือธุรกิจต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์จากสัตว์ทะเลจะได้ผลกระทบ เช่น การทำกิจกรรมประมงทั้งบริเวณชายฝั่งและในทะเลจะได้รับผลกระทบจากปริมาณสัตว์ทะเลที่น้อยลง รวมถึงการมีขยะทะเลจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจกรรมดังกล่าว โดยสามารถทำความเสียหายต่อเครื่องมือประมงหรือเรือประมงได้ หรือเรืออื่น ๆ เช่น เรือท่องเที่ยว เรือขนส่ง เป็นต้น ขยะทะเลยังสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะทั้งบริเวณชายฝั่งและในทะเลอีกด้วย (Mouat et al., 2010; Newman et al., 2015; Surfers Against Sewage, 2014)

Watkins และคณะได้เสนอลำดับขั้นการจัดการขยะทะเล (Marine Litter Management Hierarchy) โดยปรับปรุงแนวคิดลำดับขั้นการจัดการขยะ (Waste Management Hierarchy) ซึ่งมีลำดับขั้นการจัดการขยะทะเลประกอบด้วย 3 ลำดับขั้นหลักตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ได้แก่ (1) การป้องกันและการลดการเกิดของขยะที่ต้นทางที่ก่อให้เกิดขยะทะเล (2) การป้องกันและการลดขยะเข้าสู่ทะเล และ (3) การเก็บขยะทะเลขึ้นจากทะเล (UNEP, 2017)

มาตรการการป้องกันและการลดขยะเข้าสู่ทะเลมีความสำคัญเพื่อไม่ให้ขยะเข้าสู่ทะเล โดยวิธีการที่สามารถจัดการได้มีหลายวิธี เช่น การจัดการขยะที่เหมาะสมทั้งกระบวนการเก็บและการจัดการที่ถูกต้อง โดยใช้หลักการการใช้ใหม่ การซ่อมแซม การผลิตใหม่ การรีไซเคิล รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของการจัดการของเสียและน้ำเสีย เช่น การปรับปรุงหลุมฝังกลบไม่ให้ขยะปลิวหรือรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ขยะได้รับการจัดการที่ถูกต้อง ได้แก่ การประยุกต์ใช้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) การใช้แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ในการเก็บค่าถุงพลาสติก การใช้ระบบมัดจำคืนเงินให้นำขยะบรรจุภัณฑ์มาคืน ณ จุดที่ได้เตรียมไว้ ยิ่งกว่านั้น การแบนหรือการห้ามใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถป้องกันการเกิดขยะได้เช่นกัน ทั้งนี้ การสร้างความตระหนักรู้เรื่องการบริโภคและการทิ้งขยะก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถช่วยป้องกันและการลดขยะเข้าสู่ทะเลได้

การจัดเก็บขยะทะเลโดยชาวประมงนั้นมีอยู่แพร่หลายในหลาย ๆ ประเทศ โดยรูปแบบการมีส่วนร่วมของชาวประมงอาจแตกต่างกัน โครงการที่ประสบความสำเร็จ ดังเช่นโครงการ Fishing For Litter (FFL) ในแถบยุโรปใช้รูปแบบความร่วมมือภาคสมัครใจของชาวประมง โดยโครงการได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ที่ท่าเรือเล็ก ๆ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปัจจุบัน โครงการ Fishing For Litter ได้มีการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการในหลายประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก เยอรมนี โครเอเชีย กรีซ อิตาลี มอนเตเนโกร ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ โดยมีองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศเป็นผู้ดูแลโครงการหลัก คือ KIMO International ทั้งนี้ โครงการได้มีการแจกจ่ายถุงใส่ขยะทะเลให้กับชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการและโครงการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากหลายภาคส่วนอีกด้วย (Fishing For Litter UK, 2020; OSPAR Commission, 2007)

การเก็บขยะทะเลในบางพื้นที่นอกจากให้เงินกับชาวประมงแล้ว ยังมีโครงการที่นำขยะทะเลที่ชาวประมงเก็บขึ้นได้ไปต่อยอดรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลเพื่อหารายได้ เช่น 4Ocean บริษัทสัญชาติอเมริกันมีการว่าจ้างคนทั่วไปและชาวประมงในการเก็บขยะตามชายหาดและในทะเลมาสรรสร้างกำไลมือและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ (4ocean, 2020) นอกจากนั้น Enaleia ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในประเทศกรีซได้จัดทำโครงการรูปแบบเดียวกันในการจ้างชาวประมงเก็บขยะและนำขยะที่ได้ไปรีไซเคิลและอัพไซเคิลโดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ถุงเท้า ชุดว่ายน้ำ และอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับขยะที่นำมาทำการรีไซเคิลและอัพไซเคิล (Miner & Karagiorgas, 2019)

