บทคัดย่อ
บทความนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการขยะของเมืองเวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรีย ทั้งการจัดการขยะในครัวเรือนของชาวเมืองเวียนนา และการนำขยะเหล่านั้นไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีโรงไฟฟ้าขยะ “Spittelau” (ฉะปิตเทอะเลา) ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงความงดงามของศิลปกรรมของชาวเวียนนา ผ่านการสร้างสรรค์ศิลปะลงบนตัวอาคารโรงไฟฟ้าโดยศิลปินเอกของเวียนนาที่ชื่อ Friedensreich Hundertwasser ทำให้โรงไฟฟ้าขยะ Spittelau กลายเป็นจุดดึงดูดผู้คนและสร้างความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของเมืองเวียนนาได้อย่างลงตัว นอกจากชาวเวียนนาจะมีความไว้วางใจในเทคโนโลยีและการจัดการขยะของโรงไฟฟ้าแห่งนี้แล้ว ด้วยรูปลักษณ์ที่เห็นจากภายนอกที่อาจทำให้เชื่อได้ยากว่านี่คือ “โรงไฟฟ้าขยะ” เนื่องจากแลดูเหมือนสถานที่แสดงผลงานศิลปะมากกว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า และด้วยลวดลายและสีสันที่สดใสทำให้สถานที่แห่งนี้ดูเป็นมิตรต่อทั้งชาวเมืองเวียนนาที่อาศัยอยู่โดยรอบ และผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาในพื้นที่เขต 9 Alsergrund (อัล-เซอร์-กรึน) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของเมืองเวียนนา จึงทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความวิตกกังวลต่อมลภาวะจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง
วรรณภา ซุมเมอร์เอลเดอร์ สุวรรณรัตน์. (2561). “Spittelau” จุดบรรจบของศิลปะกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะครัวเรือนใจกลางเมืองเวียนนา. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 22 (ฉบับที่ 2), 14-20.
“Spittelau” จุดบรรจบของศิลปะกับพลังงานไฟฟ้า
จากขยะครัวเรือนใจกลางเมืองเวียนนา
วรรณภา ซุมเมอร์เอลเดอร์ สุวรรณรัตน์
นักวิชาการอิสระ
บทนำ
บทความนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดการขยะของเมืองเวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรีย ทั้งการจัดการขยะในครัวเรือนของชาวเมืองเวียนนา และการนำขยะเหล่านั้นไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีโรงไฟฟ้าขยะ “Spittelau” (ฉะปิตเทอะเลา) ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงความงดงามของศิลปกรรมของชาวเวียนนา ผ่านการสร้างสรรค์ศิลปะลงบนตัวอาคารโรงไฟฟ้าโดยศิลปินเอกของเวียนนาที่ชื่อ Friedensreich Hundertwasser ทำให้โรงไฟฟ้าขยะ Spittelau กลายเป็นจุดดึงดูดผู้คนและสร้างความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของเมืองเวียนนาได้อย่างลงตัว นอกจากชาวเวียนนาจะมีความไว้วางใจในเทคโนโลยีและการจัดการขยะของโรงไฟฟ้าแห่งนี้แล้ว ด้วยรูปลักษณ์ที่เห็นจากภายนอกที่อาจทำให้เชื่อได้ยากว่านี่คือ “โรงไฟฟ้าขยะ” เนื่องจากแลดูเหมือนสถานที่แสดงผลงานศิลปะมากกว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า และด้วยลวดลายและสีสันที่สดใสทำให้สถานที่แห่งนี้ดูเป็นมิตรต่อทั้งชาวเมืองเวียนนาที่อาศัยอยู่โดยรอบ และผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาในพื้นที่เขต 9 Alsergrund (อัล-เซอร์-กรึน) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของเมืองเวียนนา จึงทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความวิตกกังวลต่อมลภาวะจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง
ประเทศออสเตรียและศักยภาพด้านพลังงาน
ออสเตรีย (Austria) เป็นประเทศเล็ก ๆ ในทวีปยุโรป ที่มีพื้นที่เพียง 83,879 ตารางกิโลเมตร มีขนาดพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทยถึง 6 เท่า และมีประชากรเพียง 8,823,054 คน (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2561) (Statistik Austria, 2017; 2018) ในขณะที่ ประเทศไทยมีจำนวนประชากรถึง 66,188,503 คน (ข้อมูลปี พ.ศ.2560) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ม.ป.ป.) ประเทศออสเตรีย หรือชื่อทางการ คือ สาธารณรัฐออสเตรีย มีเมืองหลวง คือ กรุงเวียนนา (Vienna) หรือที่เรียกในภาษาเยอรมันว่า วีน (Wine) ออสเตรียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 เขตการปกครอง (รัฐ)ได้แก่ Burgenland, Carinthia, Lower Austria, Upper Austria, Salzburg, Styria, Tyrol, Vorarlberg และ Vienna โดยแต่ละเขตการปกครองจะมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ออสเตรียใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ
รูปภาพที่ 1 สภาพภูมิประเทศและขอบเขตการปกครองของประเทศออสเตรีย
ที่มา: Adult Education International Countries (2017) และ Wikipedia (2018a)
เวียนนา มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดในประเทศออสเตรีย โดยมีพื้นที่เพียง 414.65 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 คือ 1,889,083 คน (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2561) (Statistik Austria, 2017; 2018) โดยแบ่งเขตพื้นที่ทางการปกครองออกเป็น 23 เขตย่อย ด้วยสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของประเทศออสเตรียถูกห้อมล้อมด้วยภูเขาที่เชื่อมต่อจากประเทศเยอรมนี ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และประเทศอิตาลี ทอดตัวยาวลงมายังตอนกลางของประเทศ อีกทั้งมีแม่น้ำ Danube (ดานูป) หรือ Donau (โดเนาในภาษาเยอรมัน) ไหลผ่านพื้นที่ราบจากประเทศเยอรมนี ตัดผ่านประเทศออสเตรียบริเวณ Upper Austria, Lower Austria, Vienna และไหลต่อไปยังประเทศสโลวาเกีย ส่งผลให้ออสเตรียเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลาย ได้แก่ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และไบโอแมส ประกอบกับ การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้การพัฒนาด้านพลังงานมีความก้าวหน้าทัดเทียมกัน มีการค้าขายพลังงานระหว่างประเทศสมาชิกผ่านระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ ออสเตรียกลับมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการส่งออกพลังงานให้กับประเทศสมาชิก ในทางกลับกัน ออสเตรียก็เป็นผู้นำเข้าพลังงานที่สำคัญเช่นกัน (Statistics Austria, 2016) ทั้งนี้ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ของประเทศมีศักยภาพในการผลิตและความต้องการไฟฟ้าที่แตกต่างกัน เช่น Lower Austria และ Upper Austria เป็นย่านอุตสาหกรรมหนัก ทำให้มีความต้องการไฟฟ้าและพลังงานอื่น ๆ ในกระบวนการผลิตสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ เป็นต้น
ในส่วนของระบบการค้าพลังงานไฟฟ้าของออสเตรียนั้น เปิดให้มีการแข่งขันทั้งในฝั่งผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ขายไฟฟ้า โดยมีการกำกับดูแลในส่วนของระบบส่งและศูนย์ควบคุมภายใต้มาตรฐานเดียวกันกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ผลิต และผู้ขาย เกิดความเชื่อมั่นในระบบดังกล่าว (E-Control, 2018)
การคัดแยกขยะในครัวเรือนและพื้นที่สาธารณะ
สำหรับการจัดการขยะในครัวเรือนของชาวเมืองเวียนนาและการจัดการขยะในพื้นที่สาธารณะนั้น ผู้เขียนได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากชาวออสเตรียซึ่งอาศัยในกรุงเวียนนา ผ่านการตั้งคำถามว่า คุณเริ่มจัดการขยะในครัวเรือนอย่างไร คำตอบที่ได้ไม่ชัดเจนนัก เพราะการจัดการขยะของชาวเวียนนาเกิดจากการเรียนรู้และการสอนจากพ่อแม่ตั้งแต่เด็กว่า ต้องแยกขยะตั้งแต่ในบ้าน และต้องทิ้งขยะให้ถูกต้องตามสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งสัญลักษณ์ต่าง ๆ จะสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่สาธารณะในเมืองเวียนนา
การแยกขยะภายในครัวเรือนของชาวเมืองเวียนนา ประกอบด้วย ถังขยะ 5 ประเภท ได้แก่ พลาสติก แก้ว โลหะ (กระป๋อง) กระดาษ และขยะเปียกหรือขยะทั่วไป (รูปภาพที่ 2) เมื่อต้องการทิ้งขยะต่าง ๆ ที่ทำการคัดแยกไว้ แต่ละครัวเรือนต้องนำขยะที่คัดแยกแล้วออกไปทิ้ง ณ จุดที่กำหนด
ถังขยะสำหรับพลาสติก (ซ้าย)
ถังขยะสำหรับขยะเปียก/ขยะทั่วไปที่นำมาใช้ใหม่ไม่ได้ (ขวา)
ถังขยะสำหรับขวดแก้ว (ซ้าย) ถังขยะสำหรับกระป๋อง (กลาง)
ถังขยะสำหรับกระดาษ (ขวา)
รูปภาพที่ 2 การแยกขยะในครัวเรือนของชาวเมืองเวียนนา
ในเมืองเวียนนาจะมีจุดทิ้งขยะแต่ละประเภท ซึ่งอาจจะอยู่แยกกัน หรือ อยู่บริเวณพื้นที่เดียวกัน ดังแสดงในรูปภาพที่ 3 ทั้งนี้ การกำหนดจุดทิ้งขยะและการจัดเก็บขยะ ขึ้นอยู่กับ การบริหารจัดการของละเขตพื้นที่ร่วมกับเทศบาลเมืองเวียนนา หรือ MA48 ในส่วนของรถเก็บขยะนั้นมีการแยกเก็บตามจุดรวมขยะแต่ละประเภท โดยในแต่ละวันจะมีรถบรรทุกขยะให้บริการทั่วเมืองเวียนนาจำนวน 265 คัน แบ่งเก็บขยะแยกตามประเภทของขยะ (รูปภาพที่ 4) ทำให้ขยะไม่ปะปนกัน และง่ายต่อการส่งต่อไปยังแหล่ง Recycle ขยะแต่ละประเภท ส่วนขยะทั่วไปจะถูกส่งไปเผายังโรงไฟฟ้าขยะต่อไป (Stadt Wien, 2011; 2017)
รูปภาพที่ 3 จุดทิ้งและรวบรวมขยะจากครัวเรือน
รูปภาพที่ 4 รถเก็บขนขยะแยกตามประเภทขยะ
ที่มา : ศิริวรรณ ศิริเดช (2017)
รูปภาพที่ 5 ถังขยะในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า ลักษณะของถังขยะที่ตั้งบริเวณพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีการออกแบบแยกประเภทขยะ
นอกจากนั้น ในพื้นที่สาธารณะในเมืองจะมีถังขยะที่มีการออกแบบที่เอื้อต่อการทิ้งขยะแยกประเภท โดยการแบ่งแยกสีอย่างชัดเจน ดังในรูปภาพที่ 5 เป็นถังขยะในสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งมีการออกแบบให้เหมาะสมกับสถานที่ และมีสัญลักษณ์พร้อมสีกำกับประเภทขยะไว้อย่างชัดเจน โดยช่องสีเทา สำหรับขยะทั่วไปหรือขยะอื่น ๆ ช่องสีเหลือง สำหรับพลาสติก ช่องสีแดง สำหรับกระดาษ และช่องสีน้ำเงิน สำหรับโลหะ กระป๋องต่าง ๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยจัดเก็บเป็นเวลา
การทำงานของโรงไฟฟ้าขยะ Spittelau
โรงไฟฟ้าขยะ Spittelau สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1969 – ค.ศ. 1971 สามารถเผาขยะทั่วไปจากครัวเรือนได้ 250,000 ตัน/ปี โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 40 GWh (สามารถบริการประชาชนได้มากกว่า 16,000 ครัวเรือน/ปี) ผลิตความร้อนได้ 470 GWh ต่อปี (สามารถบริการประชาชนได้มากกว่า 60,000 ครัวเรือน/ปี) ผลิตเหล็กได้ 6,000 ตัน/ปี รวมทั้ง ผลิตเถ้า (ash) และฟิลเตอร์เค้ก (filter cake) ได้ 60,000 ตัน/ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1987 ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้เตาเผาขยะ ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของเตาเผาขยะเสียหาย ทำให้เกิดการปรับปรุงโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ครั้งใหญ่ ทั้งในส่วนของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ และการก่อสร้างอาคารที่มีความสวยงามด้วยศิลปะจาก Friedensreich Hundertwasser
รูปภาพที่ 6 กระบวนการผลิตความร้อนและไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขยะ Spittelau
ที่มา: Wien Energie (2017)
ภายหลังจากเดินเครื่องเตาเผาขยะได้ 40 ปี ในปี ค.ศ. 2012 – ค.ศ. 2015 จึงมีการปรับปรุงอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ส่งผลให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 400 MW ผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 120 GWh ต่อปี (บริการประชาชน 50,000 ครัวเรือน/ปี) ผลิตความร้อนได้ 500 GWh ต่อปี อีกทั้งสามารถผลิตความเย็น และมีระบบติดตามมลภาวะแบบ Realtime ให้ประชาชนสามารถติดตามได้อีกด้วย อนึ่ง โรงไฟฟ้าขยะ หรือเตาเผาขยะ ในรูปแบบเดียวกันนี้ (ภายใต้การดูแลของบริษัทผลิตไฟฟ้า Wein Energy) มีจำนวน 4 แห่ง กระจายอยู่ทั่วเมืองเวียนนา (Wien Energie, 2017)
รูปภาพที่ 7 การออกแบบลวดลายของอาคารโรงไฟฟ้าขยะ Spittelau
ผลงานของ Friedensreich Hundertwasser
ทั้งนี้ ภาพลักษณ์ของโรงไฟฟ้าขยะ Spittelau เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการยอมรับโรงไฟฟ้าขยะ นอกเหนือจากความเชื่อมั่นเรื่องของความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยโรงไฟฟ้าขยะ Spittelau เป็นผลงานลำดับที่ 9 ของ Friedensreich Hundertwasser จากผลงานทั้งสิ้น 34 ชิ้น ซึ่งผลงานที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น โรงไฟฟ้าขยะ Maishima Incineration Plant ( Osaka, Japan 1997–2000) สถานีรถไฟ Environmental railway station (Uelzen, Germany 1999–2001) หมู่บ้านน้ำพุร้อน Hot Springs Village (Bad Blumau, Styria, Austria) และ พิพิธภัณฑ์ Hundertwasserhaus (Vienna, Austria) (Wikipedia, 2018b ; Hundertwasserhaus, n.d.) เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). สถิติประชากรศาสตร์ ประชากรและเคหะ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttp://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/01.aspx [9/03/2018]
Adult Education International Countries. (2017). Austria. [Online] Available form: http://adulteducationinternationalcountries.pbworks.com/ [8/03/2018]
E-Control. (2018). Die E-Control und der österreichische Energiemarkt. [Online]. Available form: https://www.e-control.at/web/website [8/03/2018]
Hundertwasserhaus. (n.d.). Homepage der offiziellen Haus-Information. [Online]. http://www.hundertwasserhaus.info/ [13/03/2018]
Stadt Wien. (2011). "Oida, Trenn!" - Kampagne zur Mülltrennung 2011. [Online]. Available form: https://www.wien.gv.at/umwelt/ma48/beratung/muelltrennung/muelltrennung-kampagne2011.html [12/03/2018]
Stadt Wien. (2017). Fahrzeuge der MA 48. [Online]. Available form: https://www.wien.gv.at/umwelt/ ma48/fuhrpark/ma48.html [12/03/2018]
Statistics Austria. (2016). Standard documentation Meta information on Energy balances for Austria and the Laender of Austria. [Online]. Available form: http://www.statistik.at/web_en/ statistics/EnergyEnvironmentInnovationMobility/energy_environment/energy/energy_balances/index.html [9/03/2018]
Statistik Austria. (2017). Datasets. [Online]. Avialable from: http://data.statistik.gv.at/web/catalog.jsp #collapse5 [8/03/2018]
Statistik Austria. (2018). Bevölkerungszahl Österreichs stieg zu Jahresbeginn 2018 auf rund 8,82 Mio. [Online]. Avialable from: http://www.statistik.at/web_de/presse/116038.html [8/03/2018]
Wien Energie. (2017). Müllverbrennungsanlage Spittelau. [Online]. Available form: https://www.wienenergie.at/eportal3/ep/channelView.do?channelId=-49106 [9/03/2018]
Wikipedia. (2018a). Geography of Austria. [Online]. Available form: https://en.wikipedia.org/wiki/ Geography_of_Austria [9/03/2018]
Wikipedia. (2018b). Friedensreich Hundertwasser. [Online]. https://en.wikipedia.org/wiki/ Friedensreich_Hundertwasser [9/03/2018]
สนับสนุนโดย