สำหรับประเทศไทยนั้นก็มีโครงการจัดเก็บขยะทะเลโดยชาวประมงเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น โดยโครงการในประเทศไทยมุ่งเน้นความร่วมมือของชาวประมงโดยสมัครใจ กรมประมงได้ริเริ่มโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดติดทะเลจำนวน 23 จังหวัด เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างจิตสำนึก ปรับวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรมของชาวประมงในการจัดการขยะ (2) เพื่อให้เรือประมงทุกลำที่ออกไปทำการประมงมีการจัดเก็บขยะในเรือและนำกลับคืนฝั่ง (3) เพื่อส่งเสริมให้ท่าเทียบเรือประมงทุกแห่งมีการจัดจุดรวมขยะที่เก็บจากทะเล (4) เพื่อลดการนำหรือใช้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะย่อยสลายยาก (กรมประมง, 2563) สำหรับรูปแบบการดำเนินการนั้น ชาวประมงจะเป็นผู้เก็บขยะทะเลทั้งจากบนเรือตนเองและขยะที่ลอยอยู่ในทะเลมาเก็บไว้บนเรือ เมื่อกลับเข้าฝั่งจะนำขยะขึ้นมาทิ้งบนฝั่งในบริเวณที่มีจุดรองรับขยะ และจะมีการนำไปจัดการต่อไป เช่น การนำขยะที่ขายได้ขายให้แก่ซาเล้ง หากขายไม่ได้จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามารับไปกำจัด


ที่มา: ถ่ายภาพโดยผู้เขียน

จากจำนวนชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการในระดับต่ำนั้น นำมาสู่การศึกษาปัจจัยที่มีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินเข้าร่วมโครงการเก็บขยะทะเลของชาวประมง โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างชาวประมงจำนวน 105 ราย ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และพังงา และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ โดยมีรายละเอียดระเบียบวิธีวิจัยดังนี้

6.1 ระเบียบวิธีวิจัย
ในการศึกษา ผู้วิจัยได้ประยุกต์ทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (Theory of Planned Behaviour: TPB) ของ Ajzen (1991) เป็นทฤษฎีหลักในการกำหนดกลุ่มของปัจจัย นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้นำผลการศึกษาของงานศึกษาในลักษณะเดียวกันมาตั้งเป็นสมมติฐานประกอบกับปัจจัยในทฤษฎีพฤติกรรมตามแผนข้างต้น โดยเฉพาะงานวิจัยที่ศึกษาปัจจัยการเข้าร่วมในโครงการ Fishing For Litter ในเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร (Brongers, 2017) และ Wyles et al. (2019) ตามลำดับ สำหรับกลุ่มปัจจัยและปัจจัยแสดงดังตารางที่ 1 สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น ผู้วิจัยได้ใช้รูปแบบการเก็บแบบสอบถามโดยใช้มาตรวัด Likert 5 ระดับในการวัดทัศนคติและข้อคิดเห็นของชาวประมงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่น่าจะส่งผลหรือเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของชาวประมง โดยมาตรวัด Likert 5 ระดับประกอบด้วย 5 หมายถึง เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง/พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง 4 หมายถึง เห็นด้วย/พึงพอใจ 3 หมายถึง ไม่แน่ใจ 2 หมายถึง ไม่เห็นด้วย/ไม่พึงพอใจ และ 1 หมายถึง ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง/ไม่พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง

6.2 ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
แม้ว่าในช่วงแรกได้วางแผนที่จะเก็บตัวอย่างชาวประมงไม่น้อยกว่า 400 ตัวอย่างแต่เนื่องจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางเก็บข้อมูลภาคสนามได้มากนัก อีกทั้งชาวประมงบางส่วนงดออกทะเลในช่วงที่เก็บข้อมูล ทำให้สามารถเก็บข้อมูลกับชาวประมงกลุ่มตัวอย่าง ได้เพียง 105 คน จาก 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และพังงา ในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม พ.ศ. 2563 ส่งผลให้ต้องปรับวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์ค่าสถิติเชิงพรรณนาและสถิติขั้นต้น (Independent Sample t-Test) ร่วมกับการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยในการให้คะแนนแบบสอบถามในแต่ละปัจจัย 

6.3 ผลการศึกษา
ผลการศึกษา พบว่า ในจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 105 คน มีชาวประมงเข้าร่วมโครงการจำนวน 92 คน (ร้อยละ 87.6) และไม่เข้าร่วมโครงการจำนวน 13 คน (ร้อยละ 12.4) โดยชาวประมงทั้งหมดมีการจัดการขยะทะเลแบ่งเป็น การเก็บขยะบนเรือ และการเก็บขยะที่อยู่ในทะเล ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดได้ทำการเก็บขยะบนเรือ และจำนวน 91 คน เก็บขยะที่อยู่ในทะเลด้วย สำหรับสิ่งที่ชาวประมงเก็บขยะบนเรือส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว และขยะที่อยู่ในทะเลที่เก็บได้ส่วนใหญ่เป็นแหเก่า ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก เมื่อนำขยะทะเลกลับเข้าฝั่ง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 84 คนระบุว่านำไปทิ้งที่ฝั่ง รวมถึงมีการนำขยะที่สามารถขายได้ไปขายจำนวน 41 คน อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างจำนวน 10 คนจำเป็นต้องนำขยะที่เก็บได้ไปทิ้งที่บ้านตัวเองเนื่องจากไม่มีพื้นที่รองรับสำหรับทิ้งขยะทะเลที่เก็บขึ้นมาได้

ตารางที่ 2 ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในแต่ละปัจจัย

จากตารางที่ 2 พบว่าคุณลักษณะสำคัญของชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการที่ค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเก็บขยะทะเล ได้แก่ จุดทิ้งขยะ และการจัดการขยะ ข้อมูลข่าวสารของโครงการ และประสบการณ์ด้านการเก็บขยะทะเลซึ่งเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกชาวประมงในการเข้าร่วมโครงการเนื่องจากมีการปฏิบัติอยู่แล้วเป็นปกติ ซึ่งสอดคล้องกับ ผลการวิเคราะห์ด้วยวิธี Independent Sample t-Test นอกจากนี้ ชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการยังมีคุณลักษณะอื่น ๆ ได้แก่ ความรู้และความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเล ผลกระทบและผลของการเก็บขยะทะเลและอิทธิพลของบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมการประมงในแต่ละท้องที่และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกภายใต้กรมประมง ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการชักชวนชาวประมงเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการเก็บขยะทะเล สำหรับกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมโครงการนั้น พบว่ามีความรู้และความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับสูงเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตาม เวลาและความสนใจอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ

ในปัจจุบันได้มีโครงการเก็บขยะทะเลโดยชาวประมงในหลายพื้นที่ทั่วโลกเพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะในทะเลอันก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเชื่อมโยงกับผลกระทบด้านอื่น ๆ ต่อไป ในประเทศไทยเองได้มีการทำโครงการเช่นเดียวกัน โดยกรมประมงได้จัดกิจกรรมขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา เริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 เพื่อส่งเสริมให้ชาวประมงเก็บขยะทั้งจากบนเรือและในทะเลเข้าฝั่ง แต่มีเพียงเรือร้อยละ 30 ที่เข้าร่วมโครงการ จึงเกิดการศึกษางานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นเพื่อศึกษาหาปัจจัยที่น่าจะมีอิทธิพลหรือเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของชาวประมง ผลการศึกษา พบว่าความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเก็บขยะทะเล การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ และประสบการณ์ด้านการเก็บขยะทะเลเป็นปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของชาวประมงในการเข้าร่วมโครงการเก็บขยะทะเล

นอกจากนี้ ภาครัฐควรดำเนินการในแนวทางอื่น ๆ เพื่อจัดการกับขยะทะเลที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกับขยะชายฝั่งหรือในทะเล โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือขอความร่วมมือภาคเอกชน ในการดำเนินการจัดเก็บขยะทะเล อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเพิ่มมาตรการในการลดและจัดการขยะพลาสติกและขยะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบกมากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดขยะทะเล รวมถึงภาคประชาชนเองควรตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลและปรับพฤติกรรมในการลดการใช้พลาสติกและคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลหรือส่งต่อเป็นพลังงานทดแทนได้ เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี 2563 ภายใต้การดำเนินงานของคลัสเตอร์ไมโครพลาสติกและมลพิษพลาสติก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย